‘คณิศ’ ยัน 5 เมกะโปรเจ็กต์อีอีซี รัฐบาลใหม่ถอนการประมูลย้อนหลังไม่ได้

736

บอร์ดอีอีซีรับทราบความก้าวหน้า 5 โครงการหลัก ‘คณิศ’ ยัน! ต้องจบในรัฐบาลชุดนี้ เพราะสามารถทำงานได้จนถึงวันสุดท้ายก่อนมีรัฐบาลใหม่ และไม่สามารถย้อนกลับมาทบทวนโครงการที่มีการประกาศผู้ชนะประมูลไปแล้ว

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้รับทราบถึงความคืบหน้าในการดำเนินงาน 5 โครงการหลักสำคัญในการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี โดยทั้ง 5 โครงการหลัก เอกชนยังเดินหน้าร่วมลงทุนได้ตามเป้าหมาย และคาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาได้ทั้งหมดภายในเดือน เม.ย. 2562

นายคณิศ แสงสุพรรณ

โดยโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน อยู่ระหว่างการเจรจากับผู้ผ่านการประเมินข้อเสนอ ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในเดือน ม.ค. นี้ ซึ่งอัยการจะตรวจร่างสัญญาแล้วเสร็จและเสนอ กพอ. อนุมัติผลการคัดเลือกภายในเดือน ก.พ. 2562 ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี

“โครงการนี้ที่เกิดความล่าช้า ก็เพราะหลังจากเปิดซองราคาแล้วต้องมีการเจรจาต่อรองกับผู้เสนอเงื่อนไขดีที่สุดให้กับรัฐ ซึ่งบางข้อเสนอที่เสนอมา ภาครัฐอาจรับไม่ได้ หรือ เสียผลประโยชน์ ก็ต้องมีการต่อรองกัน ซึ่งการเจรจาต่อรองของโครงการรถไฟฟ้าบางสายที่เกิดขึ้นมาแล้ว เคยมีระยะเวลาถึง 2 เดือนกว่าจะได้ข้อยุติ ดังนั้น การเจรจาต่อรองโครงการนี้เพื่อที่รับจะได้ประโยชน์สูงสุด”

Advertisement

ส่วนโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก อยู่ระหว่างการตอบคำถามผู้ซื้อเอกสารการคัดเลือก และจะประชุมชี้แจงเอกสารการคัดเลือกเอกชน ครั้งที่ 2 ในวันที่ 8 ก.พ. 2562 โดยกำหนดให้เอกชนยื่นข้อเสนอในวันที่ 28 ก.พ. 2562 คาดว่าจะได้ผู้ผ่านการประเมินภายในกลางเดือน เม.ย. 2562

โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ท่าเทียบเรือ F หลังจากการเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอในวันที่ 14 ม.ค. 2562 มีผู้สนใจยื่นข้อเสนอ 1 ราย และไม่ผ่านการประเมินคุณสมบัติ คณะกรรมการคัดเลือกได้พิจารณาแล้วให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชนอีกครั้ง ในวันที่ 21 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยนำความคิดเห็นภาคเอกชนมาปรับปรุงเอกสารคัดเลือกให้เป็น International Bidding มากขึ้น และประกาศเชิญชวนเชิญชวนการคัดเลือกเอกชนในวันที่ 24 ม.ค. 2562 และขายเอกสารคัดเลือกเอกชนฉบับแก้ไขวันที่ 28 ม.ค. ถึงวันที่ 1 ก.พ. 2562 โดยให้เอกชนยื่นข้อเสนอใหม่วันที่ 29 มี.ค. 2562 คาดว่าจะได้ผู้ผ่านการประเมินภายในเดือน เม.ย. 2562

“การประมูลโครงการนี้ เอกชนทั้ง 32 รายที่ซื้อซองประมูลไปแล้ว สามารถเข้ามารับซองในการยื่นข้อเสนอได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ส่วนรายใหม่ที่มีความประสงค์จะเข้ามาซื้อซองก็สามารถทำได้ ซึ่งหลังจากได้ชี้แจงกับนักลงทุนไปแล้ว เมื่อวันที่ 21 ม.ค. ที่ผ่านมา ทุกฝ่ายก็รับในข้อเสนอที่ให้ขยายเวลาการยื่นข้อเสนอออกไป รวมทั้งการปรับปรุงเงื่อนไขในทีโออาร์บางส่วน ไม่ว่าจะเป็น นักลงทุนจากจีน ญี่ปุ่น และสิงคโปร์”

โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 สิ้นสุดการตอบคำถามเกี่ยวกับเอกสารการคัดเลือกเอกชน ในวันที่ 22 ม.ค. 2562 ให้เอกชนยื่นข้อเสนอในวันที่ 6 ก.พ. 2562 คาดว่าจะประกาศผู้ผ่านการประเมินภายในเดือน มี.ค. 2562

โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภาอยู่ระหว่างให้เอกชนส่งคำถามผ่านอีเมลถึงวันที่ 4 ก.พ. 2562 และเปิดให้ตรวจสอบข้อมูลโครงการถึงวันที่ 1 ก.พ. 2562 หลังจากนั้นจะเปิดซองข้อเสนอจาก บริษัท Airbus S.A.S. ในวันที่ 18 ก.พ. 2562 และประเมินข้อเสนอแล้วเสร็จภายในเดือน ก.พ. 2562

นายคณิศ ให้ความเห็นว่า ทั้ง 5 โครงการดังกล่าวนี้ ยังอยู่ในในระยะเวลาการดำเนินงานตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ แม้ว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น โครงการต่าง ๆ จะยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้ เนื่องจากเป็นการลงทุนของภาคเอกชนเป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้ใช้งบประมาณของภาครัฐมากนัก และรัฐบาลชุดนี้ยังสามารถดำเนินงานจนถึงวันสุดท้ายก่อนที่จะมีการตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งทั้ง 5 โครงการ น่าจะได้ข้อยุติทั้งหมดแล้ว

 

ส่วนข้อกังวลว่า รัฐบาลใหม่จะมาทบทวนการประมูลโครงการต่าง ๆ นั้น คงไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะหากมีการประกาศผู้ชนะไปแล้ว คงไม่สามารถย้อนกลับมารื้อการประมูลโครงการได้

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังรับทราบรายงานการรับฟังความคิดเห็น (ร่าง) แผนผังพัฒาอีอีซี ที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง ร่วมกันจัดทำ โดยได้รับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะของผู้มีส่วนได้เสีย ประชาชน และชุมชนที่เกี่ยวข้อง มาแล้ว 4 ครั้ง มีผู้เข้าร่วมกว่า 400 คน ซึ่งได้ข้อสรุปเห็นด้วยกับแนวทางในการจัดทำแผนผังดังกล่าว โดยให้เตรียมพื้นที่รองรับให้เพียงพอกับการขยายตัวของภาคเศรษฐกิจและการแบ่งโซนพื้นที่ รวมทั้งกระจายผลประโยชน์ให้ประชาชนอย่างทั่วถึง และเพิ่มเรื่องการประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับประชาชนให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

โดยมีกรอบแนวคิดการจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินและแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค 8 ระบบ ตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 ซึ่งประกอบด้วย 1.ระบบสาธารณูปโภค 2.ระบบคมนาคมและขนส่ง 3.ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 4.ระบบการตั้งถิ่นฐานและภูมิสังคม 5.ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมแก่การประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย อุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ และการประกอบกิจการ 6.ระบบบริหารจัดการน้ำ 7.ระบบการควบคุมและขจัดมลภาวะ 8.ระบบป้องกันอุบัติภัย เน้นให้วางการพัฒนาพื้นที่เป็นไปอย่างสอดคล้องเหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ นโยบายภาครัฐ และความต้องการของภาคประชาชน ตลอดจนประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการพัฒนาอีอีซีในอนาคต โดยแผนผังฉบับสมบูรณ์จะแล้วเสร็จภายในเดือน เม.ย. 2562

อีกทั้ง ที่ประชุมได้เห็นชอบการจัดทำแผนงานยกระดับการบริการสาธารณสุขในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพื่อให้ประชาชนทุกคนในพื้นที่ได้รับความคุ้มครองด้านการบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึง เสมอภาคกัน มีมาตรฐาน และเพียงพอกับความต้องการ ในด้านการประกันสุขภาพ สามารถจำแนกการมีสิทธิประกันสุขภาพของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ได้อย่างน้อย 9 ประเภท คือ 1.สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ 2.สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลของรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานรัฐประเภทอื่น ๆ 3.สิทธิประกันสังคม 4.สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) 5.สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลสำหรับผู้ที่อยู่ระหว่างพิสูจน์สถานะและสิทธิ 6.สิทธิประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวที่ได้รับสิทธิประกันสังคม 7.สิทธิประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวที่ได้รับการผ่อนผัน 8.สิทธิประกันคุ้มครองเอกชน และ 9.สิทธิประกันสุขภาพนักท่องเที่ยว

นอกจากนี้ ยังมีแผนการดำเนินการพัฒนาระบบข้อมูลและระบบการบริหารการประกันสุขภาพ ทั้งแรงงานต่างด้าวและนักท่องเที่ยว มีการส่งเสริมการร่วมลงทุนระหว่างกระทรวงสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน สามารถหารายได้พึ่งพาตัวเองได้ และยังกระจายผู้ป่วยของโรงพยาบาลรัฐไปใช้บริการของโรงพยาบาลเอกชน หรือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สนับสนุนให้มีโรงพยาบาลในระดับโรงเรียนแพทย์ ปรับปรุงกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เป็นหลักประกันสุขภาพให้ครอบคลุมประชาชนในพื้นที่อีอีซี

ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

 

Advertisement
Haus23
Haus23
Haus23