‘ราคาที่ดิน’ พุ่งไม่หยุด! คนซื้อบ้านจำต้องแบกภาระ

1170

หนึ่งในธุรกิจที่โดนหางเลขจากวิกฤติโควิด-19 คือ อสังหาริมทรัพย์ ส่งผลให้ยอดโอนกรรมสิทธิ์ทั่วประเทศชะลอตัวลง ในทางกลับกันราคาที่ดินพุ่งขึ้นต่อเนื่องนับเป็นโจทย์ท้าทายผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และประชาชนที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยก็ต้องแบกรับภาระราคานี้

วิกฤติโรคระบาดที่เกิดจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ “โควิด-19” ทำเอาเศรษฐกิจทั่วโลก รวมทั้งเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะ “ตกต่ำ” หลายธุรกิจโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยว ซึ่งรอบนี้ถือว่าอยู่ “ใจกลาง” มหาพายุ โดยซัดกระหน่ำจนต้องปิดกิจการไปหลายแห่งเพราะขาดสภาพคล่อง ทั้งที่ธุรกิจเหล่านี้เคยค้าขายดี มีกำไรมาตลอด การปิดกิจการของธุรกิจเหล่านี้ยังส่งผลต่อเนื่องถึงแรงงานลูกจ้างจำนวนมากที่ต้องตกงานตามไปด้วย กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายๆ ภาคส่วนจึงหยุดชะงัก กำลังซื้อของผู้คนหายไปจำนวนมาก กระทบต่อเนื่องไปยังธุรกิจอื่นๆ โดยหนึ่งในธุรกิจที่โดน “หางเลข” จากวิกฤติคราวนี้ด้วย คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ประเมินว่า ผลกระทบจากโควิด-19 จะทำให้ “ยอดโอนกรรมสิทธิ์” ทั่วประเทศในปีนี้ชะลอตัวลง เนื่องจากคนส่วนใหญ่กังวลว่า “รายได้” ในอนาคตอาจปรับลดลง ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการซื้อสินค้า โดยเฉพาะสินค้าที่มีขนาดใหญ่ เช่น “ที่อยู่อาศัย” หรือ “บ้าน” ทำให้ยอดโอนกรรมสิทธิ์มีแนวโน้มลดลงตามไปด้วย โดยศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ ประเมินว่า การโอนกรรมสิทธิ์ในปีนี้อาจ “หดตัว” ถึง 16.7% ถือเป็นระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลังในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามมีข้อน่าแปลกใจตรงที่ แม้แนวโน้มการซื้อที่อยู่อาศัยจะลดลง ซึ่งก็น่าจะส่งผลต่อเนื่องถึง “ราคาที่ดิน” ที่ควรปรับลดลงตามไปด้วย แต่กลายเป็นว่า ราคาที่ดินยังคงพุ่งขึ้นต่อเนื่อง สวนทางกับวิกฤติที่เกิดขึ้น โดยศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ รายงานว่า ราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในช่วงไตรมาสแรกปี 2563 มีค่าเท่ากับ 293.3 จุด เพิ่มขึ้น 3% จากไตรมาสก่อนหน้า และเพิ่มขึ้นถึง 27.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

โดย “ที่ดิน” ซึ่งมีราคาปรับขึ้นสูงสุด 5 อันดับแรก ล้วนอยู่ในแนวรถไฟฟ้าทั้งหมด โซนที่เพิ่มขึ้นสูงสุด คือ รถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ (คูคต-ลำลูกกา) ราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 61.3% รองลงมา คือ โซนรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ราคาที่ดินโซนนี้เพิ่มขึ้น 45.1% ถัดมาคือ โซนรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน (ตลิ่งชัน-ศาลายา) เพิ่มขึ้น 20% โซนรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (บางแค-พุทธมณฑลสาย 4) เพิ่มขึ้น 15.3% และโซนรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ (สมุทรปราการ-บางปู และแบริ่ง-สมุทรปราการ) เพิ่มขึ้น 11.7%

Advertisement

ราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นนี้ นับเป็นโจทย์ท้าทายผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่างมาก เพราะท่ามกลางกำลังซื้อที่ลดลง แต่ต้นทุนหลัก คือ “ราคาที่ดิน” กลับเพิ่มขึ้น จึงส่งผลต่อราคาขายตามไปด้วย สุดท้ายคนที่ต้องแบกรับภาระคือ “ประชาชน” ผู้ที่ต้องการมีบ้านเป็นของตัวเอง และภาระเหล่านี้สะท้อนผ่านมายังสินเชื่อบ้านที่กลายเป็น “หนี้เสีย” จำนวนมาก เพราะผู้ซื้อบ้านหลายคนจำต้องจ่ายในราคาเกินเอื้อม …คนในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ เคยเล่าให้ “ทีมข่าวกรุงเทพธุรกิจ” ฟังว่า สาเหตุที่ราคาที่ดินพุ่งไม่หยุด เพราะที่ดินส่วนใหญ่อยู่ในมือ “นายทุน” หรือ “เจ้าสัว” ซึ่งไม่ได้เดือดร้อนเรื่องเงิน ดังนั้นเมื่อมีคนมาขอซื้อที่ดิน หากไม่ได้ราคาก็จะไม่ขาย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ราคาที่ดินพุ่งต่อเนื่อง ฟังแบบนี้ประชาชนตาดำๆ คงต้องก้มหน้ารับสภาพกันไป

ที่มา : www.bangkokbiznews.com

Advertisement
Haus23
Haus23
Haus23