ไนท์แฟรงค์ประเทศไทยเผยภาพรวมตลาดโรงแรมระดับลักชัวรี่และอัพสเกลในภูเก็ต ปี 2563 และแนวโน้มปี 2564

1983
Umbrella with chair in hotel swimming pool resort

มร.คาร์ลอส มาร์ติเนซ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและที่ปรึกษา บริษัท ไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในภูเก็ตจากที่เคยอยู่ในระดับสูงสุด ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวมากกว่า 5.3 ล้านคนในปี 2562 ตกลงไปจุดต่ำสุด เหลือจำนวนนักท่องเที่ยวเพียง 1 ล้านคนในปี 2563 ลดลงถึง 80% เนื่องมาจากสนามบินยังคงไม่เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ มาตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2563 เป็นไปตามข้อจำกัดการเดินทางที่กำหนดใช้ภายในประเทศและทั่วโลก เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้อัตราการเข้าพักในโรงแรมลดลงตามไปด้วย ผู้ประกอบการโรงแรมบางรายปิดให้บริการชั่วคราว ในขณะที่ผู้ประกอบการรายอื่นๆ ปรับลดราคาห้องพักและจัดแคมเปญส่งเสริมการขายเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวภายในประเทศ

การท่องเที่ยวมีผลอย่างมากต่อเศรษฐกิจในภูเก็ต เนื่องจากรายได้กว่า 90% มาจากภาคการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ก่อนการเกิดของโรคระบาดโควิด-19 ในปี 2562

เพื่อชดเชยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ขาดหายไป รัฐบาลได้เสนอมาตรการสนับสนุนเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม เพื่อช่วยเหลือภาคการท่องเที่ยวภายในประเทศซึ่งประกอบด้วยแคมเปญ ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ โดยช่วยเหลือค่าใช้จ่าย 40% ของค่าห้องพักและตั๋วเครื่องบิน ถึงอย่างนั้นจำนวนนักท่องเที่ยวภายในประเทศก็ยังลดลงไปถึง 64% ในปี 2563 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

นักท่องเที่ยวชาวจีนยังคงเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักในปี 2563 แม้ว่าจะลดลงในไตรมาสแรกถึง 33.8% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยมีจำนวนอยู่ที่ 1.06 ล้านคน เนื่องจากรัฐบาลจีนได้กำหนดข้อจำกัดการเดินทางออกนอกประเทศในเดือนมกราคม ปี 2563

กราฟที่ 1 : จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในภูเก็ต

Advertisement

อุปทานและอุปสงค์

หาดป่าตองมีอุปทานโรงแรมลักชัวรี่และอัพสเกล (luxury and upscale hotels) เป็นส่วนใหญ่ โดยคิดเป็น 24% ของอุปทานรวมทั้งหมด ตามติดมาด้วยหาดกะรน (15%) หาดบางเทา (14%) หาดกะตะ (13%) และหาดกมลา (10%)

ในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ไม่มีโรงแรมระดับลักชัวรี่หรืออัพสเกลใหม่เปิดตัวในภูเก็ต ทำให้มีจำนวนห้องพักในโรงแรมระดับลักชัวรี่และอัพสเกลในภูเก็ต รวมทั้งสิ้น 22,824 ห้อง ณ สิ้นปี 2563

กราฟที่ 2 : จำนวนห้องพักโรงแรงระดับลักชัวรี่และอัพสเกลในภูเก็ต

เนื่องจากข้อจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ ทำให้อัตราการเข้าพักโรงแรมระดับลักชัวรี่และอัพสเกลในภูเก็ตปรับลดลงมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 อยู่ที่ 14% ซึ่งอัตราการเข้าพักโดยรวมของปี 2563 ลดลง 34% หากเทียบกับปีก่อนหน้าโดยปรับลดลงมาที่ 26%

การปิดสนามบินนานาชาติภูเก็ตชั่วคราว ตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน – กันยายน ปี 2563 ส่งผลให้อัตราการเข้าพักของโรงแรมลดลง อยู่ที่ระดับต่ำสุด ผู้ประกอบการโรงแรมบางรายต้องปิดการให้บริการชั่วคราวจนกว่าตลาดจะฟื้นตัว

อัตราค่าห้องเฉลี่ยต่อวัน (ADR) ของโรงแรมระดับลักชัวรี่และอัพสเกลปรับลดลง 7% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เฉลี่ยอยู่ที่ 3,750 บาท ซึ่งเป็นการปรับลดลงอยู่ในระดับต่ำสุดภายในไม่กี่ปีที่ผ่านมา โรงแรมหลายแห่งต้องแข่งขันกันเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยลดราคาห้องพักลง ก่อนการเปิดตัวแคมเปญ ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ ของรัฐบาล

กราฟที่ 3 : อัตราการเข้าพักและราคาห้องเฉลี่ยต่อวันของโรงแรมระดับลักชัวรี่ในภูเก็ต

