7 New Normal ที่อาจได้เห็นในสังคมไทยในวันที่ โควิด-19 หายไป

5978

โควิด-19 สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับวิถีชีวิตของเราไม่น้อย จนอาจกลายเป็น New Normal หรือ ความปกติแบบใหม่และกับสังคมไทยเอง จะมี New Normal อะไรเกิดขึ้นได้บ้าง

นิวมีเดีย PPTVHD36 พูดคุยกับ ผศ.ดร.จันทนี เจริญศรี คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เพื่อวิเคราะห์ว่า พฤติกรรมหรือวัฒนธรรมอะไรบ้างของคนไทย ที่อาจเปลี่ยนแปลงไปกลายเป็น New Normal

แต่ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกับคำว่า “New Normal” ก่อน

New Normal”  หรือ “ความปกติแบบใหม่” หมายถึง สถานการณ์ พฤติกรรม การปฏิบัติต่าง ๆ ที่เราไม่คุ้นเคย หรือเคยเป็นสิ่งที่ผิดปกติก่อนหน้านี้แต่กลายมาเป็นมาตรฐานปกติในปัจจุบัน

เดิม New Normal เป็นศัพท์ทางธุรกิจและเศรษฐศาสตร์ที่อ้างถึงเงื่อนไขทางการเงินหลังจากเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 2550-2551 และผลที่ตามมาจากภาวะถดถอยทั่วโลกในปี 2551-2555 คำนี้ถูกนำมาใช้ในหลากหลายบริบทอื่น ๆ เพื่อแสดงให้เห็นว่า บางสิ่งที่ผิดปกติก่อนหน้านี้สามารถกลายเป็นเรื่องธรรมดาได้และแน่นอนว่าหนึ่งในบริบทดังกล่าว คือการเปลี่ยนไปของพฤติกรรมและวัฒนธรรมบางอย่าง

Advertisement

กลับมาที่บทวิเคราะห์ ผศ.ดร.จันทนี เจริญศรี คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) อธิบายให้เราฟังว่า 7 New Normal ที่จะได้เห็นคือ

ไวรัสโคโรนา , โควิด-19 , COVID-19 , New Normal , 7 New Normal  , ความปกติแบบใหม่ , New normal คือ , New normal หลัง โควิด , New normal after covid , New normal covid

New Normal ด้านสุขอนามัย

“ถ้าถามว่าพฤติกรรมอะไรจะเปลี่ยนไปถาวร เรื่องของสุขภาพน่าจะเป็นเรื่องที่คนเกิดความคุ้นเคยแบบใหม่ คนจะหันมาใส่ใจการดูแลสุขอนามัยมากขึ้น มีความตระหนักในเรื่องเชื้อโรค โรคระบาด กันมากขึ้น”  ผศ.ดร.จันทนี กล่าว

สอดคล้องกับการวิเคราะห์จากทางฝั่งตะวันตก ที่มองว่าหลังสิ้นสุดวิกฤต โควิด-19 ประชาชนจะลดการปฏิสัมพันธ์ทางกายอย่างการจับมือ หอมแก้ม หรือกอด โดยเฉพาะกับผู้ที่ไม่ได้มีความสนิทสนมกัน

รวมถึงผู้คนน่าจะให้ความสำคัญกับพฤติกรรมการล้างมือ ใช้ เจลแอลกอฮอล์ รักษาสุขอนามัย โดยเฉพาะที่มือ จนอาจกลายเป็นพฤติกรรมที่คุ้นชินใหม่

New Normal ด้านการบริโภคอาหาร

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงที่ทุกคนควรอยู่บ้านและไม่ควรออกไปข้างนอกโดยไม่จำเป็นนั้น ธุรกิจการสั่งและจัดส่งอาหารดูจะได้รับความนิยมอย่างสูง จนเกิดคำถามว่า หลังจาก โควิด-19 ผ่านพ้นไป ธุรกิจเดลิเวอรีเหล่านี้ จะรุ่งพุ่งแรงสุดขีดหรือไม่

ผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมวิทยา มองว่า ธุรกิจดังกล่าวเกิดขึ้นและมีผู้ใช้บริการมากเนื่องจากตรงกับความต้องการของประชาชน แต่ไม่ว่าจะช่วงไหนก็จะมีประชาชนใช้บริการอยู่แล้ว หลัง โควิด-19  “จึงไม่น่ามีการเติบโตหรือถดถอยอย่างมีนัยสำคัญ”

New Normal ด้านการประกอบอาชีพ

ผศ.ดร.จันทนี ระบุว่า ประเทศไทยเน้นการประกอบอาชีพภาคบริการเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว ซึ่งเมื่อเจอกับวิกฤต โควิด-19 ส่งผลให้อาชีพเหล่านี้หายไปเลย เป็นการหายไปของอาชีพแบบทันทีทันใด ซึ่งทำให้ประชาชนปรับตัวในระยะสั้นได้ลำบาก และอนาคตก็ยังไม่แน่ว่าพวกเขาจะกลับมาประกอบอาชีพเดิมได้หรือไม่ หรือต้องเคลื่อนย้ายไปประกอบอาชีพใหม่ ๆ

