เศรษฐกิจระยองปี’62 โต 3.6% EEC ดัน “อุตฯ-บริการ” พุ่ง

2318
EEC ระยอง

เศรษฐกิจ EEC ระยอง

หลังจากรัฐบาลได้ประกาศให้ 3 จังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เป็นพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) พร้อมกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งถนน ประปา ไฟฟ้า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา เพื่อรองรับการเติบโตของเมือง ซึ่งช่วยสร้างเม็ดเงินให้กับจังหวัดในกลุ่มนี้ และการเข้ามาของแรงงานมากขึ้น <<< สิทธิประโยชน์ EEC

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสได้พูดคุยกับ “จินตนา รักสุจริตวงศ์” คลังจังหวัดระยอง ถึงภาพรวมเศรษฐกิจจังหวัดระยองในปัจจุบันว่า จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ปี 2559 ระบุว่า จังหวัดระยองมีผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) อยู่ที่ 897,117 ล้านบาท โดยสัดส่วนโครงสร้างเศรษฐกิจมี 19 เซ็กเตอร์ แยกเป็น ภาคเกษตร 2.3% อุตสาหกรรม 80.4% และบริการ 17.3% ขณะที่รายได้ต่อคนต่อหัว (GPP per Capita) อยู่ที่ 1,009,496 บาท/คน/ปี ซึ่งเป็นอันดับที่ 1 ของประเทศ จากประชากร 889,000 คน

คาดปี’62 ศก.ขยายตัว 3.6%

“จินตนา” กล่าวว่า จ.ระยอง ประมาณการเศรษฐกิจปี 2562 ว่า ขยายตัว 3.6% ชะลอตัวจากการขยายตัวในปี 2561 อยู่ที่ 5.8% โดยปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจในปี 2561-2562 ที่ต้องติดตาม ได้แก่

Advertisement

1.พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 2561 ที่ประกาศใช้ 15 พ.ค. 61

2.การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ

3.แผนการยกระดับการท่องเที่ยวในอีอีซี และเชื่อมโยงพื้นที่โดยรอบ ทั้งทางทะเล เชิงนิเวศและชุมชน เชิงสุขภาพ และศูนย์ประชุมนิทรรศการ

4.โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

และ 5.มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนของรัฐ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมในอีอีซี ได้แก่ การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาเพื่อมุ่งสู่มหานครการบินภาคตะวันออก รองรับผู้ใช้บริการ 15, 30 และ 60 ล้านคน ตามลำดับ พร้อมเปิดดำเนินการปี 2566 รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสนามบิน 3 แห่ง รองรับผู้โดยสาร 110 ล้านคน/ปี การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 พร้อมเปิดดำเนินการปี 2568 โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (TG MRO) พร้อมเปิดดำเนินการปี 2564 โครงการเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) อีกทั้งการพัฒนาโครงข่ายขนส่งทางบกทั้งมอเตอร์เวย์หมายเลข 7 และเส้นทางอื่น ๆ

ยาง-ทุเรียนดันเกษตรโต 2%

ทั้งนี้ เมื่อเจาะลึกปัจจัยด้านอุปทานภายในจังหวัดคาดขยายตัว 3.2% ซึ่งมาจากภาคเกษตรกรรมขยายตัว 2.0% เช่น ผลผลิตยางพาราคาดขยายตัวเพียง 1.1% เนื่องจากราคาลดลง ผลผลิตออกสู่ตลาดมากกว่าความต้องการจากต่างประเทศ แต่ลดลงจากปี 2561 ที่คาดขยายตัว 17.2% ต่อเนื่องจากปี 2560 ที่ขยายตัว 8.7% ที่เป็นผลจากการเปิดกรีดยางเพิ่มขึ้น ประกอบกับยางพาราอยู่ในช่วงอายุที่ให้ผลผลิตสูง แม้ราคาจะลดลงและฝนตกชุก

