นับถอยหลังตอกเสาเข็มรถไฟฟ้า5เส้นทาง

663

คมนาคมเข็นรถไฟฟ้า 5 เส้นทาง จ่อชงครม.อนุมัติครึ่งปีหลัง วงเงินลงทุนร่วม 3 แสนล้าน ตามด้วยมอเตอร์เวย์อีก 3 เส้นทาง คาดเปิดประมูลต้นปีหน้า ด้าน “ปลัดสร้อยทิพย์” ลุ้นงบปี 2559 วาระ 3 วงเงินกว่า 1.9 แสนล้าน เผยทล./ทช.กินรวบงบสร้างถนนร่วม 1.25 แสนล้าน ค่ายรับเหมาเด้งรับแต่หวั่นขั้นตอนประมูลอืด ส่วนนักวิชาการระบุแค่เรียกความเชื่อมั่นนักลงทุน

เมกะโปรเจ็กต์ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นความหวังสุดท้ายของรัฐบาล “บิ๊กตู่” ที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลัง ล่าสุด พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้แถลงถึงแผนการเร่งรัดโครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ ทั้งในกทม.และปริมณฑล รถไฟความเร็วสูง ตลอดจนถึงโครงการถนนเชื่อมโยงระหว่างเมืองว่ามีความคืบหน้าไปมาก

อย่างไรก็ดีจากการรวบรวมข้อมูลของ “ฐานเศรษฐกิจ” พบว่าโครงการที่มีความพร้อมและรอเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติ มีประมาณ 8 โครงการรวมวงเงินลงทุนร่วม 4.5 แสนล้านบาท แบ่งเป็นโครงการรถไฟฟ้า 5 เส้นทางมูลค่าการลงทุน 2.97 แสนล้านบาท ได้แก่ 1.สายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ระยะทาง 36 ตารางกิโลเมตร วงเงิน 5.6 หมื่นล้านบาท 2.สายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี) 20 กิโลเมตรวงเงิน 1.10 แสนล้านบาท 3.สายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) 30.4 กิโลเมตร วงเงิน 5.4 หมื่นล้านบาท 4. ส่วนต่อขยายแอร์พอร์ตลิงค์(พญาไทดอนเมือง) ระยะทาง 21.8 กิโลเมตร วงเงิน 3.1 หมื่นล้านบาท และสายสีแดงอ่อน (บางซื่อ-พญาไท-หัวหมาก และบางซื่อ-หัวลำโพง) 25.9 กิโลเมตร วงเงิน 4.4 หมื่นล้านบาท ที่คาดว่าจะประมูลก่อสร้างต้นปี 2559 เปิดบริการปี 2563

นอกจากนี้ยังมีโครงการมอเตอร์เวย์ อีก 3 เส้นทาง มูลค่าการลงทุน 1.53 แสนล้านบาท ประกอบด้วยเส้นทางบางปะอิน-นครราชสีมา ระยะทาง 196 กิโลเมตร วงเงิน 8.4 หมื่นล้านบาท เส้นทางพัทยา-มาบตาพุด ระยะทาง 32 กิโลเมตร วงเงิน 1.4 หมื่นล้านบาท และเส้นทางบางใหญ่-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กิโลเมตร วงเงิน 5.5 หมื่นล้านบาทที่จะเสนอการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีภายในปีนี้ เช่นกัน รวมถึง โครงการรถไฟทางคู่เส้นทางชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่นอีกด้วย

ดันงบลงทุนปี59 เฉียด2 แสนล.

Advertisement

ทางด้านนางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม เผยถึงการขับเคลื่อนโครงการต่างๆภายใต้งบประมาณประจำปี 2559 ที่ล่าสุดผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)วาระที่ 1 เรียบร้อยแล้วนั้นว่า ภาพรวมกรอบงบประมาณการลงทุนในปีงบประมาณ 2559 เสนอไปรวมทั้งสิ้นกว่า 1.9 แสนล้านบาท สูงกว่างบประมาณปี 2558 ประมาณ 32.31% ที่ได้รับประมาณ 1.44 แสนล้านบาท

ทั้งนี้งบปี 2559 แบ่งเป็นงบลงทุนของส่วนราชการ วงเงิน 1.38 แสนล้านบาท และส่วนรัฐวิสาหกิจ วงเงิน 5.2 หมื่นล้านบาท ทั้งยังแบ่งเป็น 1.งบประจำ วงเงิน 2.8 หมื่นล้านบาท (14.75%) 2.งบลงทุน วงเงิน 1.36 แสนล้านบาท (71.46%) จัดเป็นงบผูกพัน 3.2 หมื่นล้านบาท และงบใหม่ 1.04 แสนล้านบาท และ 3.งบเพื่อการชำระหนี้เงินกู้อีกวงเงิน 2.6 หมื่นล้านบาท (13.78%)

อย่างไรก็ดีหลังจากผ่านวาระ3 จะต้องเร่งกระบวนการทำงานให้สามารถเบิกจ่ายให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ เน้นโครงการที่พร้อมประกวดราคาจริงๆ ดังนั้นในเดือนตุลาคมนี้จะเริ่มมีการเซ็นสัญญาหลายโครงการ ส่วนงบปี 2558 ในช่วงไตรมาส 3 น่าเบิกจ่ายได้เพิ่มขึ้น ไตรมาส 4 ก็จะไหลลื่นเกิดความต่อเนื่องและมีความเชื่อมโยงของแต่ละโครงการได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ปลัดกระทรวงคมนาคมกล่าว

