แห่ตั้งบริษัทพื้นที่อีอีซี

572

ยอดจดทะเบียนธุรกิจช่วง 10 เดือน พุ่ง 8.22% กว่า 6,000 ราย มูลค่าทุน 1.64 หมื่นล้าน ญี่ปุ่นครองแชมป์

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า สถิติการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ประกอบด้วย จ.ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง ช่วง 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.) 2561 มีจำนวน 6,095 ราย เพิ่มขึ้น 8.22% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 ที่มียอดการจดทะเบียนธุรกิจ 5,632 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 1.64 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.84% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 ที่มีทุนจดทะเบียน 1.52 หมื่นล้านบาท คาดว่าทั้งปียอดการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในพื้นที่อีอีซีจะเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 10%

สำหรับประเภทธุรกิจที่จัดตั้งในพื้นที่อีอีซีสูงสุด 3 อันดับแรก พบว่าเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 1,054 ราย คิดเป็นสัดส่วน 17.29% ของธุรกิจที่จดทะเบียนจัดตั้งทั้งหมด มีทุนจดทะเบียนรวม 3,724 ล้านบาท รองลงมาคือ ก่อสร้างอาคารทั่วไป 497 ราย คิดเป็นสัดส่วน 8.15% ทุนจดทะเบียน 706.25 ล้านบาท และภัตตาคาร/ร้านอาหาร 248 ราย คิดเป็นสัดส่วน 4.07% ทุนจดทะเบียน 559.81 ล้านบาท

ปัจจุบันมีนิติบุคคลคงอยู่ในพื้นที่อีอีซี ณ วันที่ 31 ต.ค. 2561 จำนวน 6.63 หมื่นราย ทุนจดทะเบียน 1.82 ล้านล้านบาท จ.ชลบุรี 4.86 หมื่นราย คิดเป็นสัดส่วน 73.29% ของจำนวนธุรกิจทั้งหมดในพื้นที่อีอีซี รองลงมาคือ จ.ระยอง 1.25 หมื่นราย คิดเป็นสัดส่วน 18.89% และ จ.ฉะเชิงเทรา 5,191 ราย คิดเป็นสัดส่วน 7.82% โดยนิติบุคคลที่จัดตั้งพื้นที่อีอีซีส่วนใหญ่เป็นธุรกิจบริการ 60.28% รองลงมาคือ ขายปลีก-ขายส่ง สัดส่วน 24.42% และการผลิต 15.30%

ทั้งนี้ การถือหุ้นของต่างชาติในนามนิติบุคคลไทย (ถือหุ้นไม่เกิน 49.99%) มีสัดส่วน 37.65% พบว่าเป็นสัญชาติญี่ปุ่น 52.07% รองลงมาเป็นสิงคโปร์ 8.02% และจีนเป็นอันดับ 3 สัดส่วน 6.56% โดยพื้นที่ที่นักลงทุนต่างชาติมาลงทุนมากที่สุดคือ จ.ระยอง ตามด้วย จ.ชลบุรี และฉะเชิงเทรา

Advertisement

ที่มา : Posttoday

Advertisement
Haus23
Haus23
Haus23