ต่างชาติชำแหละปัจจัยเสี่ยง “เศรษฐกิจไทย” สาหัสสุดในอาเซียน

writer: Dusida Worrachaddejchai

1661
A man sells fruit to a customer from a street stall in Bangkok on June 16, 2020. (Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP)

ต่างชาติชำแหละปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจไทย ความท้าทายที่ทำให้ “เวิลด์แบงก์-ไอเอ็มเอฟ” ฟันธงโควิด-19 ทุบเศรษฐกิจไทยทรุดหนักสุดในอาเซียน ขณะที่ “เวียดนาม” ผลงานดี สัญญาณฟื้นตัวชัด ชี้ปมการพึ่งพารายได้ต่างประเทศ “ภาคส่งออก-ท่องเที่ยว” 70% ของจีดีพี เป็นเพียงส่วนหนึ่ง สื่อยักษ์ญี่ปุ่น “นิกเคอิ เอเชียนรีวิว” เผย 4 ปัจจัยเสี่ยงกดทับปัญหาเพิ่มเติม วิพากษ์ 6 ปีรัฐบาลทหาร แผนปฏิรูปประเทศล้มเหลว

ทุกสำนักชี้เศรษฐกิจไทยหนักสุด

ประเทศไทยไม่ต่างจากทุกประเทศทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด “ไทย” ดูเหมือนจะได้รับผลกระทบหนักหนาสาหัสที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน “รายงานตามติดเศรษฐกิจไทยเดือน มิ.ย. 2563” ของธนาคารโลก(เวิลด์แบงก์) ชี้ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไทยในปีนี้จะหดตัว -5% แม้จะเป็นการประเมินอย่างเมตตาปรานี แต่ก็นับว่าไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เศรษฐกิจหดตัวมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และน่าจะใช้เวลามากกว่า 2 ปีที่จะกลับไปสู่ระดับก่อนที่จะประสบปัญหาโควิด-19

ส่วนประเทศรอบข้างอย่างเวียดนาม ยังสามารถเติบโตได้ 2.8%, เมียนมาโต 1.5%, อินโดนีเซีย 0.0%, กัมพูชา -1.0%, ฟิลิปปินส์ -1.9 และมาเลเซีย -3.1%

ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจไทยไว้รุนแรงกว่านั้น โดยคาดว่าจะหดตัวถึง -7.7% ต่ำสุดในบรรดากลุ่มประเทศอาเซียนที่ไอเอ็มเอฟสำรวจคาดการณ์ล่าสุดในเดือน มิ.ย. ได้แก่ อินโดนีเซีย -0.3%, ฟิลิปปินส์ -3.6% และมาเลเซีย -3.8%

ด้านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)คาดการณ์จีดีพีของไทยในปี 2563 จะหดตัวถึง -8.1% โดยคาดว่าจะเป็นวิกฤตเศรษฐกิจที่เลวร้ายยิ่งกว่า “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ปี 2540 นอกจากนี้ สภาหอการค้าไทยยังคาดการณ์ว่า หากสถานการณ์โควิด-19 ยังคงยืดเยื้อต่อไปอีก 2-3 เดือน ตัวเลขผู้ว่างงานของไทยอาจพุ่งแตะระดับ 10 ล้านคน

Advertisement

จุดอ่อนพึ่งพารายได้ ตปท.สูง

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้พิษของโควิด-19 กระทบต่อเศรษฐกิจไทยรุนแรงมากกว่าหลายประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากประเทศไทยพึ่งพารายได้จากต่างประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวที่มีสัดส่วนสูงถึง 70% ต่อจีดีพี ประกอบกับสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าในช่วงที่ผ่านมาก็ส่งผลกระทบโดยตรง ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของภาคการส่งออกไทยลดลง

โดยล่าสุด นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยตัวเลขส่งออกของไทยในเดือน มิ.ย. 2563 มีมูลค่า 16,444.3 ล้านเหรียญสหรัฐ -23.17% ถือเป็นการขยายตัวลดลงมากที่สุดในรอบ 131 เดือน นับจากเดือน ก.ค. 2552 ขณะที่ตัวเลขส่งออก 6 เดือนแรกปีนี้ มีมูลค่า 114,343 ล้านเหรียญสหรัฐ -7.09%

