ยึดแนวเดิมสายสีส้มสั่งคุยเดินรถสีเขียว2เดือนจบ

654

คจร.ยันเดินหน้าก่อสร้างรถไฟฟ้าสาย สีส้มตามแนวเดิมในแผนแม่บท ผ่านประชาสงเคราะห์-ศูนย์วัฒนธรรม “หม่อมอุ๋ย”ระบุแนวเดิมผ่านชุมชน มหาวิทยาลัย ย่านคนมีรายได้น้อยได้ประโยชน์กว่าแนวพระราม 9 ที่มีคอนโดฯ คนมีฐานะอยู่เยอะ เร่งรฟม.ทำความเข้าใจประชาชน โดยอนุมัติให้ประมูลด้านตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรีก่อน พร้อมเร่งคมนาคม เจรจากทม.รับโอนเดินรถสายสีเขียวใต้ ให้ได้ข้อสรุปในก.ค.นี้ เปิดทางเจรจาเดินรถสีเขียวเหนือพ่วงไปด้วย ส่วนรถไฟทางคู่ ประจวบฯ-ชุมพร 1.7 หมื่นล้าน ผ่าน EIA ฉลุย

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการจัดการระบบการจราจรทางบก (คจร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม คจร.วานนี้ (10 มิ.ย.) ได้พิจารณาแนวเส้นทางโครงการ รถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม ระยะทาง 17.5 กม.กรณีที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้เสนอปรับเปลี่ยนช่วงที่ผ่านชุมชนประชาสงเคราะห์-สถานีศูนย์วัฒนธรรมจากเดิม เป็นแนวใหม่ โดยให้ผ่านดินแดง-ถนนพระราม 9 แทนนั้น คจร.มีมติให้ รฟม.ดำเนินการก่อสร้างตามแนวเส้นทางเดิมที่ประกาศไว้ในแผนแม่บทรถไฟฟ้า เนื่องจากเป็นแนวเส้นทางที่เหมาะสม ผ่านชุมชนและมหาวิทยาลัย ซึ่งส่วนใหญ่ ประชาชนมีรายได้น้อย จะได้ใช้ประโยชน์จากรถไฟฟ้ามากกว่า

ในขณะที่แนวเส้นทางใหม่เป็นย่านคอนโดฯ ตึกสูงซึ่งเป็นที่อยู่ของคนมีฐานะ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นแนวเดิมหรือเปลี่ยนแนวใหม่มีผลกระทบหมด แต่ควรเลือกแนวที่มีการประกาศไว้แล้ว ซึ่ง ที่ผ่านมา รฟม.ดำเนินงานล่าช้า จึงต้องรีบไปทำความเข้าใจกับประชาชน พร้อมกันนี้ ที่ประชุม คจร.ยังมีมติอนุมัติ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ด้านตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 21.5 กม. โดยให้ รฟม.ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

“ยืนยันให้ใช้แนวสายสีส้มตามแผนแม่บทไม่เปลี่ยน ส่วนแนวเก่าผ่านชุมชนประชาสงเคราะห์ จะช่วยแก้ปัญหาจราจรติดขัดได้มาก มีทั้งมหาวิทยาลัยหอการค้า ศูนย์วัฒนธรรม ปริมาณรถยนต์หนาแน่น และแนวทางตามแผนแม่บทได้ผ่านการทำประชาพิจารณ์ ผ่านการพิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว ต้อง เดินหน้า ทุกแนวมีผลกระทบแต่เลือกแนวที่กระทบแล้วเกิดประโยชน์มากกว่าด้วย” ม.ร.ว. ปรีดิยาธร กล่าว

ส่วนการบริหารการเดินรถไฟฟ้าสาย สีเขียวใต้ ช่วง แบริ่ง-สมุทรปราการนั้น ม.ร.ว. ปรีดิยาธร กล่าวว่า ได้มอบหมายให้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมรับไปเจรจากับทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) ให้สำเร็จภายใน 2 เดือน โดยให้เจรจาในส่วนของการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคตไปพร้อมกันด้วย

Advertisement

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคมกล่าวว่า ที่ประชุม คจร.ยืนยันให้ รฟม. ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงผ่านชุมชนประชาสงเคราะห์ตามแนวเส้นทางเดิมโดยมอบหมายให้ รฟม.เร่งทำความเข้าใจกับผู้ได้รับผล กระทบ 184 รายพร้อมหาทางเยียวยาให้มากที่สุด ซึ่งรถไฟฟ้าสายสีส้มแนวเส้นทางเดิมในแผนแม่บทมีการพิจารณาตั้งแต่ปี 2548 และคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบเมื่อปี 2553

