ภาคเอกชน ญี่ปุ่น-จีน 260 บริษัทหารือจับมือลงทุน อีอีซี นำร่องสาขาขนส่งโลจิสติกส์–พลังงาน–สมาร์ทซิตี้ มั่นใจครึ่งปีหลังจีนเข้ามาลงทุนเพิ่ม ด้านญี่ปุ่น ไม่กังวลปัญหาการเมือง ยืนยันไทยยังน่าลงทุน เผย อีอีซี เป็นแม่เหล็กดึงดูดที่สำคัญ
ญี่ปุ่นและจีนประกาศความร่วมมือเข้าไปลงทุนในประเทศที่ 3 เมื่อวันที่ 9 พ.ค.2561 โดยต่อมาในเดือน ต.ค.2561 นายชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญีปุ่น และนายสีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ได้ประชุมความร่วมมืออีกครั้งที่ประเทศจีน ซึ่งการประชุมครั้งนี้ได้เชิญไทยเข้าร่วมเพียงประเทศเดียว และประกาศร่วมมือเข้ามาลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)
รวมทั้งมีการลงนามความร่วมมือระหว่างธนาคาร ICBC ของจีน
และธนาคาร Mizuho ของญี่ปุ่น
เรื่องความร่วมมือทางการเงินในการสนับสนุนนักลงทุนจีนและญี่ปุ่นในประเทศที่
3 ซึ่งระบุชัดเจนถึงการเข้ามาลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)
และในช่วง 1 ปี ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
(สกพอ.) ได้ประสานกับ 2 ประเทศ อย่างใกล้ชิด โดยล่าสุดวานนี้ (2 เม.ย.)
ได้จัดสัมมนาสัมมนา Japan – China Workshop on Business Cooperation in
Thailand
เอกชน260บริษัทบุกอีอีซี
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สกพอ.เปิดเผยว่า หลังจากจีนและญี่ปุ่นทำข้อตกลงความร่วมมือไปลงทุนประเทศที่ 3 ซึ่งเป็นการร่วมมืออย่างใกล้ชิดเป็นครั้งแรก และทั้ง 2 ประเทศมีเป้าหมายตรงกันที่จะลงทุนในอีอีซี หลังจากนั้นนักธุรกิจทั้ง 2 ประเทศได้หารือร่วมกันมาโดยตลอด ซึ่งเห็นการที่ทั้ง 2 ประเทศ เข้าเป็นพันธมิตรประมูลโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซี เช่น รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3
ทั้งนี้ ล่าสุดองค์การส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) และคณะกรรมการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (China Council for the Promotion of International Trade : CCPIT) จัดสัมมนาดังกล่าว มีนักธุรกิจญี่ปุ่น–จีน 260 บริษัท รวมทั้งนักธุรกิจไทยจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเข้าร่วม เพื่อสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ ระหว่างภาคเอกชนญี่ปุ่น-จีน ในการร่วมลงทุนอีอีซี
จีน-ณี่ปุ่นสนใจลงทุน3สาขา
นายคณิศ กล่าวว่า จะเป็นพื้นที่ตัวอย่างของความร่วมมือการลงทุนของภาคเอกชนญี่ปุ่นและจีนในประเทศที่ 3 ให้เกิดขึ้นจริง โดยมีสาขาธุรกิจที่มีความเป็นไปได้สูง 3 สาขา ได้แก่ สาขาการขนส่งและโลจิสติกส์ สาขาพลังงานและสิ่งแวดล้อม และสาขาเมืองอัจฉริยะ เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการเมืองอัจฉริยะ (สมาร์ทซิตี้) จึงนับเป็นก้าวสำคัญของความร่วมมือการลงทุนระหว่างญี่ปุ่นและจีนในประเทศที่ 3 ที่เห็นผลเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน อีกทั้งเป็นเวทีต่อยอดให้ภาคเอกชนญี่ปุ่นและจีน ที่ได้แสดงความสนใจลงทุนในพื้นที่ อีอีซี อย่างต่อเนื่อง
“ความร่วมมือระหว่างจีนกับญี่ปุ่น เป็นการนำจุดแข็งของแต่ละฝ่ายมาส่งเสริมกันเพื่อออกไปลงทุนในต่างประเทศ โดยญี่ปุ่นมีจุดแข่งเรื่องความเชี่ยวชาญในการออกไปลงทุนต่างประเทศ ขณะที่จีนมีประสบการณ์ด้านนี้น้อย แต่มีจุดแข็งเรื่องการก่อสร้างและเทคโนโลยี รวมทั้งรัฐบาล 2 ประเทศ สนับสนุนเต็มที่”
สถาบันการเงิน2ชาติหนุน
