ฉายภาพโลกใหม่หลังโควิด-19 The Great Reset : ความท้าทายแห่งการเริ่มต้น

1475

ผู้คนจำนวนมากกำลังเป็นห่วงว่า หลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คลี่คลายลง…โลก รวมถึงประเทศ และคนไทยจะอยู่กันอย่างไร?!

โดยเฉพาะเมื่อการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ตัวนี้ ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในรูปแบบปกติของผู้คนในสังคมทั่วไป กระทบต่อระบบการเชื่อมโยงกันของระบบ Globalization หรือ ระบบโลกาภิวัตน์ ที่ต้องมีการค้าขายกัน แลกเปลี่ยนความต้องการในสินค้าอุปโภค-บริโภค และห่วงโซ่อุปทาน หรือที่เรียกกันว่า New Normal ชีวิตวิถีใหม่ที่จะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

แม้การแพร่ระบาดของไวรัสจะคลี่คลายลง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะกลับไปเป็นปกติเหมือนเดิม ยิ่งมีมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมเป็นข้อกำหนดสำคัญที่ทำให้การอยู่ร่วมกันของสังคมเปลี่ยนแปลงไป กระทบต่อวิถีชีวิตแบบเดิม

สำคัญกว่านั้น ได้สร้างความเสียหายอย่างมากต่อทรัพยากรทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นระบบเงินทุน สภาพคล่องของธนาคาร สถาบันการเงิน ระบบการคลังของรัฐบาล ตลาดเงินตลาดทุน และบุคคลธรรมดา โดยความเสียหายทั้งหมดนั้นกลายเป็นต้นทุนที่แพงขึ้น

ทั้งหมดนี้ ถ้าไม่มีการปรับเปลี่ยนประเทศ สังคม และโครงสร้างเศรษฐกิจครั้งใหญ่ หรือที่เรียกว่า Great Reset : การเริ่มต้นใหม่ครั้งใหญ่ ประเทศไทยจะเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคงแข็งแกร่งไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่อมองไปข้างหน้าในช่วง 6-12 เดือน ประเทศไทยจะมีคนตกงานเพิ่มขึ้น นักท่องเที่ยวที่เคยเดินทางเข้าประเทศปีละ 40 ล้านคน อาจจะเหลือเพียงปีละ 20 ล้านคน

Advertisement

รัฐและระบบสถาบันการเงินที่เคยเข้มแข็ง จะอ่อนแอลงเมื่อต้องอุ้มประชาชนจำนวนมากที่ยังเข้าไม่ถึงคุณภาพชีวิตที่ดี หรือระบบการศึกษาที่นำพาพวกเขาพ้นจากความยากจน และด้อยโอกาสจนไม่สามารถจะอยู่รอดได้เมื่อสถานการณ์เลวร้ายที่สุดมาถึง

สัปดาห์นี้ ทีมเศรษฐกิจ ขอความเห็นจาก ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อค้นหาคำตอบว่า คนไทยจะอยู่กันอย่างไร เมื่อถูกเจ้าไวรัสโควิด-19 เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตปกติทั้งหมด ขณะที่ยังต้องเผชิญกับผลกระทบจากเทคโนโลยีที่ถาโถมเข้ามา

ในฐานะที่เขาเป็นนักการเงินคนสำคัญผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของการจัดทำระบบ และกระบวนการ e-money ทั้งหมดตั้งแต่การจัดทำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ไปจนถึงการช่วยให้มาตรการ เยียวยา และฟื้นฟูผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ของรัฐบาลต่อประชาชนคนไทยจำนวนกว่า 16 ล้านคนเดินหน้าไปด้วยความสำเร็จ

ภาคธุรกิจ/คนไทยอยู่อย่างไรหลังโควิด-19

สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยคลี่คลายลงอย่างมากในช่วงเดือน พ.ค.และเดือน มิ.ย.จนไม่มีผู้ติดเชื้อในประเทศแล้วติดต่อกันเป็นเวลากว่า 2 สัปดาห์ ทำให้คนไทยเริ่มมั่นใจกับการผ่อนคลายมาตรการเข้มงวดต่างๆในการควบคุมโรค และกลับมาใช้ชีวิตเหมือนก่อนเกิดโควิด-19 มากขึ้น

