ดัชนีเชื่อมั่นอสังหาฯ Q4/64 ฟื้นหลังรัฐแก้ LTV-ต่ออายุลดค่าโอน/จดจำนอง

780
อสังหา Q4 ฟื้นตัว

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ไตรมาส 4 ปี 2564 ผลจากการผ่อนปรนเกณฑ์ LTV ดันภาพรวมขยับขึ้นสูงขึ้นหลังจากต่ำกว่าค่ากลางต่อเนื่องถึง 10 ไตรมาส

วันที่ 12 มกราคม 2565 ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC) รายงานดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ในภาวะปัจจุบัน (Current Situation Index) ภาพรวมของไตรมาส 4 ปี 2564 มีค่าดัชนีเท่ากับ 52.0 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QOQ)

และมีค่าดัชนีสูงกว่าค่ากลางที่ระดับ 50.0 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นในการประกอบธุรกิจเพิ่มสูงขึ้นเป็นไตรมาสแรกหลังจากที่มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นต่ำกว่าค่ากลางต่อเนื่องกันมาเป็นระยะเวลาถึง 10 ไตรมาส

ขณะที่ความเชื่อมั่นในอีก 6 เดือนข้างหน้า มีค่าเท่ากับ 62.0 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ระดับ 57.2 และมีการเพิ่มขึ้นเกือบทุกปัจจัย เป็นผลมาจากการต่อมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ และการจดจำนอง

ปัจจัยหนุน “เปิดประเทศ-ผ่อนปรน LTV”

ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ กล่าวว่า ค่าดัชนีในไตรมาส 4/64 เพิ่มสูงขึ้นมีปัจจัยสนับสนุนมาจากธนาคารแห่งประเทศประกาศผ่อนคลายมาตรการ LTV ชั่วคราว สำหรับสัญญาเงินกู้ที่ทำสัญญาตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด รวมถึงการเปิดประเทศในต้นเดือนธันวาคม 2564 คาดว่าจะส่งผลเชิงบวกต่อการกลับมาของกำลังซื้อที่อยู่อาศัยของคนต่างชาติ ทำให้ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นในทิศทางที่เป็นบวกเพิ่มขึ้น

Advertisement

ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการกลุ่ม Listed Companies มีค่าดัชนีเท่ากับ 56.3 สูงกว่าค่ากลางที่ระดับ 50 และสูงกว่าไตรมาส 3/64 ที่มีค่าดัชนี 50.0 แสดงให้เห็นว่ามีความเชื่อมั่นต่อธุรกิจในภาวะปัจจุบันเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากยอดขายที่เพิ่มขึ้นโดยมีค่าดัชนีเท่ากับ 62.5 สูงกว่าไตรมาส 3/64 การเปิดตัวโครงการใหม่หรือเฟสใหม่มีค่าดัชนีเท่ากับ 60.3 สูงกว่าไตรมาส 3/64 เช่นเดียวกัน

ขณะที่ผู้ประกอบการกลุ่ม Non-listed Companies มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นเท่ากับ 45.5 เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3/64 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 42.7 และมีแนวโน้มดัชนีในด้านต่าง ๆ เพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกันกับกลุ่ม Listed Companies เห็นได้จากยอดขายที่มีค่าดัชนีเท่ากับ 48.1 และเปิดตัวโครงการใหม่หรือเฟสใหม่มีค่าดัชนีเท่ากับ 47.1 ซึ่งสูงกว่าไตรมาส 3/64

อย่างไรก็ดี ค่าดัชนีของกลุ่ม Non-listed Companies ในทุกด้านยังคงต่ำกว่าค่ากลางที่ระดับ 50 แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นต่อธุรกิจในภาวะปัจจุบันที่อยู่ในระดับที่ต่ำ และต่ำกว่าผู้ประกอบการกลุ่ม Listed Companies อย่างมีนัยสำคัญ

6 เดือนหน้าค่าดัชนีขาขึ้น

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ในภาพรวมอีก 6 เดือนข้างหน้า (Expectations Index) มีค่าเท่ากับ 62.0 เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3/64 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 57.2 และมีการเพิ่มขึ้นเกือบทุกปัจจัย ยกเว้นในปัจจัยของต้นทุนผู้ประกอบการที่ต่ำกว่าค่ากลางที่ระดับ 50.0 สะท้อนความเชื่อมั่นต่อในเชิงบวกเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากรัฐบาลต่ออายุมาตรการลดค่าโอนและจดจำนองสำหรับที่อยู่อาศัยที่ไม่เกิน 3 ล้านบาท และขยายครอบคลุมไปถึงบ้านมือสองด้วย จากเดิมที่ให้เฉพาะบ้านใหม่ไป เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2564 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565

และผู้ประกอบการคาดการณ์ว่าหากมีการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศได้มากขึ้นจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ทำให้กำลังซื้อเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ความเชื่อมั่นต่อการพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในอีก 6 เดือนข้างหน้าเพิ่มมากขึ้น

กลุ่มผู้ประกอบการ Listed Companies มีค่าดัชนีความเชื่อมั่น 6 เดือนข้างหน้าเท่ากับ 67.4 เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3/64 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 62.9 สูงกว่าค่ากลางที่ระดับ 50.0 และจะเห็นได้ว่ามีการเพิ่มขึ้นในทุกปัจจัยอย่างมีนัยสำคัญ

ขณะที่กลุ่ม Non-listed Companies มีค่าดัชนีเท่ากับ 54.0 เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3/64 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 48.7 และสูงกว่าค่ากลางที่ระดับ 50.0 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในทุกปัจจัยเช่นเดียวกัน

จึงเห็นได้ชัดเจนว่าผู้ประกอบการกลุ่ม Non-listed Companies และผู้ประกอบการกลุ่ม Listed Companies เริ่มมีความมั่นใจในอีก 6 เดือนข้างหน้ามากยิ่งขึ้น

ที่มา : www.prachachat.net

Advertisement
Haus23
Haus23
Haus23