สำหรับรายได้จากภาคการท่องเที่ยวที่มีสัดส่วนสูงราว 15% ของจีดีพี หลังจากที่รัฐบาลไทยจำเป็นต้องปิดกั้นการเดินทางเข้าสู่ประเทศตั้งแต่เดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ก็ทำให้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวไทยอยู่ในสถานการณ์ยากลำบาก และทำให้เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบหนักมากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน

ซีเอ็นบีซีรายงานว่า แม้ว่าสิงคโปร์ซึ่งเศรษฐกิจพึ่งพาการส่งออกสูง และเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงมากที่ 17.1% ต่อจีดีพี และยังควบคุมการระบาดของไวรัสได้ช้ากว่าไทย แต่จากการเลี่ยงการใช้มาตรการยาแรงเพื่อรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการใช้มาตรการอัดฉีดงบประมาณช่วยเหลือเยียวยาถึง 20% ของจีดีพี จึงทำให้ไอเอ็มเอฟคาดเศรษฐกิจของสิงคโปร์ปีนี้ -3.5% ซึ่งยังได้รับผลกระทบน้อยกว่าประเทศไทย

ขณะที่มาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลไทยบังคับใช้ ไม่ว่าจะเป็นการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ต่อเนื่องมาถึง 5 เดือน รวมถึงการสั่งห้ามประชาชนออกนอกเคหสถานยามวิกาล (เคอร์ฟิว) และการปิดการดำเนินการธุรกิจทั่วประเทศก่อนหน้านี้ แม้จะส่งผลให้ไทยประสบความสำเร็จในการควบคุมโรคระบาดได้อย่างรวดเร็ว แต่มาตรการควบคุมโรคเช่นนี้ได้ทำลายการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศด้วย

เวียดนามผลงานดีสุดในอาเซียน

แม้ภายหลังรัฐบาลจะผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคอย่างต่อเนื่อง แต่เศรษฐกิจไทยยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ โดยเฉพาะภาคการบริโภคที่ยังซบเซาต่อเนื่อง หากเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่ประสบความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่นกัน อย่าง “เวียดนาม” จะพบว่าเริ่มเห็นภาพการฟื้นตัวของการบริโภคภายในประเทศในทิศทางที่ดีขึ้น หลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนามระบุว่า อัตราการเติบโตของภาคการค้าปลีกของเวียดนามในเดือน พ.ค. “ติดลบ” เพียง -4.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นผลงานดีที่สุดของประเทศในอาเซียนที่ส่วนใหญ่มี “ติดลบ” ระดับ 10% นอกจากนี้ ยอดการค้าปลีกของเวียดนามในเดือน มิ.ย. ยังฟื้นตัวกลับมาสู่แดนบวก โดยเพิ่มขึ้น 5.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ขณะที่ไทยแม้ยังไม่มีการประกาศตัวเลขอัตราการเติบโตของภาคการค้าปลีกประจำเดือน พ.ค.อย่างเป็นทางการ แต่คาดการณ์ว่าจะ -20% จากเดือน เม.ย. -28.1% ปัญหาการฟื้นตัวของภาคการบริโภคในประเทศไม่สามารถกลับมาอย่างง่ายดาย เนื่องจากปัจจัย “หนี้ครัวเรือน” ของไทยที่ค่อนข้างสูง ส่งผลให้โอกาสที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจจากการบริโภคในประเทศเป็นเรื่องยาก และทำให้ไทยมีการเติบโตของจีดีพีย่ำแย่ที่สุด แม้ว่าจะควบคุมการระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4 ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจไทย

นิกเคอิ เอเชียน รีวิว รายงานบทวิเคราะห์เศรษฐกิจไทยหัวข้อ “Thailand’s Rulers must Act Fast to Reverse COVID-19 Economic Damage” ระบุถึงความท้าทายทางเศรษฐกิจที่ไทยจะต้องเผชิญ 4 ประเด็นหลัก ได้แก่