เราเริ่มเห็นการกลับไปใช้บริการห้างสรรพสินค้าและร้านอาหาร การไปพักผ่อนตามสถานที่ท่องเที่ยวกับครอบครัว และการเดินทางข้ามจังหวัดได้มากขึ้น…ภาพเหล่านี้อาจทำให้คนไทยรู้สึกใจชื้นขึ้นมาได้บ้างว่า สิ่งที่อดทนมาตลอดเกือบ 3 เดือนนั้น ประสบความสำเร็จ

แต่ภาพที่เห็นไม่ได้แปลว่า ทุกอย่างจะกลับไปเป็นปกติเหมือนเดิม เพราะเมื่อมองให้ลึกลงไปจะพบว่า มีความแตกต่างจากเดิมมาก เช่น ขาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งหมายความว่า เรายังขาดรายได้ถึงราว 10% ของจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) หรือการต้องเว้นระยะห่างทางสังคม ซึ่งหมายถึงรายได้ของธุรกิจบริการ และร้านอาหารที่อาจต่ำกว่าปกติถึง 50% แม้กำลังซื้อของผู้บริโภคไม่เปลี่ยน เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้ ทำให้สำนักวิจัยเศรษฐกิจต่างมองว่า ประเทศไทยจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีนี้ ซึ่งมีความรุนแรงใกล้เคียงกับวิกฤติการเงินปี 2540

นอกจากนี้ 60% ของ CEO กว่า 3,000 บริษัท ทั่วโลกเห็นว่า เศรษฐกิจโลกคงกลับมาได้ช้าๆแบบตัว “ยู” ในภาษาอังกฤษ (U Shape) คือ เศรษฐกิจจะหดตัวอย่างรุนแรงในช่วงต้นปีนี้ และจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 ปีกว่าจะกลับมาในจุดเดิม

ถ้าจะมองไปในอนาคตว่า คนไทยและธุรกิจไทยจะเป็นอย่างไรหลังโควิด-19 คงต้องเริ่มจากการแบ่งสิ่งที่เรียกว่า New Normal หลังโควิด-19 เป็น 2 ช่วง โดยในช่วงแรกคือ ระหว่างการคลายมาตรการล็อกดาวน์จนถึงการมีวัคซีนป้องกัน ซึ่งประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่ช่วงแรกนี้แล้ว และในช่วงที่สอง คือ หลังจากมีวัคซีนและโรคโควิด-19 ไม่ได้เป็นที่กังวลอีกต่อไป หรือเป็น New Normal ที่แท้จริง

ความเร็วเป็นหัวใจการปรับตัวในช่วงต้นของ New Normal

สำหรับช่วงแรกของ New Normal สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับภาคธุรกิจ คือ ความรวดเร็วในการปรับตัว ผู้ประกอบกาจำเป็นต้องกล้าลองผิดลองถูกในการปรับเปลี่ยนโมเดลการทำธุรกิจ เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งกำลังซื้อที่น้อยลงกว่าเดิมมาก ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่พึ่งพา investment cycle ของโลก ซึ่งคาดว่าจะยังหยุดชะงักอยู่ในช่วง 6-12 เดือนข้างหน้า ธุรกิจร้านอาหาร ซึ่งมีมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมเป็นข้อกำหนดใหม่ที่กระทบวิถีชีวิตแบบเดิม และทำให้ศักยภาพในการหารายได้ลดลงจนอาจไม่เพียงพอกับค่าเช่า และค่าจ้างพนักงานหลังกลับมาเปิดกิจการ

หรือธุรกิจโรงแรมที่หากกลับมาเปิดก็ต้องเร่งหารายได้ มาทดแทนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยังไม่สามารถกลับมาได้ในเร็ววัน หรือธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ยังมีอุปทานจำนวนมากที่รอการขายในภาวะที่ผู้ซื้อยังขาดความเชื่อมั่น เป็นต้น

โจทย์เหล่านี้ไม่ง่ายและยังไม่มีใครมีสูตรสำเร็จว่าต้องทำอย่างไรธุรกิจจึงจำเป็นต้องหา Quick win strategy (ทางด่วนแห่งชัยชนะ) ของตนเองเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน

สำหรับประชาชนทั่วไป ความรวดเร็วในการปรับตัวก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน ในช่วงต้นของ New Normal ธุรกิจที่กลับมาจากการจำศีลในช่วงล็อกดาวน์ กำลังเร่งเติมตำแหน่งงานเพื่อเสริมทัพ ซึ่งจะเห็นได้จากแพลตฟอร์มหางาน อย่าง JobsDB ประเทศไทย ที่ทำให้เห็นภาพว่าความต้องการจ้างงานเริ่มกลับมาในเดือน พ.ค.

