เดอะมออล์กรุ๊ป พร้อมชูโครงการแบงค็อก มอลล์ Bangkok Mall
วันนี้ทิศทางธุรกิจในกลุ่มเดอะมอลล์ สำหรับปี 2562-2566 มีจุดประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางด้านธุรกิจการค้า และการท่องเที่ยวในภูมิภาคอาเซียนและโลก โดยนอกจากจะ ‘ขยายสาขา’ แล้ว บริษัทยังเดินกลยุทธ์ไปที่ ‘ค้าปลีกออนไลน์’ ตลอดจนการใช้ ‘Big Data’ มาช่วยสื่อสารกับลูกค้าทั้งทางออฟไลน์และออนไลน์
แต่ไฮไลต์สำคัญของแผนนี้คือ การพลิกโฉม เดอะมอลล์ ทุกสาขา และเปิดโครงการเมกะโปรเจกต์ใหม่ รวมเป็นมูลค่ากว่า 80,000 ล้านบาท
โดยจะเป็นศูนย์การค้าระดับเวิลด์คลาสใจกลางแหล่งธุรกิจ คือ แบงค็อก มอลล์ (BANGKOK MALL) มูลค่าโครงการ 50,000 ล้านบาท เป็นโครงการระดับแฟลกชิป (FLAGSHIP PROJECT) มิกซ์ยูสโปรเจกต์ ปัจจุบันอยู่ในระหว่างตอกเสาเข็ม คาดว่าแล้วเสร็จในปี 2565
ศุภลักษณ์ อัมพุช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด บอกว่า BANGKOK MALL จะเป็นประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ในวงการค้าปลีกไทย โดยตั้งเป้าให้เป็นฮับด้านการคมนาคม
เนื่องจากตัวโครงการตั้งอยู่ ณ จุดตัดถนนบางนา-ตราดกับสุขุมวิท เชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีอุดมสุขและบางนา อีกทั้งในอนาคตจะมีรถไฟฟ้าไลท์เรล จากสี่แยกบางนา ถึง สุวรรณภูมิ โดยมีเนื้อที่กว่า 100 ไร่ รวมพื้นที่โครงการกว่า 1,200,000 ตารางเมตร ให้เป็นอาณาจักรศูนย์การค้า ที่อยู่อาศัย และออฟฟิศ ภายใต้คอนเซ็ปต์ CITY WITHIN THE CITY
นอกจากนี้ ยังมี ดิ เอ็มสเฟียร์ (THE EMSPHERE) พื้นที่โครงการกว่า 200,000 ตารางเมตร มูลค่าโครงการประมาณ 10,000 ล้านบาท บนทำเลใจกลางย่าน ‘สุขุมวิท’
เรียกได้ว่า ‘ดิ เอ็มสเฟียร์’ และ ‘แบงค็อก มอลล์’ เป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญของ “เดอะมอลล์ กรุ๊ป” ในการสร้างอาณาจักรการค้าปลีกอย่างแท้จริง เพราะหากมองในด้านโลเคชั่นจะเห็นว่า ปัจจุบันย่านสุขุมวิทมีทั้ง ดิ เอ็มโพเรียม กับ ดิ เอ็มควอเทียร์ และเมื่อรวม ดิ เอ็มสเฟียร์ จะทำให้มีพื้นที่ทั้งหมด 650,000 ตารางเมตร ประกอบกับเมกะโปรเจกต์อย่างแบงค็อก มอลล์ ยิ่งทำให้เดอะมอลล์สามารถก้าวเป็นผู้นำในตลาดนี้ได้อย่างไม่ยาก
ศุภลักษณ์กล่าวอีกว่า การทำโครงการในยุคนี้ยังต้องโฟกัสในเรื่องเอนเตอร์เทนเมนต์ (Entertainment) เป็นสำคัญ เพราะเป็นหัวใจของช้อปปิ้งมอลล์ยุคนี้ และโครงการทั้งหมดของเครือเดอะมอลล์ก็ต้องสร้างความเอนเตอร์เทนเมนต์ได้