โดย รฟม.ได้ดำเนินตามขั้นตอนทั้งด้านเทคนิค การทำความเข้าใจประชาชน และผ่าน EIA แล้ว โดยช่วงประชาสงเคราะห์มีประชาชนได้รับผลกระทบประมาณ 184 ราย รฟม.จะต้องดำเนินการจัดหาที่อยู่ให้ แต่เนื่องจากระยะเวลาในการดำเนินโครงการช้าประมาณ 2 ปี จึงมีการเคลื่อนไหว เพราะเข้าใจว่าจะมีผลกระทบมากถึง 1,000 รายและเห็นว่าเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า จึงได้เสนอแนวเส้นทางใหม่ผ่านถนนพระราม 9 ให้ รฟม.พิจารณา ซึ่งมีระยะทางสั้นกว่าเดิม และมีผลกระทบ 35 ราย แต่จะมีผล กระทบต่อการจราจรระหว่างก่อสร้างมากกว่า

สำหรับการเจรจากับ กทม.เพื่อโอนโครง การรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ (แบริ่ง-สมุทรปราการ) นั้น คจร.มอบให้ตนเร่งเจรจากับกทม.ให้ได้ข้อยุติภายในเดือน ก.ค.นี้ และหากจะนำการเดินรถสายสีเขียวเหนือมาเจรจาด้วยให้อยู่ในการพิจารณาของ รมว.คมนาคม ซึ่งถือเป็นเรื่องเร่งด่วน เพราะขณะนี้ในส่วนของการเดินรถมีความล่าช้ากว่าแผน 2-3 เดือนแล้ว

โดยหลักการเดิม เจรจากับ กทม.หาก ได้ข้อยุติ กทม.จะทำสัญญาจ้างให้ทางบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS เป็นผู้เดินรถ โดยก่อนหน้านี้ ทาง กทม. เสนอเงื่อนไขผ่อนชำระค่าก่อสร้างงานโยธาสายสีเขียวใต้ ให้ รฟม. 10 ปี ซึ่งกระทรวงไม่ยอมรับ ทำให้การเจรจาไม่ได้ข้อสรุป

โดยเห็นว่า กทม.จะต้องชำระหนี้สินทันทีที่มีการโอนโครงการไปให้ กทม. จึงจะต้องมีการเจรจากันอีกครั้ง ส่วนการโอนเดินรถสายสีเขียวเหนือ ที่ผ่านมายังไม่เคยเจรจาเงื่อนไขใดๆ จึงต้องรอดูว่า กทม.จะเสนอมาอย่างไร

อย่างไรก็ตาม ในแผนการดำเนินโครงการรถไฟฟ้า จะเสนอ ครม.และพร้อมประกวด ราคาภายในปี 2558 รวม 6 โครงการ ระยะทางประมาณ 144 กม.ประกอบด้วย 1. สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 36 กม. 2. สายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บางกะปิ-มีนบุรี ระยะทาง 21.5 กม. 3. สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าวสำโรง ระยะทาง 30.4 กม. 4.สายสีแดงอ่อน ช่วง บางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน ระยะทาง 19 กม. ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง (Missing Link) ระยะทาง 6.5 กม. 5. สายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิตม.ธรรมศาสตร์ รังสิต ระยะทาง 10 กม. 6. แอร์พอร์ตลิงก์ ส่วนต่อขยาย บางซื่อ-พญาไท ระยะทาง 7.9 กม. และดอนเมือง-บางซื่อ ระยะทาง 13.9 กม.

สผ.เห็นชอบ EIA รถไฟทางคู่ประจวบฯ-ชุมพร 1.7 หมื่นล.

รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ วานนี้ (10 มิ.ย.) มีมติเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการรถไฟทางคู่ ระยะเร่งด่วน ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กม. วงเงิน 17,293 ล้านบาทแล้ว โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จะทำรายละเอียดเพื่อเสนอ ครม.ขออนุมัติเพื่อดำเนินการประกวดราคาต่อไป

ที่มา :ASTV ผู้จัดการรายวัน

Advertisement
Haus23
Haus23
Haus23