อสังหาฯไทย ภายใต้ภาวะ “ติดหล่มความเชื่อมั่น”

1510

แม้ล่าสุดคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 0.50% ต่อปี ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ หวังเพิ่มสภาพคล่อง กระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยที่ถูกสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แช่แข็งไว้ ไปต่อได้ และกลายเป็นปัจจัยบวกโดยตรง สำหรับภาคอสังหาริมทรัพย์ ลดภาระการผ่อนชำระของผู้ซื้อบ้าน-คอนโดมิเนียมลง อีกทั้งเพิ่มโอกาสในการกู้สินเชื่อให้ผ่านมากขึ้นนั้น แต่อย่างไรก็ตาม อสังหาฯไทย ปี 2563 ยังน่ากังวลอยู่หลายด้าน สะท้อนภาพชะลอตัวในทุกแง่ผ่านตัวเลขของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ที่มองแม้ตลาดที่อยู่อาศัยปีนี้ จะไม่เกิดปัญหารุนแรงเช่นที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2541 แต่ประเมินภาวะทั้งปี อาจติดลบได้มากถึง 15% โดยเฉพาะปัญหาที่มาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศ ,ปัญหาโอเวอร์ซัพพลายของตลาดคอนโดฯ และน่าห่วงสุด การหดตัวของกำลังซื้อ ความเชื่อมั่นต่อรายได้ ความมั่นคงในหน้าที่การงานของผู้บริโภคนับหลังจากนี้

จากมุมสะท้อนนายวิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส). ระบุว่า สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ซึ่งเดิมเคยประเมินไว้เป็นเพียงปัจจัยลบระยะสั้นสำหรับตลาดที่อยู่อาศัยปี 2563 ณ ช่วงต้นปีนั้น ปัจจุบันกลายเป็นผลกระทบใหญ่ต่อการลงทุนของผู้ประกอบการ และการซื้อขายอย่างเป็นรูปธรรมอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก คาดกรณีเลวร้ายสุด ตลาดอาจติดลบประมาณ 10-15% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้เพียง 5% เท่านั้น โดยมีการหดตัวในช่วง 6 เดือนแรกของปี เป็นตัวถ่วงภาพรวม

ตัวเลขที่แสดงถึงภาวะขึ้น-ลงของตลาดอย่างชัดเจน คือ การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยที่จะเกิดขึ้นทั่วประเทศ ปีนี้ประเมินอยู่ที่ 311,719 หน่วย ลดลงถึง 16.7% จากปีก่อนหน้า ส่วนมูลค่าลดลง 14.8% อยู่ที่ประมาณ 7.46 แสนล้านบาทเท่านั้น ตัวเลขติดลบดังกล่าว มาจากสถานการณ์การโอนฯในกลุ่มคอนโดมิเนียมของพื้นที่ กทม.-ปริมณฑลและการโอนฯในกลุ่มลูกค้าต่างชาติ (กลุ่มนักลงทุนหวั่นห้องว่างไร้ผู้เช่า) ตลอดช่วงไตรมาส 1 ต่อเนื่องไตรมาส 2 ที่ลดลงชัดเจน ส่วนภาพรวมการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคล ก็คงปรับตัวลดลง สอดคล้องไปกับยอดการโอนกรรมสิทธิ์ มองติดลบประมาณ 10.8% มูลค่าอยู่ที่ 5.71 แสนล้านบาท

อีกหนึ่งดัชนีชี้วัด การเบี่ยงเข็มพัฒนากลุ่มโครงการที่อยู่อาศัยของผู้ประกอบการ เพื่อลดภาวะเสี่ยงซื้อไม่โอนฯ ในกลุ่มคอนโดฯ คือ การขอใบอนุญาตก่อสร้าง ณ ไตรมาสแรก หดตัวต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอย่างมาก ติดลบ 27.7% เมื่อเทียบกับปีก่อน จำนวนอยู่ที่ 60,165 หน่วย โดยมีสัดส่วนของคอนโดฯ ไม่ถึง 9 พันหน่วยทั่วประเทศเท่านั้น ตัวเลขต่ำสุดในรอบ 5 ปี ทั้งนี้ ประเมินทั้งปี จะะมีการออกใบอนุญาตก่อสร้างลดลง 16.5% บ่งบอก โปรเจ็กต์ใหม่แทบจะไม่เกิดขึ้น และเป็นไปเฉพาะในทำเลที่ผู้ประกอบการมั่นใจดีมานด์เท่านั้น โดยการก่อสร้างในโครงการต่างๆ ที่เห็นบางส่วน อาจเป็นเพียงโครงการเก่าที่เคยขอใบอนุญาตไว้ก่อนหน้า เช่นเดียวกับจำนวนโครงการที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่ ไตรมาสแรกหดตัวไปเกือบครึ่งจากไตรมาสก่อนหน้า ทั้งปีตลาดหลัก (กทม.-ปริมณฑล) เปิดขายเพียง 79,408 หน่วย ทั้งหมดนี้ ศูนย์ข้อมูลฯ ประเมินอย่างสงวนท่าทีว่า เป็นการปรับตัวทั้งในด้านดีมานด์และซัพพลาย คลอบคลุมพื้นที่หลัก เพื่อลดปัญหาโอเวอร์ซัพพลายทั้งในพื้นที่ กทม.-ปริมณฑล และส่วนภูมิภาค

ทั้งนี้ แม้ทั้งอัตราดอกเบี้ยที่ลดต่ำลงอีก และล่าสุดรัฐยังประกาศขยายเวลาการลดธรรมเนียมการโอนฯจาก2% และค่าจดจำนอง 1% เหลือ 0.01% ที่จะหมดปลายปีนี้ ต่ออายุอีก 2 ปี ในกลุ่มบ้านใหม่ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท จะเป็นแรงขับเคลื่อนให้ภาค อสังหาฯในมุมบวก แต่นายวิชัย วิเคราะห์ต่อ ตลาดยังคงต้องติดตามว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หยุดชะงักไปในช่วงครึ่งปีแรก จะกลับมาฟื้นตัวเป็นปกติในช่วงครึ่งปีหลังอย่างที่สมมติฐานไว้หรือไม่ และรัฐเองจะออกนโยบายการสร้างงาน สร้างรายได้อย่างไร เพราะนอกจากอัตราดูดซับในตลาดที่ลดลงจาก 9.5% เหลือ 4.8% และการคาดการณ์จีดีพีประเทศ ติดลบ 5-6% เป็นปัจจัยลบหลักๆ ของตลาดแล้ว ในกลุ่มผู้ซื้อเอง ก็น่าวิตกไม่น้อย เพราะแม้จะมีความต้องการที่อยู่อาศัยอยู่มาก (ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง) และบางส่วนมีกำลังซื้อพร้อมจ่าย เพราะไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะโควิด-19 แต่กลับไร้ความเชื่อมั่น ความมั่นใจในการจับจ่ายใช้สอย ท่ามกลาง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกกำชับให้ ธนาคารพาณิชย์ ระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ เพราะเกรงภาวะคอนโดฯเงินทอน จะหวนกลับมาอีกรอบ จากกลยุทธ์กระตุ้นการขายของผู้ประกอบการ ผ่านมาตรการอุ้มลูกค้า อยู่ฟรีฯผ่อนแทน เป็นต้น

Advertisement

ที่มา : thansettakij.com

Advertisement
Haus23
Haus23
Haus23