แนวโน้ม

มร. มาร์ติเนซ กล่าวสรุปว่า ในปี 2563 มีโรงแรมเพียงแห่งเดียวที่เปิดตัวในช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งก็คือ โฟร์ พอยต์ บาย เชอราตัน ภูเก็ต ป่าตองบีช รีสอร์ต มีจำนวนห้องพัก 600 ห้อง ขณะที่โรงแรมอีก 7 แห่งถูกเลื่อนออกไป เนื่องจากโควิด-19 โดยทั้งหมดมีจำนวนห้องพักรวม 2,077 ห้อง ได้แก่ โรงแรมดาหวา ภูเก็ต (150 ห้อง) ปมุขโก้ ปมุขกา (512 ห้อง) รามาด้า พลาซ่า แกรนด์ หิมาลัย รีสอร์ท (426 ห้อง) ยูโทเปีย ไม้ขาว (92 ห้อง) เดอะ บีช พลาซ่า (730 ห้อง) และอังสนา โอเชี่ยนวิว (116 ห้อง) ซึ่งทั้งหมดนี้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มโรงแรมระดับอัพสเกล สำหรับโรงแรมระดับลักชัวรี่ได้แก่ 137 พิลลาร์ รีสอร์ท ภูเก็ต (51 ห้อง)

ภูเก็ตเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดในประเทศไทยในปี 2563 รัฐบาลสั่งปิดโรงแรมจำนวนมากชั่วคราวในเดือนเมษายน เนื่องจากจังหวัดภูเก็ตมีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้น สนามบินนานาชาติภูเก็ตได้กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งในเดือนมิถุยายน สำหรับนักท่องเที่ยวภายในประเทศ หลังจากปิดให้บริการเป็นเวลา 2 เดือน ในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ท่าอากาศยานไทยรายงานว่ามีจำนวนผู้โดยสารภายในประเทศเพียง 775,118 คน ลดลงถึง 57% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตามระยะเวลาการเข้าพักโดยเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวภายในประเทศนั้นน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของนักท่องเที่ยวต่างชาติ อยู่ที่ 1.8 วันเท่านั้น ซึ่งส่งผลต่ออัตราการเข้าพักที่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

 โดยรวมแล้ว เราคาดว่าอัตราการเข้าพักเฉลี่ยของโรงแรมระดับลักชัวรี่และอัพสเกลในภูเก็ตจะยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 25% และอัตราค่าห้องเฉลี่ยต่อวัน (ADR) ยังคงอยู่ในระดับต่ำ ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้

แนวโน้มสำหรับปีนี้ ไม่เป็นที่คาดหวังมากนัก เนื่องจากการระบาดรอบใหม่ของโควิด -19 ในช่วงต้นปี กระตุ้นให้รัฐบาลออกมาตรการข้อจำกัดการเดินทางในจังหวัดต่างๆ นอกจากนี้ยังมีรายงานการแพร่ระบาดจากประเทศที่เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวหลัก โดยเฉพาะรัฐบาลจีนยังคงบังคับใช้กฏห้ามเดินทางออกนอกประเทศของชาวจีนซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของพื้นที่ ดังนั้นการปิดกิจการโรงแรมและการขยายธุรกิจของโรงแรมจึงถูกระงับชั่วคราวและคาดว่าจะยังคงยืดเยื้อต่อไป เนื่องจากอัตราการเข้าพักโรงแรมยังอยู่ในระดับต่ำ

ตลาดโรงแรมในภูเก็ตจะฟื้นตัวได้ก็ต่อเมื่อนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับเข้ามา อย่างไรก็ตามชายแดนไทยมีแนวโน้มว่าจะยังคงปิดไม่ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศจนกว่าคนไทยจะได้รับการฉีดวัคซีน ซึ่งส่วนใหญ่อาจได้รับภายในปีนี้ ความหวังในการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในปี 2565 และกลับไปสู่ระดับก่อนโควิดภายในปี 2566 ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับความสำเร็จของการวัคซีน ถึงแม้ว่าจะมีปัจจัยเชิงลบอื่นๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติและภายในประเทศ เช่น ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวในการเดินทาง และการแข็งค่าของเงินบาท แต่ยังมีความต้องการสะสมในการเดินทางซึ่งมีแนวโน้มที่จะผลักดันการฟื้นตัวหลังจากการปลดล็อคข้อจำกัดการเดินทางทั่วโลก โดยเฉพาะจากกลุ่มนักท่องเที่ยวหลัก เช่น จีน รัสเซีย และยุโรป ที่ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วหลังภัยพิบัติต่างๆ ในอดีต ทั้งจากซาร์ส (SARS) และสึนามิ ซึ่งกลับฟื้นตัวทันทีหลังจากผ่านไปเพียงหนึ่งฤดูกาล

เหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนี้สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสในอุตสาหกรรมภาคการบริการในภูเก็ตที่หันกลับมาโฟกัสความต้องการของกลุ่มนักท่องเที่ยวภายในประเทศแทน และค่อยๆ เริ่มพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติน้อยลง การทำเช่นนี้จะส่งผลให้เกิดความสมดุลมากขึ้นระหว่างนักท่องเที่ยวภายในประเทศและต่างชาติ

Advertisement
Haus23
Haus23
Haus23