บีโอไอ ดึงทุน 1.3 ล้านล้าน สร้างฐานนวัตกรรมใหม่ในอีอีซี

646

จากที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ ได้มียุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนในระยะ 7 ปี (พ.ศ.2558-2564) ซึ่งเน้นส่งเสริมอุตสาหกรรมหรือกิจกรรมที่จะทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไปสู่ฐานเศรษฐกิจใหม่ที่ใช้องค์ความรู้ นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และสามารถเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว ต่อเนื่องมาจนถึง “นโยบายส่งเสริมการลงทุนในรูปแบบคลัสเตอร์” ที่ประกาศใช้ในช่วงปี 2558-2559

โดยเน้นส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่มีการรวมกลุ่มกันอยู่ในพื้นที่เฉพาะที่เรียกว่า “ซูเปอร์คลัสเตอร์” และต่อเนื่องมาถึงพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ที่เริ่มมีนโยบายเมื่อปลายปี 2559 จึงเป็นเหมือนจิ๊กซอว์ตัวสำคัญที่มาเติมเต็มทำให้ยุทธศาสตร์ใหม่ของบีโอไอเกิดผลที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

4ปีครึ่งมูลค่าลงทุน1.31ล้านล.

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากที่บีโอไอได้ดำเนินงานดังกล่าวในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา(2558-2561) มีมูลค่าคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซี รวมทั้งสิ้น 1.19 ล้านล้านบาท จากจำนวน 1,326 โครงการ ขณะที่ช่วงครึ่งปีแรก 2562 (มกราคม-มิถุนายน) มีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซีจำนวน 227 โครงการ เงินลงทุนรวม 118,050 ล้านบาท

ดังนั้น เมื่อรวมตัวเลขการลงทุนในอีอีซีตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบันจะมีจำนวนรวม 1,553 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 1.31 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 53% ของมูลค่าการลงทุนทั้งประเทศ โดยส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดชลบุรี 60% รองลงมาเป็นจังหวัดระยอง 31% และจังหวัดฉะเชิงเทรา 9%

Advertisement

อุตฯเป้าหมายเดิมพุ่ง

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา จนถึงเดือนมิถุนายน 2562 มีการลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายถึง 83% ของการลงทุนทั้งหมด มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 1.08 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่ยังอยู่ในกลุ่มที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายเดิม (First S-Curve) 655 โครงการ เงินลงทุน 1.02 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะ 3 คลัสเตอร์อุตสาหกรรมหลักในอีอีซี คือ อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจาก 3 อุตสาหกรรมนี้มีฐานที่มั่นอยู่ในอีอีซีมานานหลายสิบปีจนมีเครือข่ายการผลิตที่แข็งแกร่ง และขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง

อุตฯเป้าหมายใหม่เริ่มแรงตาม

ขณะที่สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) แม้ว่ามูลค่าเงินลงทุนอาจยังดูไม่มากนักอยู่ที่ 123 โครงการ เงินลงทุน 5.68 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับ 5 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายเดิม เพราะว่าการสร้างฐานอุตสาหกรรมใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงย่อมต้องใช้เวลา แต่ก็มีแนวโน้มการลงทุนที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพที่มีผู้สนใจลงทุนจำนวน 29 โครงการ เงินลงทุนสูงถึง 38,264 ล้านบาท

รองลงมาคือ อุตสาหกรรมอากาศยานและชิ้นส่วน (9,920 ล้านบาท) อุตสาหกรรมการแพทย์ (4,038 ล้านบาท) อุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (2,619 ล้านบาท) และอุตสาหกรรมดิจิทัล (1,999 ล้านบาท) ซึ่งบางอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ เช่น ดิจิทัล ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ นอกจากจะมีความสำคัญในตัวเองแล้ว ยังทำหน้าที่เป็น Enabler ช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมอื่นๆ ให้ก้าวสู่ยุค 4.0 ได้อีกด้วย

ธุรกิจเหล่านี้จึงเป็นจุดที่บีโอไอเน้นเป็นพิเศษ และมีมาตรการออกมา รองรับแบบครบวงจรทั้งฝั่งซัพพลายและดีมานด์ ส่งเสริมทั้งผู้ผลิตและกระตุ้นให้เกิดผู้ใช้เพื่อสร้างตลาดไปพร้อมกัน นอกเหนือจาก 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายแล้ว ยังมีโครงการลงทุนในกิจการที่น่าสนใจอื่นๆ ในพื้นที่อีอีซีด้วย เช่น กิจการวิจัยและพัฒนา และกิจการศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ ซึ่งทั้ง 2 กิจการมีมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนสูงกว่า 7,000 ล้านบาท

ทุนสหรัฐฯนำโด่ง

ส่วนคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ในพื้นที่อีอีซี ตั้งแต่ปี 2558 จนถึงเดือนมิถุนายน 2562 มีมูลค่าทั้งสิ้น 865,397 ล้านบาท อันดับ 1 เป็นนักลงทุนจากสหรัฐอเมริกา มูลค่ากว่า 3.59 แสนล้านบาท เนื่องจากมีโครงการขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและยังมีการลงทุนโครงการ อื่นๆในกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์ และอาหารแปรรูป รองลงมาเป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง เป็นต้น 

ที่มา : www.thansettakij.com

Advertisement
Haus23
Haus23
Haus23