ประธานสภาอุตฯ โคราช กางแผนดึง AI-หุ่นยนต์พัฒนาสู่อุตฯ 4.0

1089
โคราช พัฒนาสู่4.0

หลังจากที่มีมติ ครม.สัญจร ได้เห็นชอบให้งบดำเนินการแผนแม่บทพัฒนาเมืองใหม่ นครราชสีมา ซึ่งเป็นโครงการท่าเรือบกโคราชหรือศูนย์รวบรวมตู้คอนเทนเนอร์และเปลี่ยนโหมดขนส่ง เพื่อรองรับโครงข่ายรถไฟทางคู่ที่ผ่านพื้นที่ จ.นครราชสีมา และล่าสุด “หัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ” กลับขึ้นมานั่งเก้าอี้ประธานสภาอุตสาหกรรมโคราชคนใหม่อีกครั้ง หลังจากลงจากตำแหน่งประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา เมื่อปี 2559 ด้วยความทุ่มเทและเป็นผู้คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงธุรกิจการส่งออกข้าวระดับประเทศ ด้วยดีกรีความสามารถในการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจที่มีมานาน ทำให้ประธานอุตฯ โคราช เร่งพัฒนาอุตสาหกรรม เพื่อผลักดันและมุ่งสู่โคราชยุค 4.0

หนุน SMEs มีบาร์โค้ดขยายตลาดห้าง

ผมได้เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา ตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2561 จากการได้รับเลือกในที่ประชุมใหญ่สามัญของสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา หลังจากรับตำแหน่ง มีความตั้งใจพัฒนาเศรษฐกิจ โดยได้วางนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาผู้ประกอบการเอาไว้ให้สอดคล้องกับบริบทของสมาชิกที่มีหลากหลาย ทั้งผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) และผู้ประกอบการขนาดใหญ่ แต่อย่างไรก็ตาม ต้องโฟกัสไปที่โรงงานอุตสาหกรรมที่รับผิดชอบโดยตรง ซึ่งปัจจุบันมีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่ในเขตพื้นที่โคราชมากกว่า 2,600 ราย

สำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็ก จะมีการส่งเสริมเพิ่มองค์ความรู้ใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ ทั้งในเรื่องสัมมนา อบรม ให้ความรู้ในด้านการผลิต ด้านภาษี ด้านการจัดซื้อ จัดหา รวมทั้งให้คำปรึกษา ในเรื่องของการขยายตลาด โดยเฉพาะในเรื่องของการขอรหัสสากลตราสินค้าหรือบาร์โค้ด เพื่อให้สินค้าของโรงงานผลิตรายย่อยสามารถขยายตลาดเข้าไปขายในห้างสรรพสินค้าได้ โดยผู้ประกอบการสามารถติดต่อสมัครใช้บาร์โค้ดที่สภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมาได้โดยตรง

ดันธุรกิจลดต้นทุนด้านพลังงาน

Advertisement

สำหรับผู้ประกอบการขนาดกลาง SMEs เราได้มีการส่งเสริมในเรื่องของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มากขึ้น ให้สามารถแข่งขันในตลาดได้ โดยการจัดสัมมนาและศึกษาดูงาน รวมทั้งกิจกรรมเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการเพิ่มช่องทางการขาย และการได้รับ connection เพิ่มขึ้น เพื่อให้สินค้าไปสู่ตลาดอย่างกว้างขวาง อีกทั้งยังได้ส่งเสริมในเรื่องของการประหยัดพลังงาน โดยมีโครงการ energy points ซึ่งจะเข้าไปส่งเสริมให้ผู้ประกอบการขนาดกลางมีการลดต้นทุนเรื่องของการใช้พลังงาน เป็นโครงการต่อเนื่องที่ทางสภาอุตสาหกรรมฯดำเนินการมาตลอด

แนะ รง.ใหญ่ใช้ AI หุ่นยนต์ในการผลิต

ส่วนผู้ประกอบการขนาดใหญ่ เน้นการใช้เทคโนโลยี โดยส่งเสริมให้นำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตมากยิ่งขึ้น ทั้งเรื่องการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) การนำ IOT (Internet of Things) และหุ่นยนต์มาใช้ เพราะปัจจุบันเข้ามามีบทบาทสำคัญในด้านการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการต้องมีการปรับตัว

