เจริญก่อนไม่รอแล้วนะ! “ขอนแก่นโมเดล” ไม่รองบรัฐเตรียมสร้างรถไฟฟ้ารางเบา

1267

ปัญหาคลาสสิคของไทย หนีไม่พ้นภาครัฐที่ทำนโยบายลงไปไม่ถึงประชาชน ทั้งคนที่อยู่ใกล้หรือคนที่อยู่ไกล

กลายเป็นหน้าที่ของประชาชนที่ต้องดูแลตัวเอง อย่างตอนนี้ภาคเอกชนที่ขอนแก่นเตรียมสร้างรถไฟฟ้าใช้เองในจังหวัด รายละเอียดจะเป็นอย่างไร

ขอนแก่นโมเดลคืออะไร​?

กมลพงศ์ สงวนตระกูล ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง (เคเคทีที) จำกัด (หนึ่งในแกนนำการพัฒนาขอนแก่น) บอกว่า ในอดีตถึงปัจจุบันการแก้ปัญหาท้องถิ่นไทย คือการร้องเรียนไปที่ภาครัฐ แต่รัฐต้องใช้เวลาศึกษา กว่าจะทำเรื่องของบประมาณ บางครั้งต้องแก้กฎหมายทำให้การแก้ปัญหาดูยากและใช้เวลานาน

จากข้อมูลพบว่างบประมาณของไทย 72% อยู่ที่กรุงเทพมหานคร ส่วนภาคเหนือ 7% ภาคอีสาน 6% ภาคกลาง 7% ภาคใต้ 8%

Advertisement

“เราเข้าใจว่ารัฐบาลส่วนกลางมีลูก 77 จังหวัด จะมาให้แต่ขอนแก่นจังหวัดเดียวคงไม่ได้ คนอื่นคงไม่ยอม ซึ่งเราเป็นคนในท้องถิ่น ภาคเอกชนก็เป็นฟันเฟืองหนึ่งที่ช่วยได้ แต่ก็ทำทั้งหมดไม่ได้ถ้าภาครัฐไม่สนับสนุน ความร่วมมือในการพัฒนายังต้องมาจากหลายๆ ทาง”

โดยวิธีใหม่ที่เลือกใช้คือ เมื่อเกิดปัญหาขึ้น ในท้องถิ่นทั้งภาคเอกชน ฯลฯ จะเริ่มมองหาทางออก หางบประมาณ รวมถึงหากฎหมายที่สนับสนุน เพื่อต่อยอดขอให้ภาครัฐสนับสนุน วิธีนี้จะย่นระยะเวลาและเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนกว่า

“การพัฒนาขอนแก่นเราเริ่มมาตั้งแต่ยุคอาเจ๊ก อาแปะคิดกันมาหลายปีแล้ว แต่มาตกผลึกกันตอนนี้ โดยมีความร่วมมือกับหลายองค์กรในจังหวัด เช่น 24 องค์กรจีน 5 เทศบาลท้องถิ่น 8 องค์กรเศรษฐกิจ 20 บริษัทเอกชน”

ขอนแก่นโมเดล จะมีอะไรบ้าง?

ขอนแก่นโมเดล จะพัฒนาเมืองผ่านการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ให้เป็น Smart City ด้านระบบขนส่งมวลชนได้แก่

รถไฟฟ้ารางเบา (LRT) ยาว 23 กม. จะใช้แบบ LRT ที่แม้ว่าจะรองรับปริมาณคนได้น้อยกว่ารถไฟฟ้าแบบอื่นๆ (ระบบขนส่งมวลชนระบบรางมี 3 แบบคือ LRT HRT Monorail) แต่ LRT เหมาะสมกับขอนแก่นเพราะ 1. ใช้เงินลงทุนน้อยรถไฟฟ้ารางหนัก (อย่าง BTS) มีจุดคุ้มทุนเร็วกว่า  2.สามารถพัฒนาต่อยอดเรื่องรายได้ เช่น การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์รอบรถไฟฟ้า อย่างพื้นที่โฆษณา และมีความเป็นไปได้ที่ขอนแก่นจะกลายเป็นศูนย์การผลิตรถไฟรางเบาซึ่งต่อยอดการจ้างงานและการกระจายรายได้ในพื้นที่

