ราคาที่พุ่ง8% สยาม-ชิดลม วาละ1ล้าน

843

กรมธนารักษ์เตรียมประกาศราคาประเมินที่ดินใหม่รองรับการจัดเก็บภาษี โดยเฉลี่ยทั่วประเทศราคาปรับเพิ่ม 8% ย่านชิดลม-สยามยังครองแชมป์ราคาสูงสุดที่ตารางวาละ 1 ล้านบาท

นางสาววิลาวัลย์  วีระกุล รองอธิบดีด้านประเมินราคาทรัพย์สิน กรมธนารักษ์ เปิดเผยว่ากรมธนารักษ์ได้ดำเนินการประเมินราคาที่ดินรอบใหม่ ที่จะประกาศใช้ในปี 2563-2566 และนำมาเป็นฐานในการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เตรียมประกาศใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2563 โดยมีการประเมินราคาที่ดินทั้งสิ้น 33.4 ล้านแปลง เพิ่มขึ้นจากครั้งก่อน 1.4 ล้านแปลง ประเมินราคาอาคารชุดทั่วประเทศ 6,300 โครงการ ยังคงเหลือเพียงการจัดทำบัญชีโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างทั่วประเทศ ซึ่งจะแล้วเสร็จในเดือนนี้ ดังนั้นการเตรียมฐานข้อมูลสำหรับจัดเก็บภาษีนั้นค่อนข้างสมบูรณ์

ทั้งนี้ราคาประเมินที่ดินทั่วประเทศที่เตรียมจะประกาศในปี 2563 ราคาเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้นทั่วประเทศ 8% ลดลงจากราคาประเมินรอบปี 2559-2562 ที่มีค่าเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้น 11% เนื่องจากฐานที่ดินที่นำมาประเมินเพิ่มขึ้น โดยที่ดินทั้งหมด 33.4 ล้านแปลงนั้นราคาไม่มีการเปลี่ยนแปลง 70% ขณะที่ราคาเพิ่มขึ้น 29% และมีเพียง 1% ที่ราคาปรับลดลง ซึ่งอยู่ในพื้นที่อยู่ลึกมากๆ โดยราคาที่ดินในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปรับเพิ่มขึ้น 8-10% ส่วนที่ดินที่ราคาประเมินสูงที่สุดในประเทศ ยังคงอยู่ย่านถนนพระราม 1 ช่วงจากแยกสยาม ราชดำริ ไปจนถึงชิดลม ที่ราคาขยับขึ้นจากตารางวาละ 9 แสนบาท แตะ 1 ล้านบาทเป็นครั้งแรก

“ราคาประเมินปรับขึ้นสูงสุดอยู่ที่จังหวัดกำแพงเพชร เพิ่มขึ้น 200% เนื่องจากไม่มีการปรับราคามา 2 ปี แต่ราคาไม่ได้สูงมาก เพิ่มขึ้นจากหลักพันเป็นหลักหมื่นบาทต่อตารางวาเท่านั้น ส่วนที่ดินตามแนวรถไฟฟ้าราคาปรับเพิ่มไม่มาก เพราะราคาขึ้นไปก่อนหน้าแล้ว ยกเว้นย่านชานเมือง เช่น หนองจอก มีนบุรี ที่ราคาเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 8% เพราะได้รับอานิสงส์จากการพัฒนารถไฟฟ้าสายสีส้ม และการปรับผังเมืองใหม่”

ขณะที่ราคาที่ดินในพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) พบว่าราคาปรับเพิ่มไม่มาก แต่หลังจากมีโครงการต่างๆเกิดขึ้นในพื้นที่อาจต้องมีการสำรวจและประเมินราคาใหม่อีกครั้ง โดยต่อไปอำนาจในการประเมินราคาที่ดินใหม่จะอยู่ที่คณะกรรมการประจำจังหวัด โดยที่กรมธนารักษ์จะดูในภาพรวมทั่วประเทศ เพื่อให้ราคาประเมินใกล้เคียงกับราคาตลาดมากที่สุด กรณีที่มีการใช้ราคาประเมิน ซึ่งตํ่ากว่าราคาตลาดใช้จดจำนอง เพื่อสิทธิภาษีนั้น กรมธนารักษ์ จะมีการเชื่อมโยงข้อมูลกับธนาคารพาณิชย์ด้วย เพื่อใช้เป็นราคาสอบทาน  

Advertisement

“กรมธนารักษ์จะจัดส่งราคาประเมินที่ทำเสร็จแล้ว ให้กับหน่วยงานรับผิดชอบคือ กรมที่ดินและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อใช้เป็นราคาอ้างอิงในการจดทะเบียน ส่วนราคาที่ซื้อขายกันในตลาดนั้น กฎหมายใหม่เปิดโอกาสให้เราตรวจสอบปัจจัยราคาซื้อขายว่า มีการแจ้งราคาจริงหรือไม่ โดยจะมีองค์ประกอบอื่นๆ ซึ่งวันนี้เราเก็บข้อมูลของราคาประกาศขายไว้แล้วว่า สามารถติดตามได้ว่าแปลงนี้เคยประกาศขายราคาเท่าไหร่ เมื่อมาจดทะเบียนราคาเท่าไหร่ เราสามารถเก็บฐานข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตได้หมด จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการราคาประเมินทรัพย์สินแห่งชาติ ซึ่งจะเก็บฐานข้อมูลเหล่านี้ไว้ แล้วนำกลับมาตรวจสอบเพื่อใช้เป็นราคาประเมินต่อไป”

ทั้งนี้ ตามร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กำหนดให้ยกเว้นบ้านหลังหลักและที่ดินเกษตรกรรม ที่เป็นของบุคคลธรรมดา ที่มีมูลค่าราคาประเมินไม่เกิน 50 ล้านบาท ได้รับการยกเว้นภาษี ส่วนใน 2 ปีแรกของการจัดเก็บภาษี กำหนดอัตราที่เป็นอัตราการจัดเก็บสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็น 4 ประเภท คือ 1. ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย คิดอัตราภาษี 0.02-0.1% 2. ที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมคิดอัตรา 0.01-0.10% 3. ที่ดินประเภทอื่นๆ คิดอัตราภาษี 0.3-0.7% และ 4.ที่ดินรกร้างว่างเปล่า คิดอัตราภาษีเริ่มต้น 0.3% และเพิ่มขึ้น 0.3% ทุก 3 ปี

ที่มา : www.thansettakij.com

Advertisement
Haus23
Haus23
Haus23