EEC รับโควิดทำต่างชาติชะลอลงทุน คาดกลุ่มการบินฟื้นปลายปี 64

1439

เลขา EEC รับลงทุนโดยตรงต่างชาติปีนี้ชะลอ เหตุวิกฤติโควิด-19 กระทบหนัก มองฟื้นหลังมีวัคซีน ด้านกลุ่มการบินคาดฟื้นปลายปี 64 ขณะที่ลงนามร่วมกลุ่ม BBS คาดลงนาม 19 มิ.ย.นี้

   
นายคณิศ​ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) โดยมีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานในวันนี้ว่า ยอมรับว่า การลงทุนโดยตรงจากนักลงทุนต่างประเทศปีนี้ จะชะลอลง เป็นผลจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 กระทบค่อนข้างมาก ซึ่งมองว่าจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวภายหลังจากมีวัคซีน

   “เชื่อว่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศคงไม่ลื่นไหล จนกว่าจะมีวัคซีน ขณะที่กลุ่มการบิน มองว่าจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ปกติเหมือนช่วงก่อนโควิด-19 อีกครั้งคือช่วงปลายปี 64 แต่ตัวเลขคงต้องรอจากทาง BOI อีกครั้ง อย่างไรก็ตามเชื่อว่า หลังจากนี้ประเทศไทยยังคงเป็นเป้าหมายของนักลงทุน โดยเฉพาะในพื้นที่ อีอีซีอยู่”นายคณิศ กล่าว

   สำหรับแผนความคืบหน้าการลงทุนของอีอีซีทั้งหมด 5 โครงการนั้น มี 2 โครงการที่ลงนามแล้ว ประกอบด้วย 1.รถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน 2.ท่าเรือแหลมฉบัง และสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน จะลงนามกับกลุ่ม BBS ในวันที่ 19 มิ.ย.นี้ ขณะที่ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด อยู่ระหว่างการพิจารณา และด้านศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) เชื่อว่าจะล่าช้าไปกว่าแผนที่วางไว้

   “ตอนนี้โครงการต่างๆส่วนใหญ่ก็เป็นไปตามแผน ยกเว้นศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน หากบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ทำได้ก็เป็นเรื่องดี แต่หากการบินไทยไม่สามารถดำเนินการได้ ยังมีนักลงทุน หรือ สายการบินทั้งในและต่างชาติให้ความสนใจ”นายคณิศ กล่าว

Advertisement

   นายคณิศ กล่าวว่า สำหรับการประชุมในวันนี้ที่ประชุมได้รับทราบแนวทางผ่อนปรนการเดินทางเข้าประเทศที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซี ตามที่กลุ่มบุคลากรภาคธุรกิจในพื้นที่อีอีซี จากประเทศญี่ปุ่น ได้ยื่นหนังสือถึงภาครัฐ ขอให้ผ่อนคลายการเดินทางเข้าประเทศ เพื่อวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ รวมถึงการส่งช่างเทคนิค เข้ามาตรวจสอบซ่อมบำรุงเครื่องจักรในอุตสาหกรรม และเพื่อสนับสนุนการลงทุนในพื้นที่ต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์ของไทยดีขึ้น และมีแนวโน้มที่จะคลายล็อกดาวน์ดังกล่าว

   โดย สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) มีแนวทางผ่อนปรนการเดินทางเข้าประเทศ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงการต่างประเทศ บุคลากรทางการแพทย์ในประเทศต้นทางกับสถานเอกอัครราชทูตไทย รวมทั้งหารือกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่ออนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศได้ แต่ต้องดำเนินการตามมาตรการการกักกันของรัฐด้วย

   อย่างไรก็ตาม คาดว่า หากมีมาตรการผ่อนปรนดังกล่าว จะทำให้นักลงทุนต่างชาติเดินทางเข้ามาเจรจาการทำธุรกิจในไทยได้ง่ายขึ้น จากก่อนหน้านี้มีมาตรการปิดเมืองห้ามเดินทางเข้าออก ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้จีดีพีของประเทศติดลบถึง 5% หรือมีเงินลงทุนหายไปกว่า 800,000 ล้านบาท

   “เชื่อว่า หากมีมาตรการคลายล็อกดาวน์และมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นมากกว่า 80% จะส่งผลให้จีดีพีปีนี้ติดลบน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้”นายคณิศ กล่าว

   นอกจากนี้ ในการประชุมวันนี้ กบอ.ยังได้รับทราบการจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่อีอีซี โดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันให้จีดีพีภาคการเกษตรขยายตัวใกล้เคียงกับภาคอุตสาหกรรมและบริการ สำหรับปัจจุบัน จีดีพีภาคเกษตรขยายตัวเพียง 2% ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมขยายตัว 4-5%

   ส่วนการยกระดับภาคอุตสาหกรรมการเกษตรนั้น จะเน้นที่ 5 คลัสเตอร์ ประกอบด้วย 1.ผลไม้ 2.ประมง 3.พืชสำหรับอุตสาหกรรมชีวภาพ (Bio-Based3) 4.พืชสมุนไพร และ 5.พืชที่สร้างมูลค่าสูง และในอนาคตจะขยายการพัฒนาภาคการเกษตรที่เป็นที่ต้องการในภาคอุตสาหกรรม เพื่อความเชื่อมโยงและต่อยอดเสริมรายได้มากขึ้น

   สำหรับแนวทางการพัฒนาภาคเกษตรนั้น จะเน้นการใช้ความต้องการนำการผลิต โดยเน้นความต้องการในประเทศ รองรับมหานครการบินภาคตะวันออกออก สำรวจตลาดหาความต้องการเอเชีย CLMV และยุโรป ที่มีความต้องการสูง สร้างความต้องการด้วยการพัฒนาสินค้าใหม่

   รวมถึงการยกระดับการตลาด การแปรรูป การเกษตรด้วยเทคโนโลยีในทุกขั้นตอน เช่น การสร้างตลาดด้วยกลไก e-commerce E-Auction ขายไปทั่วโลก เชื่อมระบบโลจิสติกส์ ตั้งแต่ส่งออก-ขายในประเทศ เก็บรักษาผลไม้ อาหารทะเล ด้วยระบบห้องเย็น เป็นต้น

ที่มา : www.efinancethai.com

Advertisement
Haus23
Haus23
Haus23