1. ภาวะช็อกทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ที่ทำให้ความต้องการของผู้บริโภคภายในประเทศต่ำ และภาคการท่องเที่ยวหยุดชะงัก

2. ค่าเงินบาทแข็งอย่างรุนแรงในช่วงที่ผ่านมาที่ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก

3.หนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงทำลายความสามารถในการใช้จ่ายของผู้บริโภค

4.อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเกือบศูนย์ ทำให้รัฐบาลต้องดำเนินนโยบายงบประมาณแบบขาดดุล

และแม้ว่าในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะผลักดันร่าง พ.ร.ก.การเงิน 3 ฉบับ วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท เพื่อพยุงเศรษฐกิจจากความเสียหายที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 แต่ “บ็อบ เฮอร์เรรา-ลิม”กรรมการผู้จัดการบริษัทวิจัยเทเนโอ (Teneo Research) ระบุว่า งบประมาณดังกล่าวอาจไม่เป็นประโยชน์อย่างเต็มที่ หากยังไม่มีการปรับเปลี่ยนนโยบายเพื่อส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ และพัฒนาความเป็นอยู่ขั้นพื้นฐานของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม

ขณะที่การลงทุนจากต่างชาติที่ผ่านมา ประเทศไทยได้สูญเสียความน่าดึงดูดในการลงทุนจากนโยบายและกฎระเบียบที่ไม่ได้รับการปรับปรุงแก้ไขให้ตอบโจทย์นักลงทุนต่างชาติ อย่างเช่น กฎระเบียบบางประการที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนธุรกิจไรด์เฮลลิ่งในไทย เป็นต้น สวนทางกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ที่มีนโยบายและปรับปรุงกฎระเบียบ รวมทั้งพัฒนาทักษะแรงงานจนกลายเป็นที่ดึงดูดของนักลงทุนต่างชาติมากกว่า

แผนปฏิรูปประเทศล้มเหลว

นอกจากนี้ สื่อญี่ปุ่นยังระบุว่า สถานการณ์ทางการเมืองของไทยภายใต้การบริหารงานของ พล.อ.ประยุทธ์ แม้จะมีความสงบเรียบร้อยในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา แต่การปฏิรูปประเทศตามเป้าหมายของการรัฐประหารในปี 2557 ยังไร้ความคืบหน้าเท่าที่ควร ขณะที่ดัชนีการคอร์รัปชั่นภาครัฐทั่วโลก (ซีพีไอ) ซึ่งจัดทำโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (ทีไอ) ยังประเมินความโปร่งใสของภาครัฐไทยที่ 36 คะแนน จาก 100 คะแนน โดยอยู่ลำดับที่ 101 จาก 198 ประเทศทั่วโลกในปี 2562 ซึ่งแทบจะไม่ต่างไปจากปี 2556 ที่ไทยได้รับ 35 คะแนน

รวมทั้งความขัดแย้งภายในรัฐบาลที่ส่งผลให้รัฐมนตรีเศรษฐกิจลาออกเมื่อไม่นานมานี้ั ยังสร้างความกังวลต่อนักลงทุนชาวต่างชาติถึงเสถียรภาพของนโยบายทางเศรษฐกิจของไทย โดยเฉพาะจีนและญี่ปุ่นที่มีสัดส่วนการลงทุนในไทยค่อนข้างสูง

ทั้งยังระบุว่า ปัจจัยเหล่านี้เป็นสิ่งที่รุมเร้าเศรษฐกิจของไทยมาอย่างยาวนาน และไม่เคยได้รับการแก้ไขอย่างตรงจุด ผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 จึงทำให้ไทยอาจจะต้องประสบภาวะเศรษฐกิจตกต่ำรุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี เลวร้ายกว่าหลายประเทศรอบข้าง และยังจะต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะฟื้นตัวสู่ระดับก่อนภาวะโรคระบาด

ที่มา : www.prachachat.net

Advertisement
Haus23
Haus23
Haus23