ทั้งนี้ ความร่วมมือของทั้ง 2 ประเทศไปลงทุนในประเทศที่ 3 มีนักลงทุนในอุตสาหกรรมต่างๆเป็นผู้นำลงทุน และมีสถาบันการเงินของทั้ง 2 ประเทศพร้อมให้การสนับสนุนด้านการเงินอีกด้วย รวมทั้งรัฐบาลญี่ปุ่นได้จัดตั้งกองทุน Japan Overseas Infrastructure Investment (JOIN) มีทุนเริ่มต้น 30 ล้านดอลลาร์ เพื่อสนับสนุนในการลงทุนประเทศที่ 3 ทำให้ความร่วมมือครั้งนี้มีความพร้อมในการออกไปลงทุนอย่างเต็มที่ โดยการลงทุนในอีอีซีช่วงแรก บริษัทญี่ปุ่นจะเข้ามาลงทุนมาก ขณะที่บริษัทจากจีนยังไม่ได้เข้ามาลงทุนเต็มรูปแบบ ต่อคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังจีนจะเข้ามาลงทุนมากขึ้น
“ในความร่วมมือระหว่างจีน-ญี่ปุ่นในช่วงแรกจะสนใจลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานหลักทั้ง 5 โครงการ แต่หลังจากที่ได้ตัวผู้ลงทุนในโครงการหลักที่คาดว่าจะได้ข้อสรุปทั้งหมดภายในเดือน เม.ย.นี้ นักลงทุนในภาคอุตสาหกรรมของทั้ง 2 ประเทศ ก็จะทยอยเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง”
ส่วนในเรื่องของความกังวลด้านการเมืองของไทยนั้น ได้มีนักลงทุนต่างชาติได้สอบถามมาในเรื่องนี้ ก็ได้ให้ความมั่นใจว่า อีอีซี มีกฎหมายของตัวเอง มีสำนักงานที่ผลักดันโครงการต่อเนื่อง และในกฎหมาย อีอีซี ยังได้กำหนดให้นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธาน คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกโดยตำแหน่ง ทำให้ทุกรัฐบาลจะต้องดำเนินโครงการ อีอีซีอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งโครงการ อีอีซี ยังเกิดประโยชน์ต่อประเทศในภาพรวม ดังนั้นทุกรัฐบาลจะเข้ามาช่วยผลักดันเพื่อให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้า
ไม่กังวลการเมืองเปลี่ยนแปลง
นายมาซาคิ อิชิกาว่า อธิบดีสำนักความร่วมมือการค้าและเศรษฐกิจ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (เมติ) ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า สาเหตุที่ทั้งจีนและญี่ปุ่นเลือกลงทุนในไทยเป็นที่แรก เพราะว่าจีนและญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลไทยมานาน และอีอีซีเปิดรับการลงทุนจากจีนและญี่ปุนเต็มที่ ซึ่งจะเกิดประโยชน์ทั้งจีน ญี่ปุ่น และไทย
ส่วนในเรื่องการเลือกตั้งของไทยนั้น ทางญี่ปุ่นมองว่าที่ผ่านมาไทยผ่ายการเลือกตั้งมาหลายครั้งนโยบายส่งเสริมการลงทุนก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลง ญี่ปุ่นยับงมองว่าไทยน่าลงทุน และมีความสำคัญในฐานะการเป็นฐานการลงทุนขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น ส่วนเรื่องการพิจารณาประเทศที่จีนและญี่ปุ่นจะออกไปลงทุน จะดูความน่าเชื่อถือทางการเงินว่ามีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน หากมีความเสี่ยงน้อย และน่าลงทุน ก็จะไปลงทุนทุกที่
“ไทยต้อนรับการลงทุนทั้งจีนและญี่ปุ่นมีแผนเชิงรุกในการลงทุน และในอีอีซี มีบริษัทญี่ปุ่นเข้ามามาก ถ้าสามารถสร้างโครงการที่ดีในอีอีซีจะเอื้อประโยชน์ให้บริษัทญี่ปุ่นและไทย รวมทั้งอีอีซี มีทำเลที่ตั้งอยู่กึ่งกลางอาเซียน เป็นที่ที่ผ่านงทุนกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ”
ด้านการผลักดันความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซป) นั้นญี่ปุ่นพยายามผลักดันอย่างเต็มที่ และมั่นใจว่าไทยก็เห็นถึงความสำคัญของ อาร์เซปเช่นกัน ดังนั้นในฐานะที่ไทยเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ จึงหวังว่าไทยจะเป็นผู้นำในการผลักดันอาร์เซปในเวทีอาเซียนให้คืบหน้า
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