โดยธุรกิจโลจิสติกส์มีความต้องการเพิ่มขึ้น 23% เทียบกับเดือนก่อนหน้า ตามมาด้วยธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจโฆษณา การตลาด ประชาสัมพันธ์ ธุรกิจประกันภัย และธุรกิจขายส่ง ขายปลีก ซึ่งคนที่กำลังมองหางานคงต้องรีบคว้าโอกาสนี้ไว้ เพราะปัจจุบัน มีการแข่งขันสูงมาก โดยเฉพาะในตำแหน่งงานที่มีโอกาสเติบโตได้ดีในช่วงหลังโควิด-19 เช่น กลุ่มสายงานพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce) ที่เป็นที่ต้องการของผู้สมัครงาน เพิ่มขึ้นถึง 75%

เรายังประมาทไม่ได้ในช่วงแรกของ New Normal

ในช่วงแรกของ New Normal ผู้ประกอบการจะมีทั้งโอกาสและความท้าทายในระยะเวลาอันใกล้นี้ โอกาสของผู้ประกอบการจะมาจากเม็ดเงินราว 400,000 ล้านบาทที่ภาครัฐเตรียมไว้สำหรับใช้จ่ายในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ หลังจากที่เม็ดเงินในการเยียวยาที่ให้กับแรงงานและเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบหมดลง คาดว่าเม็ดเงินฟื้นฟูจะลงไปสู่หลายภาคส่วน เช่น ธุรกิจเกษตร และอาหาร การท่องเที่ยว และก่อสร้าง

แต่ยังมีความท้าทายที่ต้องเร่งเตรียมพร้อม คือ การบริหารสภาพคล่องของธุรกิจภายหลังจากมาตรการพักชำระหนี้สิ้นสุดลง โดยผู้ประกอบการต้องมีสภาพคล่องเพียงพอสำหรับการดำเนินธุรกิจและภาระทางการเงินที่ยังมีอยู่ นอกจากนี้ยังควรคำนึงถึงสภาพคล่องของคู่ค้าทั้งฝั่งของผู้ผลิตสินค้า (supplier) ที่อาจจะมีผลต่อความต่อเนื่องของวัตถุดิบที่จะนำมาใช้ และฝั่งของลูกค้าที่อาจจะกระทบระยะเวลา ที่จะสามารถเรียกเก็บเงินได้ เพื่อจะได้มีมุมมองครบ 360 องศา ลดความเสี่ยงการมี blind spot (จุดบอด) ในเรื่องสภาพคล่อง

ในส่วนของประชาชนทั่วไป เรื่องเงินๆ ทองๆก็ยังต้องระมัดระวังต่อไป ในช่วงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา สถิติด้านเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ชี้ว่า คนไทยโดยรวมออมเงินเพิ่มขึ้น ซึ่งสะท้อนความไม่แน่นอนในอนาคต ที่มีมากขึ้น โดยเม็ดเงินในบัญชีออมทรัพย์อยู่ที่ 9.27 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นราว 290,000 ล้านบาท หรือ 3.2% จากเดือนก่อนหน้า

และหากดูเฉพาะบัญชีออมทรัพย์ที่มียอดเงินไม่เกิน 100,000 บาท หรือกว่า 90% ของจำนวนบัญชีออมทรัพย์ทั้งหมดนั้น จะมีเงินออมรวมกันที่ 646,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นราว 30,000 ล้านบาท หรือสูงถึง 5% จากเดือนก่อนหน้า ถือเป็นกันชนที่ครัวเรือนสร้างขึ้นมา และยังมีความจำเป็นอยู่ในช่วงแรกนี้ เพราะความไม่แน่นอนยังไม่หมดไป โดยเฉพาะในเรื่องของความมั่นคงด้านรายได้

ความท้าทายที่แท้จริงในช่วงที่สองของ New Normal

หากเราประสบความสำเร็จในการค้นพบวัคซีนที่สามารถจัดการกับโควิด-19 ได้ เราจะเริ่มเข้าสู่ New Normal ที่แท้จริง ซึ่งแม้กิจกรรมต่างๆ เช่น การเดินทางระหว่างประเทศ การไปในที่สาธารณะ จะกลับมาเป็นปกติ แต่โควิด-19 ได้ทิ้งมรดกของความเปลี่ยนแปลงไว้ให้มากมาย

