อสังหาฯ ตั้งรับไวรัสโคโรนา แบงก์รัฐช่วยลดดอก-พักหนี้

612

ตลาดอสังหาฯ ไทยเจอพิษไวรัสโคโรนา ตลาดชาวจีนลงทุนคอนโดหด ประชาชนและผู้ประกอบธุรกิจในประเทศได้รับผลกระทบ แบงก์รัฐเร่งออกมาตรการให้ความช่วยเหลือ ลดดอกเบี้ยและพักชำระหนี้

ท่ามกลางความหวั่นวิตกของไวรัสโคโรนาที่กำลังแพร่ระบาดในประเทศจีน และทั่วโลกต่างเฝ้าระวังไม่ให้เกิดการลุกลามอยู่ในขณะนี้ ได้ส่งผลกระทบในวงกว้าง และแน่นอนว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน เนื่องจากชาวจีนเป็นกลุ่มกำลังซื้อหลักที่นิยมมาลงทุนในคอนโดมิเนียม

ชาวจีนถือครองกรรมสิทธิ์อสังหาฯ ไทย 57.6%

ข้อมูลของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า จากตัวเลขชาวต่างชาติที่ถือครองกรรมสิทธิ์ห้องชุดในปี 2561 พบว่า มีจำนวน 13,113 หน่วย มูลค่า 55,007 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นชาวจีนมากถึง 7,548 หน่วย สัดส่วน 57.6% จากผู้ซื้อชาวต่างชาติทั้งหมด ซึ่งมีมูลค่า 29,440 หน่วย

ขณะที่ตัวเลข 9 เดือนปี 2562 พบว่า มีชาวจีนถือครองกรรมสิทธิ์ทั้งสิ้น 5,430 หน่วย คิดเป็นสัดส่วน 57.6% ของผู้ซื้อ ต่างชาติทั้งหมด โดยมีมูลค่า 20,117 ล้านบาท

เคราะห์ซ้ำอสังหาฯ ปี 63 ไวรัสโคโรนาฉุดร่วง

หากจะประเมินสถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2563 จึงมีความเป็นไปได้ว่าจะลดต่ำลงไปกว่าปี 2562 ที่ผ่านมา เนื่องจากปัจจัยลบที่มากระทบตลาดมีอยู่จำนวนมาก โดยเฉพาะปัจจัยภายนอก ได้แก่ สงครามการค้าจีน-สหรัฐอเมริกา สงครามอิหร่านสหรัฐอเมริกา เงินบาทแข็งค่า รวมถึงมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย หรือ Loan to Value: LTV

Advertisement

ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของกลุ่มผู้ซื้อต่างชาติ ทำให้ชะลอการลงทุน โดยเฉพาะชาวจีนที่เป็นกำลังซื้อหลักกว่า 50% ของผู้ซื้อชาวต่างชาติ ปัจจัยลบดังกล่าวได้ฉุดให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยชะลอตัว และยังคงส่งผลกระทบต่อเนื่องมาในปี 2563 อีกทั้งมีปัญหาใหญ่อย่างไวรัสโคโรนาเข้ามาซ้ำเติม

ไวรัสโคโรนาทำพิษ ธปท. วอนแบงก์ลดดอกเบี้ย

ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบในแง่ของกำลังซื้อจากชาวจีนเท่านั้น การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ยังส่งผลกระทบต่อประชาชนและผู้ประกอบธุรกิจในประเทศด้วยเช่นเดียวกัน โดยทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าจะส่งผลให้ ผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ หรือ GDP ของประเทศในปี 2563 โตไม่ถึง 2.8% อย่างที่คาดการณ์ไว้ และทำให้ GDP ในไตรมาสแรกของปี 2563 จะโตไม่ถึง 2%

ทั้งนี้ ธปท. ได้ขอความร่วมมือไปยังสถาบันการเงิน สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับและสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพ พิจารณาให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว

ในส่วนของสถาบันการเงิน ให้ดูแลและพิจารณาให้ความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ ดังนี้

1. ด้านเงินทุนและสภาพคล่องแก่ลูกหนี้เพื่อให้ประกอบอาชีพหรือดำเนินธุรกิจต่อไปได้ เช่น ให้เงินทุนหมุนเวียนเพิ่มเติม ลดหรือยกเว้นดอกเบี้ย หรือ ค่าธรรมเนียม

2. ผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้ และปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ปรับลดอัตราการผ่อนชำระหนี้บัตรเครดิตขั้นต่ำให้ต่ำกว่า 10% ของยอดคงค้าง

3. ผ่อนผันเพดานวงเงินชั่วคราวกรณีฉุกเฉินของสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563

3 แบงก์รัฐเร่งออกมาตรการให้ความช่วยเหลือ

เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาส่งผลกระทบต่อกลุ่มลูกค้าทั้งประชาชนและผู้ประกอบการ สถาบันการเงินของรัฐจึงได้เร่งออกมาตรการช่วยเหลือทางการเงิน ดังนี้

1. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เตรียมกรอบวงเงิน 1,000 ล้านบาท สำหรับจัดทำมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา โดยลดดอกเบี้ยเงินกู้และเงินงวดผ่อนชำระไม่เกิน 6 เดือน คิดดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี

โดยลูกค้าที่ได้รับสิทธิจะต้องกู้และจดทะเบียนจำนองหลักประกันกับธนาคารก่อนวันเริ่มมาตรการ และพิสูจน์ได้ว่ารับผลกระทบด้านรายได้จากการระบาดไวรัส อาทิ ไกด์นำเที่ยว พนักงานโรงแรม ผู้ประกอบการที่ขายสินค้าในแหล่งท่องเที่ยว โดยขอเข้าร่วมมาตรการได้จนถึง 31 มีนาคม 2563

2. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กำลังตรวจสอบผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสกับกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวชุมชนอยู่ ซึ่งหากพบว่าได้รับผลกระทบจะมีการปรับเวลาพักหนี้ให้เพิ่ม 1 ปี

3. ธนาคารออมสิน เตรียมออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าเอสเอ็มอีและลูกค้ารายย่อยที่ได้รับผลกระทบการระบาดไวรัสโคโรนา 2 มาตรการ ได้แก่

สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ รายละ 50,000 บาท โดยคิดดอกเบี้ยพิเศษเพียง 0.50% ต่อเดือน ลดจากเดิม 1% ผ่อนชำระ 5 ปี

ปรับโครงสร้างหนี้ เช่น การพักเงินต้นให้ชำระแต่ดอกเบี้ย การลดดอกเบี้ยลง หรือการพักเงินต้นและดอกเบี้ยบางส่วน

ขณะเดียวกันลูกค้าที่มีการกู้เงินสินเชื่อพิเศษจากออมสิน ก็จะทำประกันภัยคุ้มครองกรณีได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา โดยเอสเอ็มอีจะได้รับการคุ้มครองสูงสุด 3 ล้านบาท และรายย่อยคุ้มครองสูงสุด 1 ล้านบาท

คงต้องจับตาการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาว่าจะยืดเยื้อ กินเวลายาวนานแค่ไหน หากสามารถหยุดวิกฤติไวรัสโคโรนาได้ในช่วงไตรมาสที่ 1 ก็ยังมีเวลาที่จะกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ในอีก 3 ไตรมาสที่เหลือของปี เช่นเดียวกับปัจจัยลบต่าง ๆ ที่รุมเร้าอาจจะเริ่มคลี่คลาย ดันตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2563 เดินต่อได้ทันเวลา

ที่มา : www.ddproperty.com

Advertisement
Haus23
Haus23
Haus23