“บิ๊กตู่-สมคิด” ไฟเขียว “ศักดิ์สยาม” รื้อเดินรถสายสีแดง ดึงเอกชนเสียบเลื่อนเปิดปี 65
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้เข้าหารือกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในประเด็นการเดินรถโครงการถไฟชานเมืองสายสีแดช่วงตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต จากเดิมที่จะอัพเกรดบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (เดินรถแอร์พอร์ตเรลลิ้งก์) ขึ้นมาบริหารงานเดินรถ จะเปลี่ยนเป็นการเปิดให้เอกชนเข้ามาบริหารในลักษณะ PPP แทน โดยแบ่งประโยชน์ระหว่างรัฐและเอกชนที่ รัฐ 60% และเอกชน 40%
เปิด PPP ดึงเอกชนร่วมเสี่ยง
“เปิด PPP เพราะมีเนื้องานและค่าก่อสร้าง 3 สัญญาเพิ่ม 10,345 ล้านบาท โดยเฉพาะสัญญา 1 งานสถานีกลางบางซื่อ และศูนย์ซ่อมบำรุง เพิ่ม 5,000-6,000 ล้านบาท ที่ยังไม่แล้วเสร็จ โดยเฉพาะการก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อที่ยังไม่เรียบร้อย ซึ่งผู้รับเหมาได้ขอขยายเวลาสัญญาเพิ่มอีกประมาณ 512 วัน อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย จึงคาดว่าทำให้มีเวลาที่จะทำ PPP ได้ ซึ่งประเด็นนี้ได้ปรึกษา นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เรียบร้อยแล้ว ซึ่งหากทำ PPP คาดว่ารัฐบาลจะประหยัดเม็ดเงินไปได้ประมาณ 60,000 – 70,000 ล้านบาท”
รวบงานก่อสร้างหมื่นล้าน-ต่อขยายใหม่
นอกจากเนื้องานด้านการเดินรถแล้ว จะผนวกเอาเนื้องานก่อสร้างที่เปลี่ยนแปลงใหม่ในสัญญา 1-3 รวมวงเงินประมาณ 10,345 ล้านบาท เข้ามาด้วย เนื่องจากไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขที่ไจก้าจะให้เงินกู้อีกแล้ว ซึ่งเนื้องานที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ระหว่างสำรวจ เพราะเมื่อใช้เงินกูไจก้าไม่ได้แล้ว จะต้องใช้กระบวนการปกติ คือต้องใช้ระเบียบพัสดุในการกู้เงินภายในประเทศ ซึ่งจะต้องประกวดราคาใหม่ จึงเห็นว่าการนำมารวมกับ PPP ให้เอกชนรับภาระแทนจะดีกว่า เพราะรัฐบาลจะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายด้วย
นอกจากนั้น จะให้รวมงานก่อสร้างส่วนต่อขยายสายสีแดง 4 เส้นทาง วงเงินรวม 67,575.37 ล้านบาท ได้แก่ 1.สายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต – ม.ธรรมศาสตร์ ระยะทาง 8.84 กม. วงเงิน 6,570.40 ล้านบาท และสายสีแดงอ่อน 3 เส้นทาง ประกอบด้วย 1.ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา วงเงินลงทุน 10,202.18 ล้านบาท มีระยะทาง 14.8 กม., สายสีแดงอ่อน 2.ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 4.3 กม. วงเงิน 6,645.03 ล้านบาท และ 3.Missing Link ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสายสีแดงเข้มช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ระยะทาง 25.9 กม. วงเงิน 44,157.76 ล้านบาท เข้ามาในการจัดทำ PPP ด้วย พร้อมกับให้ ร.ฟ.ท.ชะลอการเปิดขายเอกสารขอบเขตงาน (TOR) การประกวดราคาสายสีแดง 3 เส้นทางคือ ช่วงรังสิต – ม.ธรรมศาสตร์, ช่วงตลิ่งชัน – ศาลายา และช่วงตลิ่งชัน – ศิริราชออกไปก่อน
“ที่ผนวกเอางานส่วนต่อขยายเข้ามาด้วยนั้น เนื่องจากปัจจุบันต้นทุนการก่อสร้างสายสีแดงบานปลายจากเดิมไปมาก โดยช่วงแรกเริ่มที่กู้เงินจากไจก้า วงเงินก่อสร้างยังอยู่แค่ประมาณ 50,000 ล้านบาท แต่วันนี้วงเงินก่อสร้างขยายออกไปทะลุ 100,000 ล้านบาทแล้ว ดังนั้นการทำ PPP จะช่วยคุมต้นทุนต่าง ๆ ได้ และไม่ต้องใช้ระเบียบพัสดุในการประกวดราคาด้วย พูดง่าย ๆ คือเหมือนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกนั่นแหละ” นายศักดิ์สยามกล่าว
ให้ “รถไฟ-กรมราง” ศึกษา 1 เดือน
หลังจากนี้ จะนำประเด็นดังกล่าวไปทบทวนมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่เคยมีมติให้ตั้งบริษัทลูกเดินรถอีกครั้ง โดยมอบให้การรถไฟฯและกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ไปศึกษาและทำข้อมูลเพิ่มเติมกลับมาภายใน 1 เดือน
และเมื่อมีการเปิดเดินรถแบบ PPP แล้ว เงินลงทุนในสัญญาที่ 3 เอกชนจะต้องคืนกลับมาให้รัฐในส่วนของขบวนรถและระบบเดินรถ วงเงินประมาณ 32,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ยอมรับว่าจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จะทำให้กำหนดการเปิดให้บริการในเดือน ม.ค. 2564 นี้ต้องเลื่อนออกไปอย่างน้อย 1 ปี หรือประมาณปี 2565
“ส่วนสถานะของบริษัทลูกรถไฟ อาจจะทบทวนให้ไปทำอย่างอื่นแทน เช่น เดินรถไฟสายอื่น ส่วนบุคลากรและพนักงาน ให้พิจารณาปรับเปลี่ยนบทบาทพนักงานต่าง ๆ แทน เหมือนที่ ขสมก.ปรับเปลี่ยนพนักงานเก็บค่าโดยสารมาเป็นพนักงานขับรถ” นายศักดิ์สยามกล่าว
ที่มา : www.prachachat.net