ความคืบหน้ารถไฟฟ้าความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน

1256
ความคืบหน้ารถไฟฟ้าความเร็วสูง

ความคืบหน้ารถไฟฟ้าความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน

ปัจจุบันโครงการรถไฟความเร็วสูง หรือไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา) เมกะโปรเจ็กต์สำคัญในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor หรือ EEC) ตามแผนยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล มีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก ซึ่งคาดว่าเมื่อโครงการแล้วเสร็จในปี 2566 จะสามารถกระตุ้นภาคเศรษฐกิจไทย และยังหนุนการลงทุนของภาคอสังหาริมทรัพย์ไทยในอนาคตด้วย

คืบหน้าไฮสปีดเทรน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา

สำหรับการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา) เป็นการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน โดยที่ผ่านมาได้มีการเปิดให้เอกชนยื่นซองประมูลโครงการ มีเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศให้ความสนใจยื่นซองประมูล 31 ราย ล่าสุด กิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัด หรือกลุ่ม CP และพันธมิตร มีภาษีดีกว่ารายอื่นหลังยื่นข้อเสนอให้รัฐสนับสนุนต่ำสุดอยู่ที่ 117,227 ล้านบาท

หลังจากนี้คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมทุนโครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน (สุวรรณภูมิ ดอนเมือง และอู่ตะเภา) เตรียมนัดกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัด หรือ กลุ่ม CP มาเจรจาเพื่อตรวจดูข้อตกลงในร่างสัญญาให้เข้าใจตรงกัน คาดว่าจะนำข้อสรุป พร้อมเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ด EEC) และเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีภายในเดือนพฤษภาคม 2562 โดยคาดว่าจะสามารถลงนามสัญญาได้ไม่เกินกลางเดือนมิถุนายน 2562

โดยเอกชนจะเข้าร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP Net Cost มีระยะเวลาสัมปทานถึง 50 ปี โดยที่ภาครัฐจะร่วมลงทุนด้วยภายใต้วงเงินไม่เกิน 119,425.75 ล้านบาท ขณะที่ผู้ร่วมทุนภาคเอกชนจะรับสัมปทาน ทั้งการก่อสร้าง จัดหาระบบการเดินรถ และยังได้สิทธิ์พัฒนาที่ดินอีกหลายผืน รวมถึงสิทธิ์ในการเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์

Advertisement
ผู้ประกอบการหนุนรัฐ พัฒนา EEC จุดพลุอสังหาฯ ตอบโจทย์นักลงทุนไทย-ต่างชาติ

อู่ตะเภาเดินหน้าเปิดดิวตี้ฟรี รับนักท่องเที่ยวเพิ่ม

เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2562 สนามบินอู่ตะเภาได้เปิดใช้อาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ของสนามบินอู่ตะเภา ให้บริการเชิงพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบ โดยอาคารหลังใหม่มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 22,000 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารได้ 3-5 ล้านคนต่อปี ปัจจุบันมีผู้โดยสารมาใช้บริการประมาณ 2 ล้านคนต่อปี และมีเที่ยวบินประมาณ 15,767 เที่ยวบินต่อปี คาดว่าอีก 1-2 ปีข้างหน้าจะเต็มขีดความสามารถ เนื่องจากมีสายการบินมาใช้บริการเพิ่มขึ้น 17 สายการบิน รวม 33 เส้นทางบิน

นอกจากนี้ยังได้เอกชนเข้ามาพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ 2,000 ตารางเมตร ภายในอาคารหลังใหม่ ซึ่งใช้โมเดลเดียวกับสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง ถือเป็นครั้งแรกที่กองทัพเรือเปิดให้เอกชนเข้าร่วม PPP ระยะเวลาสัมปทาน 10 ปี โดย บจ.คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี เป็นผู้ชนะบริหารพื้นที่สินค้าปลอดภาษี (ดิวตี้ฟรี) และคอนซอร์เตี้ยม กิจการร่วมการงานระหว่างบริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด และดีเอฟเอส เวนเจอร์ สิงคโปร์ เป็นผู้ชนะประมูลพื้นที่ร้านค้าปลีก

EEC หนุนเศรษฐกิจ ดึงนักลงทุนทั้งในไทยและต่างประเทศ

รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา) ในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก มีระยะทางรวม 220 กิโลเมตร วงเงิน 224,544 ล้านบาท มีทั้งหมด 9 สถานี เป็นสถานียกระดับ 7 สถานี ได้แก่ สถานีดอนเมือง สถานีกลางบางซื่อ สถานีมักกะสัน สถานีฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรี สถานีศรีราชา และสถานีพัทยา และเป็นสถานีใต้ดิน 2 สถานี ได้แก่ สถานีสุวรรณภูมิ และสถานีอู่ตะเภา

คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้ใช้บริการได้ในปี 2566 ด้วยความเร็ว 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำให้สามารถเชื่อมกรุงเทพฯ-อู่ตะเภาได้ภายใน 45 นาที

ภาคตะวันออกของไทยจึงกลายเป็นทำเลที่น่าจับตาและเป็นพื้นที่ที่มีโอกาสเติบโต หลังจากการมาของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 (สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา) นอกจากจะเพื่อรองรับการเติบโตของเมือง ยังช่วยสร้างเม็ดเงินให้กับจังหวัดในกลุ่มนี้ และการเข้ามาของแรงงานที่มากขึ้น

นอกจากนี้ ตามพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 ยังปลดล็อกให้ต่างชาติสามารถถือครองโฉนดที่ดิน ถือกรรมสิทธิ์คอนโดมิเนียม ได้เต็ม 100% โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 15 พฤษภาคม 2561 ทำให้ปัจจุบันมีผู้ประกอบการจากส่วนกลางและชาวต่างชาติเชื่อมั่น ให้ความสนใจเข้าลงทุนพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก


real estate EEC 1

อานิสงส์ราคาที่ดินถีบตัวสูง สัตหีบพุ่ง 100%

จากศักยภาพของทำเลที่เพิ่มขึ้นทำให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ได้รับอานิสงส์ตามไปด้วย จากข้อมูลของพลัส พร็อพเพอร์ตี้ ระบุว่า ราคาที่ดินในพื้นที่ EEC ทั้ง 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ระยอง และชลบุรี เมื่อเทียบจากราคาประเมินของกรมธนารักษ์โดยยึดราคาสูงสุดในแต่ละอำเภอที่มีการประเมินเป็นตัวเทียบการขยายตัว พบอัตราการเติบโตของราคาที่ดินโดยเฉลี่ยในชลบุรี และฉะเชิงเทราอยู่ที่ 30-40% ส่วนระยอง ขยายตัวราว 0.3%

หากวิเคราะห์ลงลึก พบว่า อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ราคาประเมินที่ดินสูงขึ้น 69% อ.ศรีราชา สูงขึ้น 14% และ อ.สัตหีบ สูงขึ้น 100% เมื่อเทียบราคาระหว่างปี 2555-2558 กับปี 2559-2562

บ้านเดี่ยว-คอนโดฯ บูมรับ EEC

ความเคลื่อนไหวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ EEC ทั้ง 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ระยอง และชลบุรี (พัทยา บางแสน ศรีราชา และสัตหีบ) พบอุปทานเสนอขายในพื้นที่ปี 2561 ประมาณ 121,377 ยูนิต ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดชลบุรี 77% (93,287 ยูนิต) โครงการที่เสนอขายในระยอง กับฉะเชิงเทรา ยังเน้นโครงการบ้านเดี่ยวประมาณ 60% จากยูนิตเสนอขายในแต่ละจังหวัด (ยอดยูนิตเสนอขายรวมในจังหวัด ระยอง 18,409 ยูนิต ฉะเชิงเทรา 9,681 ยูนิต)

สิทธิพิเศษ EEC

ส่วนชลบุรีนิยมพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียม ประมาณ 53% จากจำนวนโครงการที่เสนอขาย 93,287 ยูนิต ซึ่งตอบรับความต้องการของกลุ่มแรงงานและประชาชนที่สนใจซื้อคอนโดมิเนียมเพื่อการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มราคาที่นิยมพัฒนาโดยมากเป็นกลุ่ม 1.00-2.99 ล้านบาท จะมีเพียงบ้านเดี่ยวที่นิยมพัฒนาโครงการระดับ 3.00-4.99 ล้านบาท

EEC

แน่นอนว่านับจากนี้จะได้เห็นความคืบหน้าทั้งการพัฒนาโครงการ EEC อย่างโครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา) ที่เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น รวมถึงโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ประกอบการหลายรายเตรียมจ่อคิวลงสนามในอนาคต จากการเล็งเห็นโอกาสการเติบโตของภาคตะวันออก ตอบรับกับความต้องการที่อยู่อาศัยจะขยายตัวสู่รอบนอกมากขึ้น แต่ยังเชื่อมถึงใจกลางเมืองได้ด้วยระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพ

ที่มา : DDproperty

คลิก เพื่ออ่านบทความต้นฉบับ

Advertisement
Haus23
Haus23
Haus23