BTS สู้ยิบตาชิงไฮสปีด EEC ขาใหญ่ตีกัน ปตท.ร่วมถือหุ้น

601

2 กลุ่มทุนจับคู่ฝุ่นตลบชิงดำประมูลไฮสปีดอีอีซี 2.24 แสนล้าน “บีทีเอส” สู้ยิบตา เซ็น MOU  “ซิโน-ไทยฯและราชบุรีโฮลดิ้ง” ลงสนามแข่ง เร่งเจรจาพันธมิตรเอเชีย-ยุโรป-เซ็นทรัลเสริมทัพ พักขายขนมจีบ ปตท. หลังถูกขาใหญ่เตะสกัด รีวิว 1 ปีไฮสปีดไทย-จีน เข็นไม่ขึ้น ถมคันดินเฟสแรกสถานีกลางดง-ปางอโศกคืบ30-40% ประมูล 12 สัญญา 1.1 แสนล้านปีหน้า

แหล่งข่าวจากวงการรับเหมาก่อสร้างเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มีความเคลื่อนไหวอย่างหนักของ 2 กลุ่มทุนรายใหญ่กำลังหาพันธมิตรในประเทศและต่างชาติที่มีประสบการณ์งานก่อสร้างพัฒนาระบบเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูง เพื่อร่วมลงทุนก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา ระยะทาง 220 กม. วงเงินกว่า 2.24 แสนล้านบาท ซึ่งแต่ละกลุ่มจะต้องหาพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญแต่ละด้าน เพราะเป็นโครงการใหญ่และลงทุนสูง

ซี.พี.-บีทีเอสจับคู่ฝุ่นตลบ

ตอนนี้กลุ่ม ซี.พี.มีแผนจะร่วมกับบริษัท ทางรถไฟแห่งชาติฝรั่งเศส (SNCF) และบริษัท ทรานส์เดฟ กรุ๊ป จากฝรั่งเศส บริษัท ทางรถไฟแห่งชาติอิตาลี (FS) เพื่อจัดหาระบบการเดินรถและบริหารจัดการโครงการในระยะยาว ในส่วนของงานก่อสร้าง วางรางและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ มีแนวโน้มดึง 7 บริษัทจากจีนเข้าร่วม

ได้แก่ บจ.ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น (CRCC), บจ.ไชน่า เรลเวย์ กรุ๊ป, บจ.ไชน่า คอมมูนิเคชั่น คอนสตรัคชั่น, บจ.ไชน่า รีเสิร์ซ โฮลดิ้งส์, บจ.ซิติก กรุ๊ป, บจ.ไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่น เอนยิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น และ บจ.ซิโนไฮโดร คอร์ปอเรชั่น เนื่องจากจีนสามารถก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงได้รวดเร็ว และเคยพัฒนาเมืองใหม่รอบสถานี นอกจากนี้กำลังเจรจา บมจ.อิตาเลียนไทยฯ และ บมจ.ช.การช่าง เข้าร่วมด้วย

Advertisement

ขณะที่กลุ่มบีทีเอสนั้นจะจับกับพันธมิตรเดิมในกลุ่มกิจการร่วมค้า BSR ประกอบด้วย บมจ.บีทีเอสกรุ๊ป
โฮลดิ้งส์ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น และ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง และกำลังเจรจากับพันธมิตรใหม่ ซึ่งมีทั้ง ปตท. และกลุ่มเซ็นทรัล ที่มีความสนใจจะพัฒนาเชิงพาณิชย์ที่สถานีมักกะสัน 150 ไร่

“ตอนนี้ยังไม่นิ่ง ทุกคนที่เป็นบริษัทใหญ่คุยกันหมด จะร่วมกันลงทุนส่วนไหนได้บ้าง กลุ่ม ซี.พี.อยากจะได้หลาย ๆ กลุ่มเข้าร่วม เพราะโครงการมีความเสี่ยงสูง ซึ่ง ซี.พี.แม้จะมีที่ดินในมือมาก แต่ไม่มีประสบการณ์ด้านรถไฟ ต้องพึ่งต่างชาติทั้งจีน ยุโรป ส่วน ปตท.ยังไม่สรุปจะร่วมกับใคร ก่อนหน้านี้คุยกับบีทีเอส แต่มีคนไปร้องเรียนกับฝ่ายรัฐบาล หาก ปตท.เป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลไปร่วมกับบีทีเอส เท่ากับไม่เป็นธรรมต่อกลุ่มอื่น ทำให้ตอนนี้บีทีเอสต้องหยุดเจรจากับ ปตท.ไปก่อน ถ้าเป็นแบบนี้มีสิทธิ์ที่ ปตท.จะแยกยื่นประมูลต่างหาก”