นอกจากนี้ สภาอุตสาหกรรมฯได้ให้บริการทำบัตรวีซ่าเอเปก APEC Business Travel Card (ABTC) หรือบัตรเดินทางสำหรับนักธุรกิจเอเปก โดยผู้ถือบัตรสามารถใช้ควบคู่กับหนังสือเดินทางเพื่อเข้าสู่ประเทศสมาชิกเอเปกที่ร่วมโครงการนี้ (ปัจจุบันมีจำนวน 19 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ออสเตรเลีย, บรูไน, ชิลี, จีน, ฮ่องกง, อินโดนีเซีย, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, มาเลเซีย, นิวซีแลนด์, เปรู, ฟิลิปปินส์, ปาปัวนิวกินี, สิงคโปร์, ไทย, ไต้หวัน, เวียดนาม, เม็กซิโก, และรัสเซีย) ในการติดต่อธุรกิจระยะสั้นได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า ช่วยอำนวยความสะดวกในการเข้าเมืองโดยสามารถใช้ช่องทางพิเศษสำหรับสมาชิกเอเปก (APEC lane) ซึ่งตั้งอยู่ตามท่าอากาศยานนานาชาติของสมาชิกเอเปก ซึ่งบัตรเดินทางนี้จะช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายสำหรับนักธุรกิจที่ต้องการเดินทาง

เร่งผลักดันท่าเรือบกรับอุตสาหกรรมโต

สำหรับเรื่องเร่งด่วนที่สภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมาต้องการให้เกิดขึ้นเป็นเรื่องแรก ๆ ในตอนนี้ คือ การผลักดันท่าเรือบก หรือ ICD (Inland Container Depot) รองรับการขนส่งสินค้าระบบราง สภาอุตสาหกรรมจะผลักดันให้สถานที่ดังกล่าวนี้สามารถให้บริการแก่ลูกค้าในระบบ CY หรือ Container Yard (ลานเก็บตู้คอนเทนเนอร์) ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ทั้ง 3 จุด เพื่อให้มาใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากโคราชมีอุตสาหกรรมฯอยู่เป็นจำนวนมาก

จึงเหมาะอย่างยิ่งที่จะต้องทำเรื่องนี้โดยด่วน ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาขณะนี้ สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กำลังพิจารณาเรื่องความเหมาะสมของสถานที่ว่าจะใช้ทำเลใดในการก่อสร้าง ICD ระหว่าง อ.สีคิ้ว, ต.นากลาง อ.สูงเนิน และบ้านกระโดน อ.เมือง ต้องใช้พื้นที่ประมาณ 300-500 ไร่ ซึ่งโคราชถือว่ายังไม่ชัดเจนในเรื่องของสถานที่ ฉะนั้นเราต้องพยายามที่จะนำเสนอข้อมูลเพื่อให้โคราชได้รับพิจารณาในการก่อสร้างท่าเรือบกให้ได้ เพราะมีจังหวัดอื่นในภาคอีสานหลายจังหวัดที่เสนอให้สร้างท่าเรือบกเช่นเดียวกัน

หนุนทำแผนรองรับการขยายเมือง

นอกจากนี้ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมาได้ส่งเสริมผลักดันเศรษฐกิจ และโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นนโยบายของรัฐบาล ร่วมกับภาครัฐและเอกชนในจังหวัดนครราชสีมา เช่น โครงการมอเตอร์เวย์ รถไฟทางคู่ รวมถึงจัดทำแผนการรองรับโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ เช่น การผลักดันให้ผู้ประกอบการสามารถนำสินค้าเข้าไปจำหน่ายในจุดจำหน่ายสินค้าต่าง ๆ ของมอเตอร์เวย์ โครงการรถไฟความเร็วสูง จะพยายามผลักดันให้จังหวัดจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจให้รองรับกับรถไฟความเร็วสูงที่กำลังจะก่อสร้างเสร็จในเร็วๆ นี้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาและใช้งานให้ได้เต็มที่

สำหรับเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจนั้น เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง สภาอุตสาหกรรมฯจะพยายามส่งเสริมและผลักดันให้เกิดการเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา จากการดำเนินการทางด้านนโยบายต่างๆ ซึ่งทางคณะกรรมการสภาอุตสาหกรรมฯจะมีการหารือเรื่องนี้ในการประชุมคณะกรรมการประจำเดือนทุกๆ เดือน

เป็นตัวกลางแก้ปัญหาข้าว-มัน-อ้อย

สภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา มีแผนจะส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรที่ปลูกข้าว มันสำปะหลัง และอ้อย โดยจะมีการหารือกันในคณะกรรมการ เรื่องของการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราคาผลผลิตตกต่ำ แนวโน้มทางด้านการตลาด รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพของผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งเราพร้อมจะเป็นตัวกลางในการแก้ไขปัญหาร่วมกับโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่เป็นสมาชิกของสภาอุตสาหกรรมฯที่เป็นผู้ประกอบการทางด้านการรับซื้อข้าว มันสำปะหลัง และอ้อย โดยจะร่วมกันแถลงข่าวทุกไตรมาส ถึงภาวะเศรษฐกิจทางด้านการเกษตร ตลอดจนแนวโน้มราคาในตลาด และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สื่อมวลชนได้รับทราบถึงข้อมูลที่ถูกต้อง ตลอดจนข้อเท็จจริงจากผู้ประกอบการโดยตรง

ที่มา : Baania.com

 

Advertisement
Haus23
Haus23
Haus23