ปูพรม 1.7ล้านล. รับผังเมืองใหม่อีอีซี

980

จากรายการ ห้องข่าวเศรษฐกิจ NEWSROOM ช่วง ลึกแต่ไม่ลับกับ บากบั่น บุญเลิศ ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 10.30-11.50 น.เนชั่นทีวี ช่อง 22 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา ดำเนินรายการโดย วิลาสินี แวน ฮาเรน และอาชวินท์ สุกสี

ในรายการได้เปิดโมเดล ตามร่างแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคในภาคตะวันออก ทั้ง 8.29 ล้านไร่ 3 จังหวัดภาคตะวันออก ประกอบด้วย จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือบอร์ดอีอีซี เพิ่งให้ความเห็นชอบ มานำเสนอ โดยพื้นที่ดังกล่าวนี้สามารถแบ่งออกเป็น 4 โซนหลัก ดังนี้

1. พื้นที่สีแดง อยู่ในพื้นที่เมือง ชุมชนเมือง จำนวน 1.06 ล้านไร่ เป็นพื้นที่สำหรับการตั้งถิ่นฐาน รองรับการพัฒนาพื้นที่ ทั้งที่เป็นเมืองเดิมและที่จะพัฒนาเป็นเมืองใหม่ในอนาคต อาทิ อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา เมืองชลบุรี เมืองศรีราชา แหลมฉบัง เมืองพัทยา และอู่ตะเภา เป็นต้น

2. พื้นที่สีม่วง ซึ่งเป็นพื้นที่ในการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.24 ล้านไร่ เป็นการรวมกลุ่มกันของคลัสเตอร์ต่างๆ เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการ

ทั้งยังเป็นเขตส่งเสริมพิเศษสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ และพื้นที่เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรม ครอบคลุมพื้นที่ในจังหวัดชลบุรี และพื้นที่ในจังหวัดระยองบางส่วน แต่กำหนดให้อยู่ห่างจากพื้นที่ป่าไม้ไม่น้อยกว่า 1 กิโลเมตร ห่างจากแม่นํ้าลำคลอง และพื้นที่ชายทะเล ไม่น้อยกว่า 500 เมตร เป็นต้น

Advertisement

3. พื้นที่เกษตรกรรม จำนวน 4.87 ล้านไร่ ซึ่งลดลงจากผังเมืองเดิมประมาณ 2 ล้านไร่ เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมและชุมชนเมืองเป็นหลัก และ

4. พื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากร ธรรมชาติ กำหนดไว้ให้มีจำนวน 1.67 ล้านไร่

สำหรับผังการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตอีอีซีดังกล่าวนี้ คาดว่าทางบอร์ดอีอีซีเตรียมนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมครม.เพื่อขอความเห็นชอบภายในเดือนตุลาคมนี้”

ทั้งนี้ เมื่อมีการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวแล้ว มีการประมาณการทางเศรษฐกิจถึงปี 2580 ว่า 3 จังหวัดอีอีซีนี้จะมีประชากรเพิ่มขึ้นจาก 3 ล้านคน เป็น 6 ล้านคน รองรับนักท่องเที่ยวได้ 55.47 ล้านคน เกิดการจ้างงาน 2.7 ล้านตำแหน่งงาน ก่อให้เกิดการเติบโตของจีดีพี 10 ล้านล้านบาท มีเงินลงทุนใน 5 ปีแรกประมาณ 1.7 ล้านล้านบาทใน 9 โครงการสำคัญ ซึ่งจะส่งผลต่อจีดีพีของ 3 จังหวัดเติบโตเฉลี่ย 7-8% ต่อปี และส่งผลต่อการเติบโตจีดีพีของประเทศ 1.2% ต่อปี

กรณีมีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ทั้งเรื่องของนํ้าประปา และไฟฟ้า ว่าจะเพียงพอหรือไม่นั้น ได้รับการยืนยันจากบอร์ดอีอีซีว่า มีแผนการรองรับเรื่องนี้ไว้เรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการดูแลสิ่งแวดล้อมและการบำบัดนํ้าเสีย