BTS เซ็น MOU ซิโน-ไทย-ราชบุรี

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหารและกรรมการ บมจ.บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ กล่าวว่า บริษัทและพันธมิตรกลุ่ม BSR ณ วันนี้ยังยืนยันจะยื่นซองประมูลวันที่ 12 พ.ย.นี้ ขณะเดียวกันอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรรายอื่น ๆ เข้าร่วมด้วย ทั้งไทย ยุโรป จีน ญี่ปุ่น รวมถึง ปตท.ด้วย เนื่องจากเป็นโครงการใหญ่ใช้เงินลงทุนสูง แต่ละบริษัทที่จะเข้าร่วมลงทุนจะต้องรอการอนุมัติจากคณะกรรมการ (บอร์ด) ของแต่ละบริษัทก่อนถึงจะมีข้อยุติ

นายอาณัติ อาภาภิรม กรรมการบริหาร บมจ.บีทีเอส กร๊ปฯ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2561 ที่ผ่านมา บีทีเอสได้ลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) กับ บมจ.ซิโน-ไทยฯ และ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง เพื่อประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันจะเข้าร่วมประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ในนามกลุ่มกิจการร่วมค้า BSR หลังได้บรรลุข้อตกลงร่วมกันแล้ว ส่วนรายละเอียดสัดส่วนการลงทุนยังไม่สรุปในขณะนี้ จะต้องหารือร่วมกันต่อไป

“ตอนนี้ยังไม่ตกผลึกเรื่องพันธมิตรใหม่ที่จะร่วม เบื้องต้นเรากับพันธมิตรเดิมมีข้อตกลงร่วมกันแล้วว่าจะไปด้วยกัน ส่วนระบบรถไฟความเร็วสูงที่จะนำมาใช้กับโครงการ ยังไม่มีข้อสรุปในขณะนี้ว่าจะเป็นของเอเชีย หรือยุโรป แต่เรามีพันธมิตรด้านงานระบบอยู่หลายบริษัท ทั้งรายเดิม เช่น บอมบาร์ดิเอร์ และซีเมนส์ และรายใหม่ กำลังพิจารณาว่าสุดท้ายจะเลือกระบบไหนถึงจะดีที่สุด ซึ่งอาจจะรวมกันหลาย ๆ บริษัทเป็นแพ็กเกจ ซึ่งยังมีเวลาที่จะพิจารณาเพราะสามารถเลือกได้หลังยื่นประมูลแล้วก็ได้ ถ้าหากไม่เป็นผู้ลงทุนร่วมกัน”

ร.ฟ.ท.ชี้แจงทีโออาร์รอบ 2

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า วันที่ 24 ก.ย.นี้จะมีประชุมชี้แจงทีโออาร์ของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็นครั้งที่ 2 เพื่อเปิดให้เอกชน 31 ราย ที่ซื้อซองประมูลซักถามรายละเอียดทีโออาร์ ก่อนจะเปิดให้ยื่นซองข้อเสนอในวันที่ 12 พ.ย. 2561 โดยส่วนใหญ่ที่เอกชนสอบถามจะมีหลากหลายประเด็น เช่น การเวนคืนที่ดิน เทคนิคการก่อสร้าง รวมถึงพื้นที่ทับซ้อนกับโครงการอื่น ๆ ที่อยู่ในแนวเส้นทาง

แหล่งข่าวจากกลุ่ม ซี.พี.กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการจ้างบริษัทที่ปรึกษามาศึกษารายละเอียดแต่ละด้าน ทั้งงานโยธา งานระบบ การบริหารโครงการและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพื่อประเมินรายละเอียดอย่างถี่ถ้วนก่อนยื่นซองประมูลในวันที่ 12 พ.ย.นี้ ซึ่งตอนนี้ยังไม่สะเด็ดน้ำ รวมถึงการหาพันธมิตรที่จะร่วมทุนด้วย คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือน ต.ค.นี้

