ผุดไอซีดีใหม่ @ฉะเชิงเทรา จุดรวมสินค้าท่าเรืออีอีซี

775

นางวิไลรัตน์ ศิริโสภณศิลป์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สนข. อยู่ระหว่างศึกษาโครงการศึกษาพัฒนาสถานีคอนเทนเนอร์ (ไอซีดี) จ.ฉะเชิงเทรา รองรับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) งบศึกษา 38 ล้านบาท ใช้เวลาศึกษา 9 เดือน ตั้งแต่เดือน พ.ค. 61-ม.ค. 62 โครงการดังกล่าวศึกษา เพื่อเป็นศูนย์รวมและกระจายสินค้านำเข้า-ส่งออกสินค้าไปยังท่าเรือในพื้นที่อีอีซีโดยเฉพาะท่าเรือแหลมบัง จ.ชลบุรี ลดปัญหาแออัดของท่าเรือแหลมบัง ที่ปัจจุบันยังมีปัญหาใช้ท่าเรือขนส่งสินค้าจำนวนมาก จนทำให้ไม่ปลอดภัย เกิดอุบัติเหตุและจราจรที่ใช้ท่าเรือฯ ตลอดจนส่งเสริมการขนส่งสินค้าทางรางมากขึ้น เพราะขณะนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอยระยะทาง 106 กม

นางวิไลรัตน์ กล่าวต่อว่า และอนาคตโครงการพัฒนาระบบรถไฟขนส่งสินค้าเชื่อมท่าเรือพื้นที่อีอีซี สำหรับการศึกษาประกอบด้วย ศึกษาความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจ ปริมาณการขนส่งสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (ไออีอี) ความเหมาะสม การออกแบบรายละเอียดและคัดเลือกพื้นที่ รูปแบบการลงทุน ผู้รับผิดชอบโครงการ ซึ่งอาจจะเป็น รฟท., การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ท้องถิ่นหรือเอกชนก็ได้ รวมทั้งการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้ประกอบการ และประชาชน รวมถึงกฎระเบียบ รูปแบบดำเนินการในอนาคตที่ไม่ต้องนำตู้สินค้าไปกองไว้ที่ท่าเรือแหลมบังแล้วค่อยยกสินค้าขึ้นเรือ แต่สามารถมาใช้บริการที่ศูนย์ไอซีดีนี้ เพื่อส่งออกไปยังท่าเรือทั้ง 3 แห่ง แล้วนำสินค้าขนขึ้นเรือได้ทันที

นางวิไลรัตน์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้การเลือกศึกษาไอซีดีที่ฉะเชิงเทรา เนื่องจากฉะเชิงเทราอยู่ในพื้นที่อีอีซี และเป็นเส้นทางโครงข่ายรถไฟทางคู่ของประเทศที่เชื่อมทุกภูมิภาค ทั้งภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ ตะวันตกและตะวันออกดังนั้นเหมาะที่จะเป็นจุดศูนย์กลางที่สะดวกในการขนส่งสินค้าที่ไปประเทศเพื่อนบ้านทั้งฝั่งชายแดนภาคตะวันออกที่จ.สระแก้ว เพื่อออกไปยังประเทศกัมพูชา และ กระจายสินค้าไปยังประเทศลาว ทางฝั่งชายแดนภาคอีสานจ.หนองคาย, นครพนม และ มุกดาหารได้ อย่างไรก็ตามการศึกษาโครงการดังกล่าวจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ขีดความสามารถ ลดต้นทุนในการขนส่งทางรถบรรทุก และไม่แออัดที่ท่าเรือแหลมบังแห่งเดียว ขนส่งสินค้าลงท่าเรือได้สะดวกรวดเร็ว ตรงตามเวลา เพราะต้องปิดตู้คอนเทนเนอร์และผ่านพิธีการทางศุลกากรที่ไอซีดีฉะเชิงเทราได้ทันที ไม่ต้องเสียเวลารอขนส่งขึ้นเรือที่ท่าเรือแหลมฉบัง รวมทั้งช่วยอำนวยความสะดวกในการกระจายสินค้านำเข้า-ส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ และเกิดการจ้างงานในท้องถิ่นมากขึ้น ตลอดจนเป็นกลไกพัฒนาพื้นที่จังหวัดด้านขนส่งทางโลจิสติกส์และช่วยเสนอสร้างศักยภาพพัฒนาพื้นที่อีอีซี

ที่มา : เดลินิวส์

Advertisement
Haus23
Haus23
Haus23