ไฟเขียวเจรจาตรงเดินรถไฟฟ้าสีน้ำเงิน

634

ประจิน”เห็นชอบเดินหน้าเจรจาตรง BMCLเดินรถสายสีน้ำเงิน ต่อขยาย ส่งเรื่องต่อสศช.และ ครม. พร้อมขอปรับรูปแบบจากPPP Gross Cost (จ้างวิ่ง) เป็นPPP Net Cost (สัมปทาน) เหมือนสายเฉลิมรัชมงคล ตั้งเป้าเซ็นสัญญาใน ก.ค.นี้ เพื่อเร่งเปิดเดินรถให้ได้ไม่เกินต้นปี 62 ส่วนสีม่วงยันเปิดเดินรถช่วง พ.ค.59 ด้านBMCLยันเปิดเชิงพาณิชย์ 12 ส.ค.59

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดโครงการ “MRT 11 ปี ส่งความสุขรับเปิดเทอม”เนื่องในโอกาสรถไฟฟ้ามหานครสายสีน้ำเงิน (เฉลิมรัชมงคล ) เปิดให้บริการครบ 11 ปี เมื่อวันที่ 20 พ.ค. ว่า จะเร่งรัดการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) ให้เร็วกว่าเดิมที่จะเปิดให้บริการได้กลางปี 2559 ประมาณ 4 เดือน โดยในเดือนพ.ย.-พ.ย. 2558 จะส่งมอบรถไฟฟ้าได้ครบจากนั้นจะมีการทดสอบการเดินรถในช่วง ม.ค.-มี.ค.2559 จากนั้นจะสามารถกำหนดเปิดให้บริการแบบเต็มรูปแบบอย่างไม่เป็นทางการได้ในช่วง เม.ย.-พ.ค. 2559 และเปิดบริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 12 ส.ค. 2559

สำหรับความคืบหน้าการเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วน ต่อขยาย (หัวลำโพง-บางแคและบางซื่อ-ท่าพระ) นั้น พล.อ.อ. ประจินกล่าว ได้ลงนามเห็นชอบตามมติคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่ให้ดำเนินการคัดเลือกเอกชนโดยการเจรจาตรงกับ BMCL ตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้า ร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ. รวมทุนฯ 35) ซึ่งได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงคมนาคมเร่งเสนอเรื่องไปที่คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ภายในสัปดาห์หน้า โดยภายในเดือน ก.ค. 2558 จะต้องลงนามในสัญญากับผู้เดินรถให้ได้ซึ่งจะทำให้เปิดเดินรถล่าช้าจากแผนประมาณ 4-6 เดือน จากเดิม จะเปิดให้บริการเดินรถปลายปี 2561 จะเป็นต้นปี 2562 ส่วนรางนั้นจะเสร็จก่อน โดยขณะนี้การก่อสร้างมีความคืบ หน้าประมาณ 60 %ดังนั้นจะต้องดูแลบำรุงรางระยะหนึ่ง

ส่วนโครงการถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) นั้น จะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ในเดือนมิ.ย.นี้ เพื่อพิจารณาในเรื่องที่ รฟม.ได้เสนอปรับเปลี่ยนแนวเส้นทางช่วงที่ผ่านประชาสงเคราะห์มาเป็นแนวถนนพระราม 9 ว่าจะเห็นด้วยหรือให้ รฟม.ดำเนินการเดิมที่กำหนดไว้ในแผนแม่บท ส่วนกรณีที่มีประชาชนคัดค้านเรื่องเวนคืนนั้นจะต้องพิจารณาผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก โดย รฟม.จะต้องแก้ปัญหาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งคาดว่าจะสรุปสายสีน้ำเงินในเรื่องการเดินรถและสายสีส้มเพื่อเสนอ ครม.ได้ก่อน จากนั้นจะเสนอสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ตามไป

