เปิดขุมทอง มักกะสัน แลนด์มาร์กใหม่ กรุงเทพฯ ซีพี เปิดหน้าตัก ทุ่มทุน 1.4 แสนล้าน เนรมิตเมืองรีเทลรองรับนักธุรกิจ อีอีซี นักวิเคราะห์เผย ทำลายสถิติ วันแบงค็อก พระราม 4 อาณาจักรเจ้าสัวเจริญ
มักกะสัน กำลังกลายเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ ของกรุงเทพมหานคร หลัง บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด (กลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร) ลงนามในสัญญา กับ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2562 จุดเริ่มต้นการเข้าพื้นที่ก่อสร้าง โครงการไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง- สุวรรณภูมิ- อู่ตะเภา) จึงเริ่มต้นไปพร้อมๆกับการพัฒนาที่ดินแปลงงามที่กลุ่มซีพี ได้รับสิทธิพัฒนามิกซ์ยูส เมืองอัจฉริยะ มูลค่าแสนล้านบาท ในระยะเวลา 50 ปี
จากทำเลที่ปล่อยทิ้งร้าง เนื้อที่เกือบ 500 ไร่ บางส่วน เป็นที่ตั้งของโรงซ่อม บ้านพัก โรงพยาบาล พนักงานรถไฟไทย แต่นับจากนี้หากมีการส่งมอบพื้นที่ให้กลุ่มซีพี ครบ 150 ไร่ ในอีก 2 ปีข้างหน้า หลังจากเซ็นสัญญา ประเมินว่า บริเวณนี้จะเป็น “นิวทาวน์อินทาวน์” ขุมทรัพย์ใหม่ ที่น่าจับตาของกลุ่มซีพี ที่ว่ากันว่าจะสร้างอัตลักษณ์น่าจดจำไม่แพ้ อภิโปรเจ็กต์ “วันแบงค็อก” หัวมุมถนนพระราม 4 ตัดวิทยุของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี มูลค่า 1.2 แสนล้านบาท
จากการซุ่มออกแบบ เน้นพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ปอดกลางเมือง มักกะสัน วิวทำมุม 360 องศา ทางเดิน ทางจักรยาน ทางเชื่อมสู่ภายนอกบริเวณอโศก-เพชรบุรี แก้ปัญหาจราจร การออกแบบพื้นที่อาคารสำนักงาน เน้นความอัจฉริยะไฮเทคโนโลยีเข้ามา ให้เหมาะกับสังคม AI ในอีก 5 ปีข้างหน้าเชื่อมการเดินทาง ด้วยไฮสปีด ไปยังเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก เมืองอีอีซี
ไม่เพียงเท่านี้ รัศมีโดยรอบจะได้อานิสงส์ ทั้ง ย่านพระราม 9-รัชดาฯ,
ย่าน อโศก- เพชรบุรี ปัจจุบันมีคอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน
ศูนย์การค้าเกิดขึ้นจำนวนมาก
ทั้งนี้ นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด (กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร) เผยในอนาคตอันใกล้พื้นที่ประมาณ 140 ไร่บริเวณสถานีมักกะสันจะพัฒนาเป็นพื้นที่รีเทลรองรับการเข้ามาของนักธุรกิจ นัก ท่องเที่ยว และเชื่อมต่อการเดินทางได้อย่างสะดวกสบายมากยิ่งขึ้นที่สำคัญจะพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นศูนย์วิจัยให้กับรฟท.คาดว่าจะใช้เม็ดเงินลงทุนที่ 1.4 แสนล้านบาท
ทั้งนี้จากการวิเคราะห์ของนักวิจัยอสังหาริมทรัพย์ สะท้อนว่า จากการเปิดเผยข้อมูลเด็ดของกลุ่มซีพี พบว่า นอกจากที่ดินจะตั้งอยู่กลางใจเมือง ผังเมือง กทม. ใหม่ยังกำหนดให้เป็นศูนย์การคมนาคม ย่านพาณิชยกรรมสามารถพัฒนา ตึกสูงพื้นที่ใช้สอยได้มากหลายเท่าตัวส่วนใหญ่เหมาะพัฒนาเป็นโรงแรม ศูนย์การค้า เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ อาคารสำนักงาน เนื่องจากเป็นที่เช่าไม่ได้สิทธิขาดในที่ดิน
ที่สำคัญซีพีทำลายสถิติ ถือครองที่ดินรัฐเมืองมักกะสัน เนื้อที่ 140-150
ไร่ มีขนาดแปลงที่ดินที่ใหญ่กว่า ที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ 107
ไร่ บนถนนพระราม 4 โครงการวันแบงค็อก และมีมูลค่าการลงทุนสูงกว่า
ของเจ้าสัวเจริญ
ขณะการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ระบุ โครงการพัฒนามักกะสัน เอกชน จัดทำแผนแม่บท และจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวด ล้อม หรืออีไอเอ หากมีการลงทุนจะทำให้บริเวณนี้เป็นเมืองแวดล้อมไปด้วยรถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้าสายต่างๆ เรียกว่าคุ้มค่ากับค่าเช่า 50,000 ล้านบาท ตลอดอายุสัมปทาน ขณะเอกชนสามารถเพิ่มมูลค่าได้สูงกว่านั้น
อย่างไรก็ตาม นอกจากกลุ่มซีพีจะได้ขุมทรัพย์ มักกะสันแล้ว ยังได้สิทธิพัฒนาที่ดินตลอดแนวเส้นทางไฮสปีด อย่างสถานีศรีราชา และที่ดินที่ซีพีสนใจซื้อเก็บเป็นแลนด์แบงก์
ที่มา : www.thansettakij.com