ตอนหนึ่งในรายการระบุด้วยว่า นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เปิดเผยว่า หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแผนผังในการใช้ประโยชน์ที่ดินตามที่บอร์ดอีอีซีได้มีมติแล้ว ส่งผลให้ผังเมืองเดิมที่ใช้อยู่ทั้งหมด 15 ผังจะถูกยกเลิกไป โดยทางกรมโยธาธิการและผังเมืองจะไปดำเนินการจัดทำผังเมืองใหม่ทั้งหมดใน 30 อำเภอให้สอดคล้องกับแผนผังที่ ครม.เห็นชอบตามที่กพอ.เสนอต่อไป

ทั้งนี้ เป็นไปตาม.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2561 สมัยรัฐบาลประยุทธ์ 1 ที่ยังเป็นรัฐบาลคสช. ที่กำหนดให้พื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง รวมถึงพื้นที่อื่นใดที่จะกำหนดเพิ่มเติม เป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี)

ประการสำคัญพ.ร.บ.ฉบับนี้ให้อำนาจในการกำหนดนโยบายและการตัดสินใจที่สำคัญๆ แก่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(กพอ.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการจัดทำแผนนโยบาย แผนภาพรวมเพื่อการพัฒนา ตลอดจนแผนต่างๆ อาทิ แผนการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค เป็นต้น ต้องได้รับความเห็นชอบจากบอร์ดกพอ.

หลังจากนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะไปดำเนินการจัดทำแผนผังต่างๆ ให้เป็นไปตามมติของบอร์ดกพอ.ต่อไป รวมถึงผังเมือง 15 ฉบับใน 3 จังหวัด อีอีซี ที่ใช้มาแต่เดิม จะต้องไปแก้ไขให้สอดรับกับแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินที่บอร์ดกพอ.เห็นชอบ หลังจากที่ครม.อนุมัติแล้วต่อไป

นอกจากนี้ยังกำหนดให้อำนาจเลขาธิการ กพอ. ในการอนุมัติ อนุญาต ให้ความเห็นชอบ รับจดทะเบียน หรือรับแจ้งตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ กฎหมายว่าด้วยการขุดดินและถมดิน กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร และกฎหมายว่าด้วยโรงงาน เป็นต้น รวมถึงการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการดำเนินการเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้นโดยได้รับความเห็นชอบจากกพอ.

กฎหมายฉบับนี้ได้โอนอำนาจตามกฎหมายอีกหลายฉบับมาให้ กพอ. หรือเลขาธิการ กพอ. อาทิ อำนาจในการใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม อำนาจในการใช้ที่ราชพัสดุ อำนาจในการพิจารณาอนุญาต อนุมัติ ให้สิทธิหรือให้สัมปทาน รวมถึงยังได้กำหนดมาตรการพิเศษในการดำเนินการตามกฎหมาย อาทิ มาตรการพิเศษเพื่อให้การพิจารณาอีไอเอ หรือ อีเอชไอเอ ตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมเป็นไปอย่างรวดเร็ว รวมถึงให้อำนาจกพอ. กำหนดกระบวนการพิจารณาการร่วมลงทุนได้เอง โดยไม่ต้องเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการร่วมลงทุน เป็นต้น

เป็นอำนาจเหนือกฎหมายอื่นสำหรับการดำเนินการในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เรียกว่าเบ็ดเสร็จในที่เดียว เพื่อขับเคลื่อนให้ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี) เป็นแหล่งในการลงทุนสมัยใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีก้าวหน้า ยกระดับประเทศไทยสู่ประเทศพัฒนาแล้วตามเป้าหมายแผนยุทธศาสตร์ในอีก 20 ปีข้างหน้า ให้เกิดขึ้นให้ได้

หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,511 วันที่ 6-9 ตุลาคม 2562

ที่มา : thansettakij.com

Advertisement
Haus23
Haus23
Haus23