“ที่ประชุม ครม.เมื่อวนที่ 19 พ.ค.ได้เร่งให้ดำเนินการเรื่องเดินรถสายสีน้ำเงิน เนื่องจากล่าช้ากว่าแผนพอสมควรแล้ว ซึ่งที่ผ่านมามีประเด็นต้องพิจารณาเนื่องจากกรรมการของมาตรา 13 ไม่สามารถประชุมได้ต้องชะลอออกไป ส่วนกระทรวงเห็นว่าล่าช้าแล้ว จึงมีการเสนอครม. ขอปรับรูปแบบจากการร่วมทุนแบบจาก PPP Gross Cost หรือจ้างวิ่งเหมือนสายสีม่วง เป็น PPP Net Cost หรือสัมปทานและให้เป็นการเดินรถต่อเนื่อง แต่มีความเห็นจากหลายหน่วยงาน และสรุปให้ดำเนินการตามรูปแบบ เดิม คือPPP Gross Cost” พล.อ.อ.ประจินกล่าว

Advertisement

ส่วนการเดินรถสายสีเขียวใต้ (แบริ่ง-สมุทรปราการ) อยู่ระหว่างรอคำตอบจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งทราบว่า กทม.ต้องการเดินรถทั้งสีเขียวใต้และสีเขียวเหนือ (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) โดยขอพิจารณาทั้ง 2 ส่วนแล้วจะให้คำตอบซึ่งกระทรวงคมนาคมเห็นว่า ขอให้แยกพิจารณาโดยให้คำตอบส่วนใต้ก่อน หากไม่รับเดินรถ รฟม.จะได้เดินรถเอง

รฟม.เร่งสรุปค่าโดยสารสีม่วง

นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการฯรฟม.กล่าวว่า ขณะนี้รฟม.กำลังพิจารณาอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมของสายสีม่วง โดยคาดว่าจะกำหนดในอัตราที่ใกล้เคียงกับสายเฉลิมรัชมงคล โดยมีอัตราค่าแรกประมาณ 10 กว่าบาท และคิดตามระยะทาง โดยจะพิจารณาการใช้ระบบตั๋วร่วมประกอบกับจำนวนผู้โดยสาร รวมถึงค่าใช้จ่าย ค่าบำรุงรักษา ค่าจ้างวิ่งที่ต้องจ่ายให้ BMCL มาประกอบทั้งหมดจึงจะกำหนดค่าโดยสารที่ชัดเจนอีกครั้ง ซึ่งค่าโดยสารจะต้องไม่เป็นภาระกับรัฐบาล

ส่วนการเดินรถสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายนั้น หลังจากสรุปใช้วิธีเจรจาตรงกับBMCL และอยู่ระหว่างเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามขั้นตอนนั้น จะเสนอขอปรับรูปแบบการร่วมทุนอีกครั้ง จาก PPP Gross Cost (จ้างวิ่ง) เป็น PPP Net Cost หรือสัมปทาน เพื่อให้สายสีน้ำเงินเป็นสัญญารูปแบบเดียวกันทั้งหมด

BMCL ยันเปิดสีม่วงเป็นทางการ 12 ส.ค. 59

ด้านนายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL กล่าวว่า BMCL จะเปิดเดินรถสายสีม่วง เต็มรูปแบบเชิงพาณิชย์ในวันที่ 12 ส.ค. 2559 โดยจัดเก็บอัตราค่าโดยสารตามที่ รฟม.กำหนด โดยหลังจากรับมอบรถไฟฟ้า ตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2558 จะเริ่มนำรถวิ่งบนรางเพื่อทดสอบแบบแยกระบบก่อนประมาณ 3 เดือน จากนั้นตั้งแต่เดือน มี.ค. 2559 จะเริ่มทดสอบแบบรวมทุกระบบ ประมาณ 3 เดือน และตั้งแต่ พ.ค.-ก.ค.2559 จะเป็นการทดสอบเดินรถเสมือนจริง ซึ่งในระหว่างนี้จะเปิดให้ผู้สนใจเป็นกลุ่มหรือหมู่คณะร่วมทดสอบระบบด้วย และจะทดสอบไปจน กว่าจะมีความมั่นใจในความปลอดภัยจึงจะปิดให้บริการประชาชนทั่วไป ซึ่งยังเป็นวันที่ 12 ส.ค. 2559

ทั้งนี้ หลังจากการควบรวมกับบริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BECL แล้วจะเข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งจะทำให้ผลประกอบการปี 2558 ของ BMCL มีกำไร และสามารถปันผลได้ทันที

ที่มา :ASTV ผู้จัดการรายวัน

Advertisement
Haus23
Haus23
Haus23