รถ Smart Bus โดยแก้ Pain Point ของคนขอนแก่น เช่น คนไม่ใช้รถเมล์เพราะไม่รู้จะมาเมื่อไร ก็ติดตั้ง GPS ให้เช็คสถานะรถได้ผ่านแอพพลิเคชั่นมือถือ หรือแก้ปัญหาสำหรับกลุ่มรถสองแถวที่ได้รับผลกระทบแน่เมื่อรถไฟฟ้าเกิดขึ้นจริง จากการหารือบริษัทฯ เสนอให้คนขับมาวิ่งเป็นรถเมล์เสริมเพื่อให้ได้รายได้เท่าเดิมแต่วิ่งรถสั้นลง และเสริมกับระบบรถไฟฟ้าด้วย

ศูนย์ประชุมเพื่อรองรับงาน Fair ต่างๆ แม้ปัจจุบันจะมีศูนย์ประชุมเพื่อแสดงสินค้าต่างๆ แต่ยังไม่สามารถรองรับงาน Fair ได้หลายรูปแบบ เช่น งานแสดงเครื่องจักรต้องสร้างทางเข้า-ออก เพื่อขนย้ายเครื่องจักรขนาดใหญ่ และขนาดศูนย์ประชุมต้องสามารถรองรับคนที่มาร่วมงานได้

โดยโครงสร้างการบริหาร จะตั้งบริษัทขึ้นใหม่อยู่ภายใต้เทศบาล (5 เทศบาลที่รถไฟฟ้าผ่าน) แยกออกมาจากบริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง (เคเคทีที) จำกัด อย่างชัดเจน คล้ายกับบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ที่อยู่ภายใต้กรุงเทพมหานครและดูแลเป็นเจ้าของรถไฟฟ้าบีทีเอส และค่อยเปิดประมูลสัมปทานการก่อสร้างหรือเดินรถต่อไป ซึ่งการทำงานภายในทั้งเรื่องเทคโนโลยี ฯลฯ จะมีหน่วยงานท้องถิ่นเข้ามาช่วยดูแล เช่น สภาอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัย หอการค้า ฯลฯ

เงินลงทุนจะมาจากไหน?

ระยะแรกอาจไม่มีผลประกอบการที่ชัดเจน จึงตั้งเป้าหมายจะระดมทุนกันเอง รวมถึงของงบประมาณจากภาครัฐประมาณ 15,000-20,000 ล้านบาท ซึ่งต้นปีนี้ภาครัฐ (สนข.) เห็นชอบโครงการรถไฟฟ้ารางเบาแล้ว หากได้เริ่มโครงการในปี 2562 คาดว่า 2564 จะเสร็จสิ้น

เมื่อวางรูปแบบ วางระบบขนส่งมวลชนได้ตอบโจทย์ และได้รับการยอมรับ บริษัทจะจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานประจำจังหวัด (provincial infrastructure fund – PIF) ผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อระดมทุนจากประชาชนในตลาดทุน แสดงว่าคนขอนแก่นสามารถเป็นเจ้าของคมนาคมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ตัวเอง

สรุป

หมดยุคการรองบประมาณจากรัฐบาลส่วนกลางแล้ว คนท้องถิ่นหลายฝ่ายเลยรวมใจทำ “ขอนแก่นโมเดล” ขึ้นมาพัฒนาตัวเองให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนไปไวขึ้น 2-3 ปีจากนี้ขอนแก่นคงเปลี่ยนไปเยอะคงต้องจับตาดูให้ดี

ที่มา : brandinside.asia

Advertisement
Haus23
Haus23
Haus23