อีอีซี เดินหน้าต่อ ยันมีพ.ร.บ.รองรับ…ดัน 5 ภารกิจหลัก

861
อีอีซี เดินหน้าต่อ

อีอีซี เดินหน้าต่อ ยันมีพ.ร.บ.รองรับ…ดัน 5 ภารกิจหลัก

ขณะนี้ทุกฝ่ายกำลังใจจดใจจ่อว่าพรรคใดจะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ที่จะนำพาการเมืองไปสู่ความมีเสถียรภาพ และดำเนินนโยบายตามที่หาเสียงไว้ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี จะมีการสานต่อหรือไม่อย่างไร

หากฟังมุมมองของนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(กพอ.) แล้ว ยังยืนยันว่า ไม่ว่าพรรคใดจะจัดตั้งรัฐบาล การขับเคลื่อนนโยบายอีอีซี จะยังเดินหน้าต่อ เนื่องจาก มีพ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก มารองรับการดำเนินงาน คณะกรรมการหรือบอร์ดอีอีซี มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และมีรัฐมนตรีจากกระทรวงต่างๆ ร่วมเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง เมื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่เสร็จแล้วก็สามารถดำเนินงานได้ทันที

ดังนั้นการดำเนินงานอีอีซีจะไม่มีการสะดุดและในปี 2562 นี้ การทำงานของอีอีซีถือว่าเข้าสู่ระยะที่ 3 หลังจากได้ดำเนินงานมาเป็นระยะๆ ทั้งการออก พ.ร.บ.อีอีซี การเปิดประมูลโครงการโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ 5 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม 6.5 แสนล้านบาท

เดินหน้า5ภารกิจหลัก

Advertisement

นายคณิศ ชี้ให้เห็นว่า การทำงานในปีที่ 3 ของอีอีซี จะเร่งดำเนินงานใน 5 เรื่องสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น การผลักดันให้ 5 โครงการโครงสร้างพื้นฐานได้ผู้ลงทุนในเดือนเมษายนนี้ เพื่อให้เกิดการลงทุนในปีนี้ได้ราว 1 แสนล้านบาท รวมทั้ง การเร่งรัดการลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายอีก 1 แสนล้านบาท สร้างงานใหม่ราว 1 แสนอัตราต่อปี หรือในระยะ 5 ปี จากนี้ไป จะเกิดการลงทุนราว 5 แสนล้านบาท จะช่วยให้เกิดการจ้างงานใหม่ราว 4.75 แสนอัตรา แบ่งเป็นระดับอาชีวศึกษา 2.5 แสนอัตรา ปริญญาตรี 2.1 แสนอัตรา ปริญญาโทและปริญญาเอก 1 หมื่นอัตรา โดยอุตสาหกรรมที่ต้องการแรงงานมากสุดจะอยู่ใน กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล โลจิสติกส์ และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ

เร่งประกาศใช้ผังเมืองใหม่

นอกจากนี้ จะเดินหน้ายกระดับพื้นฐานด้านการพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยเฉพาะผังการใช้ที่ดิน ที่จะเร่งรัดให้ประกาศผังเมืองรวมอีอีซีให้มีผลใช้บังคับเร็วสุดในเดือนพฤษภาคมนี้ จากเดิมที่กำหนดไว้ในวันที่ 9 สิงหาคม 2562 รวมถึงการพัฒนาสิ่งแวดล้อม โครงการเร่งด่วน 14โครงการ เงินลงทุน 8,555 ล้านบาทเป็นงบประมาณรัฐ 4,281.7ล้านบาท และเอกชนลงทุน 4,273.8ล้านบาท

อีกทั้งการพัฒนาการเกษตร ด้วยเทคโนโลยีและอี-คอมเมิร์ซ ที่จะนำเอาระบบ IoT มาใช้ร่วมกับระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ การพัฒนาเมล็ดพันธุ์ การวางแผนการปลูกโดยใช้ระบบจีพีเอส และการค้า ที่จะนำระบบโลจิสติกส์เข้ามาช่วย เป็นต้น ขณะที่การยกระดับระบบสาธารณสุข เพื่อสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้กับผู้มาใช้บริการในสถานบริการต่างๆ ทั้งของรัฐและเอกชน และการขยายโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น โดยการดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน เป็นต้น

ดัน 3 เกาะเป็นเขตส่งเสริม

รวมทั้งการจัดวางแนวทางการพัฒนาพื้นที่พิเศษเป็นเขตเทคโนโลยีและเมืองอัจฉริยะ ที่จะเร่งให้การพัฒนาเขตนวัตกรรมเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซีไอและเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัลหรืออีอีซีดี เป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยในส่วนของอีอีซีไอ นั้น ขณะนี้ทางสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้เริ่มก่อสร้างศูนย์วิจัยและนวัตกรรมแล้ว ส่วนอีอีซีดีกำลังจะได้เอกชนเข้ามาลงทุน และเริ่มทดสอบการใช้ 5 จีแล้ว

นอกจากนี้ ยังเตรียมที่จะของบประมาณราว 4-5 ล้านบาท เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาพื้นที่ 3 เกาะสำคัญ ได้แก่ เกาะเสม็ด เกาะสีชัง และเกาะช้าง เป็นเขตส่งเสริมพิเศษ เพื่อให้การพัฒนาพื้นที่มีแนวทางที่ชัดเจน ไม่สะเปะสะปะ รองรับการท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืน

รวมถึงการพัฒนาพื้นที่รอบมหานครการบินภาคตะวันออก ขณะนี้การศึกษาในระยะแรกเสร็จแล้ว ซึ่งกำลังพิจารณาว่า เมืองใหม่อัจฉริยะจะเกิดขึ้นบริเวณไหน สุดท้ายเป็นเรื่องของการลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับชุมชนและประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้เกิดความรู้และความร่วมมือที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาอีอีซี 

รายงาน : โต๊ะข่าวอีอีซี

ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ

Advertisement
Haus23
Haus23
Haus23