จากยุคบูมของ “ห้างสรรพสินค้าสัญชาติญี่ปุ่น” ในประเทศไทยเมื่อ40-50 ปีก่อน ถือเป็นต้นแบบพัฒนาการธุรกิจห้างสรรพสินค้าของไทยก็ว่าได้ นับจาก “ไทยไดมารู” เป็นรุ่นบุกเบิกรุกเปิดสาขาแรกในไทยย่านราชประสงค์ ปี2507 หลังจากนั้นห้างสรรพสินค้าแบรนด์ญี่ปุ่น พาเหรดเข้าเปิดตลาด ทั้งโซโก้ โตคิว เยาฮัน จัสโก้ อิเซตัน ก่อนที่ “บางแบรนด์” จะทยอยปิดกิจการในห้วงไทยเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจ ปี2540 ปิดฉากการทำตลาดในเมืองไทยอย่างถาวร!!
ขณะที่ “โตคิว” หนึ่งในกิจการห้างสรรพสินค้าญี่ปุ่นที่ยืนหยัดเปิดบริการมานาน 3 ทศวรรษ ปักธงสาขาแรกมาบุญครองเซ็นเตอร์ (เอ็มบีเคเซ็นเตอร์) เมื่อปี 2528 และขยายสาขา 2 ย่านรัชดาภิเษก ก่อนปิดบริการลง เหลือเพียงสาขา เอ็มบีเค เซ็นเตอร์ ในปัจจุบัน ล่าสุด เปิดบริการ “ห้างสรรพสินค้า กรุงเทพ-โตคิว พาราไดซ์ พาร์ค” ภายในศูนย์การค้าพาราไดซ์ พาร์ค ถ.ศรีนครินทร์
“ธุรกิจค้าปลีกในไทยยังมีโอกาสทางการตลาดสูง การขยายการลงทุนครั้งนี้เพราะเห็นศักยภาพของทำเลกรุงเทพฯ ตะวันออก และมีพันธมิตรที่ดี นับเป็น ความท้าทายใหม่ของโตคิว จากเคยอยู่ย่านใจกลางเมือง ออกมาชานเมือง”
ทาคาชิ ฮายาโนะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีที รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า จากการขยายตัวของสังคมเมืองหลวงในปัจจุบัน ที่มีการกระจายตัวของประชากร พื้นที่พักอาศัย และระบบสาธารณูปโภคไปยังเขตพื้นที่รอบนอกของกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ ในเขตประเวศ สวนหลวง พัฒนาการ ที่มีกลุ่มคน รายได้สูง และครอบครัวระดับ เอ-บี ที่มี “อำนาจจับจ่าย” อยู่เป็นจำนวนมาก อีกทั้ง ยังมีการขยายตัวของโครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัย เป็นเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ในอนาคต เป็นตลาดที่มีศักยภาพอย่างมากสำหรับธุรกิจค้าปลีก และเป็นโอกาสในการขยายสาขาของห้างสรรพสินค้า
“กรุงเทพ-โตคิว พาราไดซ์ พาร์ค จะเป็นเดสทิเนชั่นของการชอปปิงแห่งใหม่สำหรับนักช้อปในโซนกรุงเทพฯ ตะวันออก ด้วยการผสมผสานความเป็นไทยและญี่ปุ่นใน
คอนเซปต์ GIFT for MYSELF @ TOKYU DEPARTMENT STORE เน้นความเป็นห้างสรรพสินค้าไลฟ์สไตล์”
สำหรับ ห้างสรรพสินค้ากรุงเทพ-โตคิว พาราไดซ์ พาร์ค พื้นที่กว่า 1.3 หมื่นตร.ม. มูลค่าลงทุนกว่า 400 ล้านบาท ภายใต้การบริหารจัดการของ บริษัท พีที รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง บริษัท กรุงเทพ – โตคิว สรรพสินค้า จำกัด 50% และ บริษัท พาราไดซ์ รีเทล จำกัด 50%
ห้างสรรพสินค้า กรุงเทพ-โตคิว พาราไดซ์ พาร์ค วาง “จุดขาย” แตกต่างจาก คู่แข่งด้วยสินค้าที่ออกแบบและผลิตจากประเทศญี่ปุ่น หรือ “เมดอินเจแปน” ซึ่งเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคโดยทั่วไปว่า “ญี่ปุ่น” คือผู้นำทางด้านนวัตกรรมและเชื่อมั่นในเรื่องคุณภาพสินค้า
ฮายาโนะ ยกตัวอย่าง ผลิตภัณฑ์ที่ได้ความนิยมจากญี่ปุ่นมาจำหน่าย อาทิ Miss KYOUKO รองเท้าเพื่อสุขภาพ ผลิตแบบแฮนด์เมดแบบคู่ต่อคู่ โดยช่างฝีมือชาวญี่ปุ่น SYUNSOKU รองเท้าเด็ก ที่มีคุณสมบัติพื้นกันลื่น สำหรับเด็กวัย 3-12 ปี ซึ่งได้รับความนิยมมากสุดของญี่ปุ่น รวมไปถึง ร้านเดนิม และ รองเท้าแฮนด์เมด about 79 สินค้าแฟชั่นและแอคเซสซอรี่สำหรับสุภาพสตรี plus plus ทั้ง 2 แบรนด์เป็นผลงานการออกแบบของ Ken Nakamura ดีไซเนอร์ชื่อดังชาวญี่ปุ่น
การเปิดบริการอย่างเป็นทางการ 19 มิ.ย.นี้ จะมีแคมเปญส่งเสริมการขายช้อปทุก 1,000 บาท ลุ้นแพ็กเกจท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่น เฉพาะวันที่ 20-21 มิ.ย. ลูกค้า 1,000 คนแรกที่มาเข้าคิวชอปปิง รับบัตรกำนัลเงินสด 500 บาท และสมัครสมาชิกบัตรโตคิว พ้อยท์ การ์ด รับคะแนนสะสม 1,000 คะแนน เฉพาะ 1,000 คนแรก
ในปีแรกคาดมียอดขาย 700-900 ล้านบาท พร้อมตั้งเป้าหมายการเติบโตแต่ละปีตามการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย
สำหรับการขยายสาขาในอนาคต ขึ้นอยู่กับ “โลเคชั่น” และ “พันธมิตรธุรกิจ” เป็นสำคัญ!!
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