สภานิติบัญญัติแห่งชาติ นัดพิจารณาภาษีมรดก 21 พ.ค. นี้ สาระสำคัญให้ผู้ได้รับมรดกเกิน 100 ล้านบาทขึ้นไป เสียภาษี 10%
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวันที่ 21 พ.ค. มีวาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีการรับมรดกและร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร) ตามที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญที่มีนายสมหมาย ภาษี รมว.คลังเป็นประธาน ได้พิจารณาเสร็จแล้ว โดยสนช. จะต้องพิจารณาเป็นรายมาตราและลงมติว่าจะให้ความเห็นชอบเพื่อนำไปสู่การประกาศใช้เป็นกฎหมายหรือไม่ต่อไป
สำหรับร่าง พ.ร.บ. นี้ มีหลักการและเหตุผล คือ โดยที่การถ่ายโอนทรัพย์สินโดยทางมรดกในปัจจุบันได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี ไม่ว่าทรัพย์สินจะมีจำนวนมากน้อยเพียงใด ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในสังคม สมควรที่จะจัดเก็บภาษีตามสมควรจากการรับมรดกที่มีมูลค่าจำนวนมากเพื่อนำไปพัฒนาประเทศและยกระดับการดำรงชีวิตของประชาชนที่ยากไร้ให้ดีขึ้น ทั้งนี้ โดยไม่ให้กระทบถึงผู้ที่ได้รับมรดกพอสมควรแก่การดำรงชีพ โดยพระราชบัญญัติฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้น 90 วัน นับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ขณะที่เนื้อหาในร่าง พ.ร.บ. ที่คณะ กมธ. ได้พิจารณาเสร็จแล้วนั้น คณะ กมธ. ได้แก้ไขให้ผู้ได้รับมรดกจากเจ้ามรดกแต่ละราย ไม่ว่าจะได้รับมาในคราวเดียวหรือหลายคราว ถ้ามรดกที่ได้รับมาจากเจ้ามรดกแต่ละรายรวมกันมีมูลค่าเกิน 100 ล้านบาท ต้องเสียภาษีเฉพาะส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท จากเดิมที่ร่างพ.ร.บ. ที่คณะรัฐมนตรีเสนอเข้ามา สนช. กำหนดไว้ที่ 50 ล้านบาท โดยบัญญัติให้เสียภาษีในอัตรา 10% ของมูลค่าในส่วนที่ต้องเสียภาษี แต่ถ้าผู้ได้รับมรดกเป็นบุพกการีหรือผู้สืบสันดานให้เสียภาษีในอัตรา 5%
ที่สำคัญ คณะ กมธ. ได้กำหนดประเภทของมรดกที่ต้องเสียภาษีเอาไว้ด้วยกัน 5 ประเภท ได้แก่ 1. อสังหาริมทรัพย์ 2. หลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 3. เงินฝากหรือเงินอื่นใดที่มีลักษณะอย่างเดียวกันที่เจ้ามรดกมีสิทธิเรียกถอนคืนหรือสิทธิเรียกร้องจากสถาบันการเงินหรือบุคคลที่ได้รับเงินนั้นไว้ 4. ยานพาหนะที่มีหลักฐานทางทะเบียน และ 5. ทรัพย์ทางการเงินที่กำหนดเพิ่มขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกา ขณะเดียวกัน ยังเพิ่มเติมเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ. ด้วยการให้มีการพิจารณาทบทวนมูลค่ามรดกทุก 5 ปี โดยนำอัตราการเปลี่ยนแปลงดัชนีราคาผู้บริโภคที่กระทรวงพาณิชย์คำนวณเพื่อใช้ในราชการในรอบระยะเวลานั้นมาประกอบการพิจารณาด้วย
ส่วนบทกำหนดโทษที่เป็นเบี้ยปรับและเงินเพิ่มในกรณีที่มีบุคคลไม่ยอมเสียภาษี คณะ กมธ. ได้แก้ไขให้ผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีแต่ไม่ยื่นแบบแสดงรายการภายในกำหนดเวลา ให้เสียเบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่าของเงินภาษีที่ต้องชำระจากเดิมที่กำหนดไว้สองเท่าของเงินภาษีที่ต้องชำระ และถ้าเป็นกรณีที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีไม่ครบถ้วน หรือไม่ตรงต่อความเป็นจริงอันเป็นเหตุให้จำนวนภาษีที่ต้องเสียขาดไป ให้เสียเบี้ยปรับอีก 0.5 เท่าของเงินภาษีที่ต้องเสียเพิ่มจากเดิมที่กำหนดให้เสียเบี้ยปรับหนึ่งเท่าของเงินภาษีที่ต้องเสีย
ที่มา : หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์