ขณะที่ผลผลิตทุเรียน คาดว่าปี 2562 ขยายตัว 19.1% เนื่องจากมีราคาดีและเป็นที่ต้องการของตลาด โดยมีทิศทางที่ดีกว่าปี 2561 ที่คาดว่าหดตัว 7.7% จากปัจจัยสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ทำให้ต้นปรับสภาพไม่ทัน รวมถึงประสบปัญหาเชื้อราไฟทอปเธอรา ในส่วนผลผลิตมันสำปะหลัง คาดว่าปี 2562 ขยายตัว 1.3% และผลผลิตไก่เนื้อ ที่ปี 2562 คาดขยายตัว 5.3% ขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2561 เนื่องจากเกษตรกรเลี้ยงไก่เพิ่มขึ้น หลังจากชะลอการเลี้ยงในปี 2560 ที่หดตัวกว่า 7.6% สาเหตุมาจากการแพร่ระบาดไข้หวัดนกของประเทศเพื่อนบ้าน

อุตฯ-บริการเด้งรับอานิสงส์ EEC

นอกจากนี้ ปี 2562 คาดว่าภาคอุตสาหกรรมขยายตัว 4.1% จากปริมาณการใช้ไฟฟ้าภาคอุตสาหกรรม คาดขยายตัว 5.1% ซึ่งขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2561 ที่คาดขยายตัว 2% ตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการรายใหม่ ๆ จากการส่งเสริมการลงทุน

โดยในเขตอีอีซีมีการชะลอตัวจากปี 2560 จากการผลิตไฟฟ้าและจำหน่ายเองในเขตนิคมอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันอีกปัจจัยหนึ่ง คือ ทุนจดทะเบียนภาคอุตสาหกรรมในปี 2562 คาดขยายตัว 5.3% ซึ่งโตขึ้นจากปี 2561

เนื่องด้วยเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว และโครงการอีอีซีที่ทำให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้น โดยอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี การทำเครื่องมือหรืออุปกรณ์การแพทย์ และผลิตยานพาหนะและอุปกรณ์ เช่นเดียวกับจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมที่ปี 2562 คาดมีทั้งสิ้น 3,188 โรงงาน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนประมาณ 62 โรงงาน คิดเป็น 2% ซึ่งมีการบิดดิ้งมาจากส่วนกลาง

ขณะเดียวกัน ภาคบริการคาดปี 2562 ขยายตัว 4.2% จากการค้าปลีก-ค้าส่ง คาดขยายตัว 4.1% จากมาตรการโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่ามีรายได้จากการท่องเที่ยวถึง 40,516 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.9% รวมถึงคาดมีจำนวนนักท่องเที่ยว 8.04 ล้านคน เพิ่มขึ้น 5.3% และอัตราการเข้าพักโรงแรมที่คาดว่ามีนักท่องเที่ยวเข้าพักเฉลี่ย 72.7% เพิ่มขึ้น 3% โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติที่นิยมเดินทางเข้ามามากที่สุด ยังคงเป็นจีน

ขณะที่ปัจจัยด้านอุปทาน คาดขยายตัว 5.3% จากการบริโภคภาคเอกชนที่คาดว่าขยายตัว 13.9% ได้แก่ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่คาดว่าขยายตัว 14% ต่อเนื่องจากช่วง 2 ปีก่อน ที่มาโดยการบริโภคภายในจังหวัดและภาษีมูลค่าเพิ่มการนำเข้าผ่านศุลกากรมาบตาพุด ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเชื้อเพลิงหรือน้ำมันดิบ รวมถึงปริมาณรถยนต์จดทะเบียนใหม่ที่คาดขยายตัว 5%

โดยเฉพาะยอดจำหน่ายรถยนต์ที่ใช้ไฟฟ้า ประกอบกับสินเชื่อเพื่อการลงทุนของสถาบันการเงินในจังหวัดที่คาดว่าปี 2562 จะขยายวงเงินสินเชื่อกว่า 62,343 ล้านบาท และปัจจัยพื้นที่อนุญาตก่อสร้างรวมที่คาดขยายตัว 5.6% ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐอาจหดตัว 1.1%

ที่มา : prachachat.net

 

Advertisement
Haus23
Haus23
Haus23