ไฮสปีดไทย-จีนเข็นไม่ขึ้น

ด้านความคืบหน้ารถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. วงเงิน 1.79 แสนล้านบาท แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ร.ฟ.ท.ยังคงเดินหน้าการก่อสร้าง แม้ว่าโครงการจะมีปัญหาอุปสรรคขอใช้พื้นที่จากหน่วยงานอื่นเพื่อก่อสร้างและการเวนคืนที่ดินที่อยู่ระหว่างออก พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน ซึ่งจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติเร็ว ๆ นี้

ทั้งโครงการมีเวนคืนที่ดิน 2,815 ไร่ ค่าเวนคืน 13,069 ล้านบาท จุดใหญ่อยู่ที่เชียงรากน้อย 800-900 ไร่ เพื่อก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุง ที่เหลือเป็นจุดเลี้ยวโค้งและขึ้น-ลงสถานี และมีค่ารื้อท่อก๊าซ ปตท. 40 กม. จาก
รังสิต-ภาชี และคลอง 1 ถึงคลองพุทรา ขณะที่สถานีจะสร้างอยู่บนสถานีเดิมเป็นหลัก มีสร้างบนพื้นที่ใหม่ 2 แห่ง คือ สถานีสระบุรี อยู่ด้านหลังของศูนย์การค้าโรบินสัน และสถานีปากช่อง ที่สร้างอยู่บนที่ราชพัสดุ หนองสาหร่าย

เลื่อนประมูลแสนล้านไปปีหน้า

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ขณะที่การก่อสร้างจากที่แบ่ง 14 สัญญา ในส่วนของงานก่อสร้างคันดินสัญญาแรก ระยะทาง 3.5 กม. จากสถานีกลางดง-ปางอโศก ได้ทำพิธีเริ่มโครงการเมื่อเดือน ธ.ค. 2560 ความคืบหน้าล่าสุดอยู่ที่ 30-40% ซึ่งยังล่าช้าจากแผนงาน จากนั้นปลายเดือน ก.ย.นี้ จะประกาศทีโออาร์ประมูลก่อสร้างงานช่วงที่ 2 ระยะทาง 11 กม. จากสีคิ้ว-กุดจิก วงเงิน 4,000 ล้านบาท เป็นงานก่อสร้างคันดิน 6 กม. และทางยกระดับ 4 กม. คาดว่าจะประมูลภายในเดือน พ.ย.นี้ และได้ผู้รับเหมาก่อสร้างในเดือน ม.ค. 2562

“อีก 12 สัญญาที่เหลือกว่า 1.1 แสนล้านบาท จะทยอยเปิดประมูลให้หมดเดือน ต.ค.ปีหน้า ที่ต้องรอให้จีนส่งแบบรายละเอียดมาให้พิจารณา ถึงจะกำหนดราคากลางและเปิดประมูลได้ ทุกอย่างต้องทำอย่างรอบคอบ” นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนยังคงเดินหน้าต่อ จะมีประชุมคณะกรรมการร่วมฯวันที่ 24 ก.ย.นี้ ติดตามความคืบหน้าและเร่งรัดการก่อสร้าง ส่วนการดำเนินการต่อในช่วงที่ 2 ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก อยู่ระหว่างเตรียมการที่จะของบประมาณจากรัฐบาล

ด้านนายธานินทร์ สมบูรณ์ อดีตอธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้างานก่อสร้างสัญญาที่ 1 ช่วงกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. ขณะนี้คืบหน้ากว่า 50% แต่ยังติดปัญหาด้านงบประมาณ โดยต้องไปแก้บันทึกข้อตกลง (MOU) เรื่องงบประมาณ เนื่องจาก ร.ฟ.ท.ในฐานะเจ้าของโครงการให้งบประมาณมาดำเนินการเพียงส่วนหนึ่ง จำนวน 118 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จสิ้นเดือน ต.ค.นี้

ที่มา : Prachachat.net

Advertisement
Haus23
Haus23
Haus23