จากทั้งหมดทำให้บริษัทตั้งเป้ารายได้อยู่ที่ประมาณ 1 แสนล้านบาท มาจากศูนย์การค้าเดอะมอลล์ทุกสาขารวมกัน และศูนย์การค้าอื่นๆ
พลิกโฉมห้างเดอะมอลล์ 4 + 1 สาขา
สำหรับห้างสรรพสินค้า “เดอะมอลล์” บริษัทมีแผนจะพลิกโฉมทั้งภายในห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าเดอะมอลล์ โดยเฉพาะสาขาท่าพระ งามวงศ์วาน บางแค และบางกะปิ
แต่การพลิกโฉมที่ใหญ่ที่สุดคือ เดอะมอลล์ รามคำแหง (THE MALL RAMKHAMHAENG) โดยก่อสร้างโครงการอาคารสรรพสินค้าเดอะมอลล์ รามคำแหง 2 ในรูปแบบ “MIXED USE COMPLEX” บนพื้นที่กว่า 30 ไร่ มีพื้นที่ใช้สอยกว่า 230,000 ตารางเมตร ใช้งบลงทุนกว่า 10,000 ล้าน โดยเริ่มดำเนินการก่อสร้างแล้วและคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2564
นอกจากนี้ บริษัทยังปรับทัพด้านบุคลากร โดยได้ผู้เชี่ยวชาญการค้าปลีกมาเสริมทัพคือ “โรเบิร์ต เจมส์ ซิสเซล” (MR.ROBERT JAMES CISSELL) รับผิดชอบในตำแหน่ง CEO, RETAIL GROUP เพื่อเป็นแม่ทัพกลุ่มธุรกิจรีเทล ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ ทุกสาขา, เอ็มโพเรียม, เอ็มควอเทียร์, พารากอน และบลูพอร์ต หัวหิน
ทั้งยังมีการเสริมทัพผู้บริหารใน 5 สายงาน คือ กลุ่มบริหารสินค้า (Merchandise) กลุ่มปฏิบัติการ (Operation) กลุ่มกลยุทธ์, พัฒนาธุรกิจ และความสามารถบุคลากร (Strategy, Business Development & Capability) กลุ่มทรัพยากรมนุษย์ (HR) และกลุ่มระบบสารสนเทศ (IT)
นอกจากนี้ในส่วนของศูนย์การค้าย่าน ดิ เอ็มดิสทริค มี เกรียงศักดิ์ ตันติพิภพ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดิ เอ็มโพเรียม กรุ๊ป จำกัด เป็นหัวเรือใหญ่ในการบริหารศูนย์การค้าทั้ง 3 แห่ง คือ ดิ เอ็มโพเรียม, ดิ เอ็มควอเทียร์ และดิ เอ็มสเฟียร์
เดอะมอลล์มองว่า การวางยุทธศาสตร์ครั้งนี้ไม่ได้โฟกัสเฉพาะการเติบโตในประเทศไทย แต่เป็นการปรับตัวเพื่อรองรับธุรกิจค้าปลีกระดับโลกในอนาคตที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
อาณาจักร เดอะมอลล์ กรุ๊ป
เดอะมอลล์ (The Mall)
รามคำแหง 2526 ปัจจุบันปิดให้บริการ
สาขาท่าพระ 2532
งามวงศ์วาน 2534
บางแค 2537
บางกะปิ 2537
โคราช 2543
ดิ เอ็มโพเรียม (Emporium) 2540
สยามพารากอน (Siam Paragon) 2548
ดิ เอ็มควอเทียร์ (Emquartier) 2558
บลูพอร์ต หัวหิน (Blu Port) 2559
อนาคต
ดิ เอ็มสเฟียร์ (THE Emsphere) 2563*
บลูเพิร์ล (Blu Pearl) 2564*
แบงค็อก มอลล์ (Bangkok Mall) 2565*
ที่มา : marketeeronline.co