ในระยะยาวอาจต้องดูกันต่อ เพราะเราพูดถึงผลจาก โควิด-19 อย่างเดียวไม่ได้ ต้องพิจารณามาตรการรัฐต่าง ๆ ว่ามีคนกลุ่มไหนอยู่ในใจบ้างที่จะให้ความช่วยเหลือ

“ผลลัพธ์หลังจาก โควิด-19  คลี่คลายจะมาจากความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ส่วน คือสภาพเศรษฐกิจเดิมรวมถึงความเหลื่อมล้ำ กับนโยบายจากภาครัฐ ว่าจะทำให้แต่ละอาชีพปรับตัวได้มากน้อยแค่ไหน” ดังนั้นแล้วจึงยังไม่อาจฟันธงได้ว่าในระยะยาวอาชีพใดจะรุ่งขึ้นมาหรือสูญหายไป

New Normal ด้านการสร้างตลาดออนไลน์

แต่หากพูดถึงอีกหนึ่งอย่างที่โด่งดังและเป็นพูดถึงในช่วงที่ โควิด-19 ระบาด เห็นทีคงจะหนีไม่พ้นการเติบโตของ “ตลาดออนไลน์” โดยเฉพาะตลาดของสถาบันการศึกษาทั่วประเทศไทยที่ได้รับความสนใจเป็นวงกว้าง

“นึกถึงการสร้างสายสัมพันธ์ใหม่ ๆ ที่อำนวยประยชน์ในด้านเศรษฐกิจ ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดพื้นที่ตลาดแบบใหม่ ซึ่งมีฐานมากจากสายสัมพันธ์เดิม นั่นคือ กรุ๊ปฝากร้าน ไม่ว่าจะเป็น จุฬาฯมาร์เก็ตเพลส มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้าน หรืออื่น ๆ” ผศ.ดร.จันทนีกล่าว

หมายความว่า ช่องทางออนไลน์ที่เดิมแล้วภาคธุรกิจมองว่าเต็มไปด้วยคู่ค้าคู่แข่งนั้น อาจยังมีช่องว่างที่อยู่ การนำสถาบันมาผูกกับพื้นที่ขายสินค้าอาจจะหมายถึงความไว้วางใจบางอย่าง ที่ตลาดออนไลน์แบบเดิมไม่สามารถมอบให้ได้ อาจจะเป็นแนวทางของเศรษฐกิจแบบใหม่อีกทางหนึ่ง

New Normal ด้านสมดุลชีวิต

เพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่ระบาดของ โควิด-19 หนึ่งในนโยบายสำคัญ คือการทำงานจากที่บ้าน หรือ Work From Home ซึ่งหลายองค์กรประสบความสำเร็จ ประสิทธิภาพในการทำงานไม่ลดลง นั่นทำให้เกิดการพิจารณาว่า หรือแท้จริงแล้ว เราไม่ต้องทำงานที่ออฟฟิศก็ได้

ทำให้มีโอกาสที่องค์กรต่าง ๆ จะเปลี่ยนมาให้พนักงานทำงานทางไกลมากขึ้นแม้จบสถานการณ์ โควิด-19  แล้ว เพราะเห็นได้ว่างานบางอย่างไม่มีความจำเป็นต้องไปออฟฟิศ ขณะที่บางประเภทก็ทำแบบนั้นไม่ได้ ซึ่งอาจจะเห็นปรับหรือเพิ่มสัดส่วนการ Work From Home สลับกับการเข้าออฟฟิศ หรืออาจลดวันเข้าออฟฟิศ จาก 5 วัน เหลือ 4 วัน เพิ่อให้สมดุลชีวิต (Work Life Balance) ดีขึ้น

“ที่ไม่แน่ใจคือ บางคนใช้ชีวิตด้วยความคุ้นเคยแบบเก่า เช่น การเดินทาง ตอนนี้หยุด ทุกคนรู้สึกว่าสบายดี ถนนโล่ง แต่อยู่บ้านสักพักเริ่มขาดชีวิตทางสังคม สภาพแวดล้อมการทำงานอาจไม่โอเค แต่พอกลับไปแบบเดิม ก็เจอรถติด อาจจะคิดว่า สิ่งที่เรารำคาญจะกลับมาอีกแล้วเหรอ”

ไวรัสโคโรนา , โควิด-19 , COVID-19 , New Normal , 7 New Normal  , ความปกติแบบใหม่ , New normal คือ , New normal หลัง โควิด , New normal after covid , New normal covid

ดังนั้น แนวโน้มพฤติกรรมที่อาจเกิดขึ้นคือ ประชาชนจะมองหาสมดุลชีวิตมากขึ้น คือต้องการใช้ชีวิตเร่งรีบน้อยลง มีการทำงานที่บ้านสลับกับที่ออฟฟิศเพื่อสร้างสมดุลและสุขภาพจิตที่ดี