ที่ชัดที่สุดคือความเสียหายอย่างมหาศาลที่เกิดขึ้นกับทรัพยากรทางเศรษฐกิจ อย่างเงินทุน และสภาพคล่อง ไม่ว่าจากธนาคาร รัฐบาล ตลาดทุน หรือคนธรรมดาทั่วไป ซึ่งล้วนแต่จะทำให้ต้นทุนของการทำธุรกิจทุกอย่างใน New Normal แพงขึ้น เพราะทรัพยากรเหล่านี้จะมีเหลือในปริมาณที่จำกัด

ขณะนี้สหภาพยุโรป โดยธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้เริ่มพูดคุยถึงวิธีการจัดการกับหนี้เสียจำนวนมากที่อาจจะเกิดขึ้นในระบบสถาบันการเงิน โดยอาจมีแนวทางการจัดตั้งสิ่งที่เรียกว่า bad bank ซึ่งจะรับหน้าที่ซื้อหนี้เสียจากระบบสถาบันการเงิน และช่วยรักษาความสามารถในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินที่มีฐานะการเงินไม่แข็งแรงนัก ซึ่งอาจมีจำนวนมาก

ในกรณีของสหภาพยุโรป ที่ภาคการเงินยังคงอ่อนแอจากวิกฤติการเงินที่เกิดขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จึงต้องติดตามต่อไปว่ามาตรการแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรเศรษฐกิจในลักษณะนี้จะถูกนำมาใช้หรือไม่ ทั้งในยุโรป หรือที่อื่นๆ รวมถึงไทย แต่ที่สำคัญ คือ การเตรียมความพร้อมและทางเลือกในการแก้ปัญหาไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ ย่อมเป็นแนวทางที่ดีกว่า

ธุรกิจ และคนไทยก้าวไปอย่างยั่งยืนใน New Normal

ประสบการณ์จากโควิด-19 ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทย มีจุดแข็งทั้งในด้านกระบวนการสาธารณสุข วินัยการเงินการคลัง การนำดิจิทัล มาใช้ของภาคธุรกิจ และความร่วมมืออย่างแข็งขันของคนไทย ซึ่งเป็นจุดตั้งต้นที่ดีที่จำเป็นมาก และดีกว่าอีกหลายประเทศ เพราะองค์กร think tank ระดับโลกอย่าง World Economic Forum (WEF) กล่าวว่า โควิด-19 ทำให้จำเป็นต้องทำสิ่งที่เรียกว่า “Great Reset” หรือ “การจัดใหม่” ของระบบทุนนิยม เพื่อให้กลับมาเติบโตได้อย่างยั่งยืน

โดยให้ความสำคัญมากขึ้นกับความเท่าเทียม และความเป็นธรรมในสังคมและเศรษฐกิจ รวมถึงการใช้ประ โยชน์จาก digital disruption ที่เป็นตัวขับเคลื่อนหลักของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่กำลังเกิดขึ้นในการตอบโจทย์ปัญหาด้านสาธารณสุข และสังคม

ทั้งหมดนี้ ภายใต้ความเชื่อมั่นใน Globalization ที่กำลังลดลง ซึ่งในมิติของไทยมีหลายประเด็นที่ต้องช่วยกันแก้ปัญหา เช่น ความเปราะบางของธุรกิจ SMEs และการขาดความสามารถในการแข่งขันที่เป็นจุดอ่อนมายาวนาน การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลือง เพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการขาดภูมิคุ้มกันทางสังคม หรือ social safety net ของแรงงานอีกจำนวนมาก

“Great Reset” ในคราวนี้จึงเป็นโอกาสที่มาพร้อมกับความจำเป็นที่ทำให้ไทยต้องหันมามองเรื่องของความยั่งยืนอย่างจริงจัง หากทุกภาคส่วนมุ่งมั่น และมองเห็นวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนร่วมกัน จะทำให้ประเทศไทยเติบโตได้อย่างมีคุณภาพได้ใน New Normal.

ที่มา : ทีมเศรษฐกิจ จาก www.thairath.co.th

Advertisement
Haus23
Haus23
Haus23