“อสังหาฯไทย”ในวันที่ท้าทาย! ศก.ชะลอฉุดกำลังซื้อ แต่ราคาที่ดินพุ่งต่อเนื่อง

1126

วิเคราะห์ทิศทางตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยที่ยังเผชิญความท้าทายจาก ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวฉุดกำลังซื้อ-การปล่อยสินเชื่อ ขณะที่แนวโน้มราคาที่ดินพุ่งต่อเนื่อง ทำคนรายได้น้อย-ปานกลางเข้าถึงยาก

เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 63 นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า ทิศทางของตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยยังเผชิญกับความท้าทาย จากปัจจัยความไม่แน่นอนที่มาจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกและไทยเกิดการชะลอตัว กระทบมาถึงกำลังซื้อ และการปล่อยสินเชื่อของธนคารพาณิชย์ที่ยากขึ้น ส่งผลกระทบมาถึงภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะในประเด็นด้านการโอนที่ถือว่าการโอนทำได้ค่อนข้างช้า และยากมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้ประกอบการ

โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็กที่ได้รับผลกระทบมาก ทำให้มองว่ายังมีแนวโน้มที่วิกฤตในครั้งนี้ หากยังไม่มีความแน่นอนที่ชัดเจนออกมา จะเห็นผู้ประกอบการในตลาดอสังหาริมทรัพย์ทยอยปิดตัวลงมากขึ้น

ขณะที่ราคาที่ดินยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง แม้ว่าจะอยู่ในช่วงภาวะวิกฤต ถือว่าเป็นปัญหาที่ทำให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ไม่สามารถพัฒนาโครงการที่ประชาชนที่มีรายได้น้อย-ปานกลาง สามารถเข้าถึงได้เพราะราคาที่อยู่อาศัยที่ผู้ประกอบการพัฒนามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอยู่เรื่อยๆ ส่งผลให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อย-ปานกลางเริ่มมีแนวโน้มไม่สามารถซื้อบ้านเป็นของตัวเองได้มากขึ้น และธนาคารต่างๆมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้นในกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ปานกลางมากขึ้น

“จากอัตราการปฏิเสธสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นไปแตะระดับ 50% ทำให้การเข้าถึงการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองของคนไทยมีแนวโน้มลดลง ถือเป็นความเสี่ยงในอนาคตที่ประชาชนในประเทศส่วนใหญ่ที่ไม่สามารถมีบ้านเป็นของตัวเองได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาครัฐต้องเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการในการมีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการเพื่อให้ประชาชนรายได้น้อย-ปานกลาง มีบ้านเป็นของตัวเองได้”นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย

Advertisement

นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า ส่วนแนวโน้มของภาคอสังหาริมทรัพย์ยังคงเห็นภาพการชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะเห็นความชัดเจนของการรักษาโควิด-19 ออกมา และแนวโน้มของการพัฒนาโครงการใหม่ๆของผู้ประกอบการคาดว่าจะยังเห็นการชะลอตัวด้วยเช่นกัน เพราะผู้ประกอบการต่างๆยังคงระมัดระวังการลงทุน และเน้นการบริหารสภาพคล่อง ในภาวะที่ยังมีปัจจัยความไม่แน่นอนที่ไม่สามารถคาดเดาได้เกิดขึ้น และยังคงเห็นการระบายสต็อกของผู้ประกอบการออกมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับการทำโปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม ต่างๆออกมา ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการสามารถระบายสต็อกและตุนเงินสดเพื่อพยุงธุรกิบให้ผ่านพ้นวิกฤตไปได้

นอกจากนี้ประเด็นของ LTV ยังคงถือเป็นประเด็นที่กดดันต่อภาคอสังหาริมทรัพย์อย่างมีนัยสำคัญ เพราะผู้ซื้อในตลาดบางกลุ่มได้หายไป และกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อที่ต้องการซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง ได้ชะลอการซื้อ จากเกณฑ์ LTV ที่ทำให้ต้องใช้เงินในการซื้อเพิ่มมากขึ้น ทำให้กระทบต่อยอดขายของผู้ประกอบการในตลาด แม้ว่าทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะยังมองว่ามีความจำเป็นต้องใช้มาตรการ LTV เพื่อป้องกันความเสี่ยงในภาคอสังหาริมทรัพย์

ขณะเดียวกันอยากให้ภาครัฐขยายการสนับสนุนโดยการลดค่าธรรมเนียมการโอนให้กับทุกกลุ่ม เพราะมาตรการสนับสนุนดังกล่าวที่ลดค่าธรรมเนียมการโอนและการจดจำนองเหลือ 0.1% สำหรับที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทนั้น สามารถช่วยเหลือได้เพียงกลุ่มผู้ซื้อที่มีจำนวนจำกัด และส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงโดยธนาคารปฏิเสธสินเชื่อ ทำให้มาตรการดังกล่าวยังไม่ช่วยเหลือครอบคลุม ซึ่งอยากให้ขยายมาตรการไปสู่การโอนของบุคคลธรรมดากับบุคคลธรรมดา บุคคลธรรมดากับธุรกิจ และธุรกิจกับภาคธุรกิจ เพื่อช่วยกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ให้กลับมาคึกคักมากขึ้น

ที่มา : www.posttoday.com

Advertisement
Haus23
Haus23
Haus23