วิกฤต COVID-19…บททดสอบภูมิต้านทานการส่งออกของไทย

1688
Container ship in export and import business and logistics. Shipping cargo to harbor by crane. Water transport International. Aerial view

ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ “ธสน.” (EXIM BANK) นำเสนอบทวิจัยธุรกิจโดยระบุว่า ผ่านมาแล้วครึ่งทางสำหรับปี 63 ที่เต็มไปด้วยความยากลำบากสำหรับผู้ประกอบการไทยหลังต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ “โควิด-19” (COVID-19) ที่ฉุดรั้งให้เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยปีนี้มีแนวโน้มหดตัวสูงสุดในรอบหลายทศวรรรษ แม้ล่าสุดสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยจะสามารถควบคุมได้ดีจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ซึ่งส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและอุปสงค์ในประเทศโดยเฉพาะการบริโภคเริ่มมีสัญญาณกระเตื้องขึ้น

แต่สถานการณ์ในหลายประเทศทั่วโลกที่ยังวิกฤตจากจำนวนผู้ป่วยใหม่รายวันที่ทำสถิติสูงสุด ส่งผลให้อุปสงค์จากต่างประเทศที่เคยเป็นเส้นเลือดใหญ่ในการหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในภาวะอ่อนแรงลงต่อเนื่อง สะท้อนได้จากมูลค่าส่งออกล่าสุดในเดือนพฤษภาคม 2563 ที่หดตัวถึง 22.5% ต่ำสุดในรอบกว่า 10 ปี ผลักดันให้การส่งออก 5 เดือนแรกปี 2563 หดตัว 3.7%

สถานการณ์ที่เกิดขึ้น หากมองในแง่ดีอาจกล่าวได้ว่าวิกฤต COVID-19 ได้เข้ามาเป็นบททดสอบภูมิต้านทานการ “ส่งออก” ของไทย ว่าจะสามารถทนทานกับความไม่แน่นอนหรือวิกฤตอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้มากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ หากพิจารณาจากตัวเลขส่งออกในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาและ 5 เดือนแรกปี 2563 ที่ COVID-19 ระบาดอย่างหนัก สามารถแบ่งกลุ่มสินค้าส่งออกของไทยได้ “5 กลุ่มอาการ” ดังนี้

กลุ่มแข็งแรง มีภูมิต้านทานสูง คือ กลุ่มสินค้าที่การส่งออกขยายตัวได้ดีต่อเนื่องทั้งในช่วงก่อนและระหว่าง COVID-19 ระบาด พบว่าส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตรและอาหารที่ผู้ประกอบการไทยมีความเชี่ยวชาญและเป็นที่ยอมรับในเรื่องคุณภาพ นอกจากนี้ สินค้าอุตสาหกรรมหลายชนิดก็เป็นที่ต้องการมากขึ้นเพื่อตอบสนองกระแส Social Distancing และกระแสใส่ใจสิ่งแวดล้อม ปัจจัยดังกล่าวเป็นเครื่องยืนยันได้ว่าประเทศไทยมีภูมิต้านทานและมีศักยภาพในสินค้าเหล่านี้ ประเด็นในเชิงนโยบายจึงอยู่ที่การสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้าง Branding ให้สินค้าไทยกลุ่มนี้กลายเป็นสินค้าในใจของผู้บริโภคทั่วโลกที่เน้นคุณภาพมากกว่าราคา รวมถึงการส่งเสริมการลงทุนและพัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและจำหน่ายสินค้าเหล่านี้ โดยเฉพาะเพื่อตอบสนองกระแสความมั่นคงด้านอาหารและสุขภาพที่มีมากขึ้นในปัจจุบัน

กลุ่มฟื้นตัวชั่วขณะ คือ กลุ่มสินค้าที่การส่งออกเริ่มชะลอตัวในช่วงก่อนหน้าแต่กลับได้อานิสงส์จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้มีความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้นในระยะสั้น แนวทางในการเสริมแกร่งของสินค้ากลุ่มนี้ในระยะถัดไปอาจเป็นการหาตลาดส่งออกใหม่ ๆ ที่ยังไม่อิ่มตัวเพื่อกระจายความเสี่ยง รวมถึงการแตกไลน์การผลิตสินค้าให้มีความหลากหลายขึ้น