อย่างตัวอาจารย์เอง เมื่อก่อนไม่มีเวลาได้ทำอาหารเช้า ตอนนี้ก็ได้ทำ อยู่บ้านพอสอนนักศึกษาเสร็จ ก็ไปทำสวน แล้วก็กลับไปสอน เซ็นเอกสารบ้าง เขียนหนังสือบ้าง มีสมาธิมากขึ้น มีสมดุลมากขึ้น”

New Normal ของการตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไป

ในบางองค์กร การเปลี่ยนแปลงบางอย่างสามารถเกิดขึ้นได้อย่างถาวร เพราะมองเห็นความเป็นไปได้จากการนำร่องและทดลองในช่วง โควิด-19 เช่น E-Office คือการทำงานโดยไม่ต้องพรินต์กระดาษ ส่งเอกสารกันผ่านช่องทางออนไลน์หรือโปรแกรมต่าง ๆ ซึ่งหลายองค์กรก็สามารถทำได้ดีจนอาจพัฒนาเป็นนโยบายหลักที่เปลี่ยนลักษณะการทำงานไปอย่างถาวร

“มันทำให้เราเห็นความเป็นไปได้หลายอย่างว่าคนเราทำได้ เมื่อก่อนไม่กล้าลอง ไม่รู้ว่าทำได้ พอตอนนี้ทำได้ ก็แปลว่ามันน่าจะทำได้ตลอดไป มหาวิทยาลัยก็ลดความหนาแน่น ลดการใช้ทรัพยากร ไฟฟ้า กระดาษ”

แม้กระทั่งการสัมภาษณ์เข้ามหาวิทยาลัยจะหายไป ซึ่งก่อนหน้านี้การสัมภาษณ์มันเป็นเชิงพิธีกรรมในหลายคณะหรือมหาวิทยาลัย ไม่มีใครตกสอบสัมภาษณ์เลย อย่างปีนี้ก็ไม่มีสอบสัมภาษณ์ ดังนั้น อะไรที่ก่อนหน้านี้ไม่จำเป็น โควิด-19 อาจทำให้เราได้ทบทวนว่า ที่ผ่านมาเราทำสิ่งไม่จำเป็นหรือเปล่า แล้วเราก็เลิกทำ เป็นโอกาสที่จะเลิกทำไปเลย

New Normal แบบเหลื่อมล้ำ

อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.จันทนี ชี้ว่า ความเปลี่ยนที่อาจเกิดขึ้นอย่างถาวรจนกลายเป็น New Normal นั้น มีความสัมพันธ์กับสภาพเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำ และนโยบายจากภาครัฐโดยตรง

“การเกิด New Normal คิดว่าน่าจะมีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ของบ้านเรา เราเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำเยอะ เวลาพูด New Normal ต้องระบุว่าเป็นความปกติของใคร ต้องคิดถึงความต่างในเรื่องศักยภาพการปรับตัวค่อนข้างเยอะ”

สิ่งที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำได้อย่างหนึ่งคือ “เรียนออนไลน์” สะท้อนให้เห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนว่า เกิดความไม่เท่าเทียม เพราะเมื่อเรียนทางไกล นักศึกษาบางรายไม่มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ไม่มีคอมพิวเตอร์ หรือไม่มีห้องเงียบ ๆ สำหรับสอบปลายภาค

นี่เองที่ทำให้พฤติกรรมบางอย่างไม่สามารถกลายเป็น New Normal ได้ และโครงสร้างบางอย่างในสังคม ยังอาจทำให้เกิด New Normal ที่ไม่ควรเกิดด้วย

อย่างไรก็ตาม รู้สึกว่ารัฐก็ไม่ได้แก้ปัญหาแบบที่มีความเหลื่อมล้ำเป็นจุดตั้งต้น แก้แบบลิงแก้แห ทำแล้วมีปัญหา ก็มาไล่แก้ เห็นได้ชัดผ่านการฆ่าตัวตาย ซึ่งเยอะพอ ๆ กับผู้ที่เสียชีวิตด้วยโรค โควิด-19 ด้วยซ้ำ แล้วคนกลุ่มไหนบ้างที่ฆ่าตัวตาย มันไม่ได้กระจายเท่าเทียมกันอยู่แล้ว ดังนั้นถ้าสังคมไทยยังเหลื่อมล้ำ มันก็จะมี New Normal แบบเหลื่อมล้ำ

อาจารย์แนะนำว่า รัฐควรอาศัยช่วงเวลาแห่งความเปลี่ยนแปลงนี้ แทรกแซงในเชิงนโยบาย โดยเน้นให้ช่วยเหลือแบบเจาะกลุ่มให้ตรงความต้องการ พลิกวิกฤตเป็นโอกาส เพื่อขยับสังคมไทยไปสู่โครงสร้างที่ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกัน เกิด New Normal แบบเดียวกันทุกคนทุกชนชั้น

ที่มา : www.pptvhd36.com

Advertisement
Haus23
Haus23
Haus23