ทล.-ทช.ผุดโครงการใหม่

ขณะที่นายชูศักดิ์ เกวี อธิบดีกรมทางหลวง(ทล.) กล่าวว่า 2559 ทล.เสนอกรอบงบประมาณทั้งสิ้น 9.8 หมื่นล้านบาท ได้รับจัดสรรวาระแรก 7.9 หมื่นล้านบาท จัดเป็นงบรายจ่ายประจำ 6 พันล้านบาท งบรายจ่ายการลงทุน 7.3หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ประมาณ 31.61%

“โครงการใหม่เพิ่มขึ้น 30-40 รายการ ส่งผลให้ภาพรวมการเสนอโครงการปีนี้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย เช่นเดียวกับหน่วยงานอื่นๆ ซึ่งขณะนี้ทล.เร่งจัดทำแบบรองรับไว้แล้วหากงบประมาณชัดเจนเมื่อใดก็จะเร่งดำเนินการจัดหาผู้รับงานต่อไปทันที”

โดยโครงการสำคัญปี 2559 ประกอบไปด้วย โครงข่ายพัฒนาทางหลวง 2 หมื่นล้านบาท บำรุงรักษา 2.6 หมื่นล้านบาท ขยายถนน 4 เลน 5.1พันล้านบาท บูรณะโครงข่ายถนนสายหลักระหว่างภาค 6.2พันล้านบาท สร้างทางหลวงเชื่อมโยงระหว่างประเทศ 864 ล้านบาท ก่อสร้างทางหลวงรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษและด่านการค้าชายแดน 1.1พันล้านบาท เป็นต้น

ส่วนนายดรุณ แสงฉาย อธิบดีกรมทางหลวงชนบท(ทช.) กล่าวว่า ทช.เสนอขออนุมัติงบปี 2559 วงเงินกว่า 4 หมื่นล้านบาท โดยภาพรวมโครงการขนาดใหญ่ยังมี 2-3 โครงการ อาทิ ส่วนต่อขยายถนนราชพฤกษ์ ถนนเชื่อมโยงเข้า-ออกสนามบินสุวรรณภูมิ ช่วงบ้านโพธิ์-ลาดกระบัง ซึ่งเป็นโครงการที่ลงทุนใหม่ที่จะใช้งบผูกพันไปอีก 2 ปีข้างหน้า

ค่ายรับเหมาห่วงประมูลช้า

ทางด้านนายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน) กล่าวว่างบลงทุนโครงการขนาดใหญ่เราจะเข้าร่วมประมูลทุกงาน เป้าหมายก็จะพยายามให้ได้งานประมาณ 20% ในโครงการที่เข้าร่วมประมูล

“ซิโน-ไทยเราค่อนข้างพร้อมในเรื่องการแข่งขัน และน่าจะมีโอกาสที่ดี ยืนยันว่ากำลังคน เครื่องมือ เครื่องจักร วิธีการก่อสร้างสมัยใหม่ของเราพร้อมมาก ส่วนสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้คือความรวดเร็วในการประมูลของภาครัฐ ที่ต้องออกมารวดเร็ว และยุติธรรมที่สุด ภาครัฐต้องพิจารณาราคากลางอย่างเป็นธรรม การที่มีโครงการออกมาไม่ได้เป็นประโยชน์กับธุรกิจก่อสร้างอย่างเดียว แต่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการใช้จ่ายให้เกิดขึ้นในวงจรด้วย”

นายวรงค์ วงวรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แพร่ธำรงวิทย์ จำกัด กล่าวว่า ส่วนราชการก็ควรต้องเตรียมความพร้อมเรื่องแบบและการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อให้ดำเนินการได้เร็ว ส่วนการมองโอกาสของผู้รับเหมากรณีปริมาณงานล้นมือในปลายปีนี้หรือไม่นั้นยืนยันว่าถ้าตามแผนในปัจจุบันคิดว่าขีดความสามารถของผู้รับเหมายังน่าจะรับได้อยู่แล้ว

แค่เรียกความเชื่อมั่นนักลงทุน

ด้าน รศ. มานพ พงศทัต อาจารย์ประจำภาควิชาเคหการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่า การเร่งผลักดันเมกะโปรเจ็กต์ของภาครัฐในช่วงนี้ มองว่าน่าจะทำให้เกิดความชัดเจนของโครงการมากยิ่งขึ้น ดีกว่าไม่เร่งทำอะไร การกระตุ้น ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานก็เหมือนสร้างบ้านที่ทำให้เกิดผลต่อเนื่องต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจตามมา 2.5 เท่าที่ทั่วโลกใช้กันแต่สำหรับโครงสร้างพื้นฐานจะเหลือ 2 เท่า

“ระยะสั้นคงไม่เห็นอะไรมากและเป็นการเรียกความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังต้องเฝ้าดู Wait&See เนื่องจากต้องรอจังหวะกว่าจะสร้างเสร็จ โดยเฉพาะตัวสถานีรถไฟฟ้า ซึ่งใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี จึงเห็นการลงทุนตามมา ขณะที่เศรษฐกิจเริ่มเห็นภาพชัด แต่การเมืองเริ่มเป็นจุดอ่อนของรัฐบาล ซึ่งคนเฝ้าดูว่าปีหน้าจะมีการเลือกตั้งหรือไม่ ใครจะมาเป็นรัฐบาลส่วนหนึ่งทำให้การลงทุนหยุดนิ่ง”

ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ

Advertisement
Haus23
Haus23
Haus23