Advertisement

กลุ่มติดเชื้อ คือ กลุ่มสินค้าที่การส่งออกขยายตัวสูงตลอด 3 ปีที่ผ่านมาแต่มาหดตัวในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน รวมถึงสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราว 15% ของมูลค่าส่งออกรวมที่ได้รับผลกระทบจากราคาและอุปสงค์ของภาคการผลิตและภาคการขนส่งที่ลดลงจากมาตรการ Lockdown และ Social Distancing อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมข้างต้นส่วนใหญ่ยังเป็นอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพและเป็นฐานการผลิตสำคัญของนักลงทุนต่างชาติ แม้ในระยะสั้นอาจเผชิญกับภาวะช็อกจากอุปสงค์ที่ลดลงอย่างรวดเร็วหรือมีการเลื่อนการบริโภคออกไป แต่หากสถานการณ์ COVID-19 ดีขึ้น สินค้ากลุ่มดังกล่าวก็มีโอกาสกลับมาฟื้นตัว

กลุ่มภาวะแทรกซ้อน คือ กลุ่มสินค้าที่มูลค่าส่งออกในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาขยายตัวค่อนข้างต่ำจากปัญหาเชิงโครงสร้างและกระแส Disruption ในหลายมิติ อีกทั้งถูกซ้ำเติมจากการแพร่ระบาดของ COVID-19  นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มสินค้าเกษตรที่ส่วนใหญ่ส่งออกในลักษณะสินค้าขั้นต้นและต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรง สินค้ากลุ่มนี้อาจถึงเวลาที่จำเป็นต้องปรับโครงสร้างการผลิตครั้งใหญ่เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม หรือบางอุตสาหกรรมก็อาจจำเป็นต้องย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศ และเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มสูงกลับมายังประเทศไทย

กลุ่มอาการวิกฤต คือ กลุ่มสินค้าที่มูลค่าส่งออกหดตัวตลอด 3 ปีที่ผ่านมาและหดตัวต่อเนื่องในช่วง COVID-19 พบว่าสินค้ากลุ่มนี้กระจุกตัวอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีปัญหาเชิงโครงสร้างและมูลค่าเพิ่มต่ำ รวมทั้งถูกซ้ำเติมจากกระแส Technological Disruption อุตสาหกรรมเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องหันมาพัฒนาผลิตภัณฑ์และปรับตัวให้สอดคล้องกับ Megatrends

แม้สินค้าส่งออกของไทยหลายกลุ่มอาการข้างต้นหดตัวลงจากผลกระทบของ COVID-19 แต่ในภาพรวมแล้วการส่งออกของไทยยังหดตัวน้อยกว่าคู่แข่งหลายประเทศที่อาจมีความหลากหลายของสินค้าส่งออกน้อยกว่าไทย อย่างไรก็ตาม การส่งออกในช่วงที่เหลือของปี 2563 ที่ยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนสูง EXIM BANK ได้เตรียมเครื่องมือทางการเงินที่หลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ส่งออกสินค้าในแต่ละกลุ่มอาการข้างต้น ทั้งมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูสำหรับสินค้าที่ได้รับผลกระทบระยะสั้นจาก COVID-19 รวมถึงมาตรการเสริมความแข็งแกร่งและสร้างมูลค่าเพิ่มในระยะยาวสำหรับอุตสาหกรรมที่จำเป็นต้องปรับโครงสร้างเพื่อความอยู่รอด เพื่อให้สามารถผ่านพ้นมหาวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน และทำให้การส่งออกของไทยกลับมาเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจไทยอีกครั้ง

ที่มา : www.thansettakij.com

Advertisement
Haus23
Haus23
Haus23