ไนท์แฟรงค์ประเทศไทยเผยภาพรวมตลาดโรงแรมระดับลักซูรี่ในกรุงเทพฯ ณ ช่วงครึ่งปีแรก 2564

1873
โรงแรมครึ่งปีแรก 2564

มร.คาร์ลอส มาร์ติเนซ ผู้อำนวยการฝ่ายประเมินและที่ปรึกษา บริษัท ไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย กล่าวว่า อัตราการเข้าพักโรงแรมลดลงเป็นอย่างมากในช่วงต้นปี 2564 เนื่องจากมาตรการของรัฐบาลไทยหลังจากมีการแพร่ระบาดระลอกที่สองในจังหวัดสมุทรปราการที่แพร่ระบาดเข้าสู่กรุงเทพฯอย่างรวดเร็ว จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้อัตราการจองโรงแรมลดลง แม้ว่าประเทศไทยจะประสบความสำเร็จบางส่วนในการหาวิธีควบคุมโควิด-19 แต่แผนการกระจายวัคซีนยังคงล่าช้า โดยเริ่มการกระจายวัคซีนครั้งแรกในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2564 และ ณ เดือนพฤษภาคม ปี 2564 อัตราการฉีดวัคซีนอยู่ที่เพียง 3.6% โดยได้รับวัคซีนอย่างต่ำ 1 โดส

ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำ มีการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 140,000 คนในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ซึ่งลดฮวบลงถึง 98% เมื่อเทียบปีต่อปี จาก 7.1 ล้านคนในช่วงครึ่งปีแรก 2563 เนื่องจากข้อจำกัดด้านการเดินทางระหว่างประเทศ

ในช่วงครึ่งปีแรก 2564 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมาจากยุโรป คิดเป็น 44% ตามมาด้วยเอเชียตะวันออก (28%) และสหรัฐอเมริกา (13%) แต่กลับไม่ใช่นักท่องเที่ยวชาวจีน เนื่องจากจีนห้ามเดินทางออกนอกประเทศ

อุปทานและอุปสงค์

เขตสุขุมวิทตอนต้นเป็นที่ตั้งของโรงแรมระดับลักซูรี่เป็นส่วนใหญ่ โดยคิดเป็น 39% ของอุปทานทั้งหมด รองลงมา คือ เขตลุมพินี (24%) โรงแรมบริเวณริมแม่น้ำ (17%) และเขตสีลม/สาทร (14%)

ในช่วงครึ่งปีแรก 2564 อัตราการเข้าพักเฉลี่ยของโรงแรมระดับลักซูรี่ในกรุงเทพฯ ปรับลดลง 20% โดยหลังจากการระบาดระลอกที่ 2 ในช่วงต้นปี ภาคการท่องเที่ยวเริ่มค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นอย่างช้าๆ โดยมีอัตราการเข้าพักเพิ่มขึ้นจาก 18 % ในเดือนมกราคม เป็น 27% ในเดือนมีนาคม แต่พอเมื่อเจอการระบาดระลอกที่ 3 ในเดือนเมษายน อัตราการเข้าพักปรับลดลงเหลือ 16% และ 17% ในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน ตามลำดับ

Advertisement

ในส่วนของราคาเฉลี่ยรายวัน (ADR) ของโรงแรมระดับลักซูรี่ในช่วงครึ่งปีแรก 2564 ปรับลดลง 36% ปีต่อปี อยู่ที่ 3,072 บาท เพราะส่วนใหญ่โรงแรมที่ยังเปิดให้บริการอยู่ต้องแข่งขันกันจัดโปรโมชั่นและเสนอส่วนลดต่างๆ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวภายในประเทศที่ยังซบเซา

ไม่มีโรงแรมระดับลักซูรี่เปิดใหม่ในกรุงเทพฯในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา เนื่องจากการเปิดประเทศที่ยังไม่แน่นอนและระยะการฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ โรงแรมที่มีแผนจะเปิดให้บริการในปี 2564 จำต้องเลื่อนออกไป เช่น แอสคอทท์ เอ็มบาสซี สาทร กรุงเทพฯ (361 ห้อง) แอสคอทท์ ทองหล่อ กรุงเทพฯ (445 ห้อง) และ เดอะ สแตนดาร์ด โฮเทล มหานคร (154 ห้อง)

แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีโรงแรมระดับอัพสเกลและมิดสเกลเปิดให้บริการรวมทั้งสิ้น 270 ห้อง ได้แก่ โรงแรมไมตรี พระราม 9 กรุงเทพฯ (110 ห้อง) และเดอะ ควอเตอร์ สีลม (160 ห้อง)

จำนวนห้องพักโรงแรมระดับลักซูรี่ในกรุงเทพฯ ณ ครึ่งปีแรก  2564 มีทั้งหมด 20,555 ห้อง ซึ่งไม่มีการเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่ปี 2563

ภาพรวม

มร. มาร์ติเนซ กล่าวสรุปว่า ภาคการท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ จำเป็นต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นอย่างมาก จำนวนผู้โดยสารขาเข้าระหว่างประเทศยังคงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ เพราะกฎระเบียบการกักตัวก่อนเข้าประเทศที่เข้มงวด ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2563 ส่งผลให้อัตราการเข้าพักโรงแรมอยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์

โรงแรมหลายแห่งยังคงปิดให้บริการเป็นบางส่วนหรือทั้งหมด เนื่องจากความต้องการโรงแรมมีเพียงจากนักท่องเที่ยวภายในประเทศ และนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาภายใต้โครงการสถานกักกันทางเลือก (Alternative State Quarantine) จนกว่าการเดินทางระหว่างประเทศจะเปิดขึ้นอีกครั้ง ผู้ประกอบการโรงแรมยังคงต้องพึ่งพาความต้องการจากนักท่องที่ยวในประเทศ โครงการสเตเคชั่น (staycation) และนักท่องเที่ยวที่ได้รับการกักตัวแล้ว ดังนั้นอัตราการเข้าพักและราคาเฉลี่ยรายวันคาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำตลอดทั้งปี 2564

ก่อนการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกครั้ง รัฐบาลไทยตั้งเป้าการฉีดวัคซีนประชาชนไว้ที่ 70% ในสิ้นปี 2564 อย่างไรก็ตาม อัตราเฉลี่ยของผู้ที่ได้รับวัคซีนที่มีเพียง 200,000 โดสต่อวัน ซึ่งยังคงห่างจากเป้าหมายที่ตั้ง โดยจำเป็นต้องฉีด 400,000 โดสต่อวัน เพื่อให้ 40% ของประชากรทั้งหมดได้รับวัคซีนภายในกลางเดือนตุลาคม

รอบการระบาดที่รุนแรงที่สุดเกิดขึ้นในเดือนเมษายน และขึ้นไปจุดสูงสุดในเดือนมิถุนายน โดยมีกฎและข้อบังคับต่างๆ ถูกใช้ในเขตกรุงเทพฯ และอีก 9 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน เป็นเวลาอย่างน้อย 30 วัน

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการของโรงแรมในประเทศไทยในปี 2564 และปีต่อๆ ไป เพราะดูท่าทีการแพร่ระบาดนี้ยังไม่จบง่ายๆ รวมถึงการเดินทางระหว่างประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัว

หากข้อจำกัดต่างๆ เริ่มผ่อนคลายลงและยกเลิกการกักตัว เราคาดว่าจะเริ่มค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นจากความต้องการสะสมจากการเดินทางระหว่างประเทศ กรุงเทพฯยังเป็นเมืองที่น่าสนใจ ในฐานะเป็นหนึ่งในจุดหมายที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมามากที่สุดในโลก ที่จัดทำโดยมาสเตอร์การ์ด ในปี 2557 ซึ่งเราสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วในหลายๆ วิกฤตที่ผ่านมา นอกจากนี้กรุงเทพฯ ยังเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งที่ตั้งอยู่ใจกลางเอเชีย ที่มีการเชื่อมโยงกับเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญอื่นๆ ในภูมิภาค อีกทั้งจำนวนนักธุรกิจที่เดินทางเข้ามาในประเทศยังมีสัดส่วนค่อนข้างมาก ซึ่งคาดว่าน่าจะกลับมาหลังโควิด-19

Advertisement
Haus23
Haus23
Haus23