‘สนามบินดอนเมือง’ ลุยเชื่อมรถไฟฟ้า 2 สาย ปลายปีหน้าผู้โดยสารได้ใช้แน่

5077

ดอนเมือง” ลุยเชื่อมรถไฟฟ้า 2 สาย ปลายปีหน้าได้ใช้แน่ “สายสีแดง” ลงทุนสกายวอล์คเข้าสนามบิน “สายสีเขียว”เตรียมวิ่งรถแอร์พอร์ตบัสก่อน ถ้าคุ้มค่าเดินหน้าสร้างโมโนเรล 3,000 ล้านบาท

เรืออากาศโทสัมพันธ์ ขุทรานนท์ รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมือง (สายปฏิบัติการ) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ทอท. มีแผนการเชื่อมต่อสนามบินดอนเมืองกับระบบขนส่งมวลชนใหม่ๆ ที่กำลังจะเปิดให้บริการ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารมีทางเลือกในการเดินทางมากขึ้น

เริ่มจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต บนถนนวิภาวดีรังสิต ที่มีกำหนดเปิดให้บริการในเดือนมกราคม 2564 ซึ่งจะมีการก่อสร้างทางเดินลอยฟ้า (Sky Walk) จากสถานีดอนเมือง เข้ามาภายในสนามบิน

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสาย BTS สายสีเขียว (ส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ) หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต บนถนนพหลโยธิน ที่มีกำหนดเปิดให้บริการในเดือนธันวาคม 2563 นั้น เบื้องต้นก็จะประสานองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ให้เปิดเดินรถโดยสารประจำทางเชื่อมต่อสนามบิน (Airport Bus) สายใหม่ ระหว่างสนามบินดอนเมืองและรถไฟฟ้าสายสีเขียว ในเส้นทางสถานีสะพานใหม่-สนามบินดอนเมือง-สถานีแยก คปอ. แบบเป็นวงกลม ซึ่งก็จะมีลักษณะเหมือนกับ Airport Bus สาย A1-A4 ที่วิ่งให้บริการในปัจจุบัน

ศึกษา “โมโนเรล” เชื่อมสายสีเขียว

Advertisement

นอกจากนี้ ทอท. ยังมีแนวคิดจะพัฒนาระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) เชื่อมระหว่างรถไฟฟ้าสายสีเขียวและสนามบินดอนเมืองในอนาคต โดยจะเร่งศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการภายใน 6 เดือน หากผลการศึกษาระบุว่าการลงทุนโมโนเรลมีความคุ้มค่า ทอท. ก็จะพิจารณาก่อสร้างต่อไป แต่จะยังไม่บรรจุอยู่ในแผนพัฒนาสนามบินดอนเมืองเฟส 3 เพราะหากนำมาบรรจุเพิ่มเติมจะยิ่งทำให้โครงการลงทุนเฟส 3 ล่าช้าออกไปอีก

ทั้งนี้ จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่าสนามบินดอนเมืองและรถไฟฟ้าสายสีเขียวบนถนนพหลโยธินมีระยะห่างประมาณ 3 กิโลเมตร หากต้องลงทุนคาดว่าจะมีวงเงินลงทุนอยู่ที่ 1,000 ล้านบาทต่อ 1 กิโลเมตร หรือรวมทั้งสิ้นประมาณ 3,000 ล้านบาท

สำหรับจุดเชื่อมต่อนั้น อาจจะสร้างโมโนเรลเชื่อมจากบริเวณสถานีแยก คปอ. ของรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือมายังสนามบินดอนเมือง ส่วนแนวเส้นทางขณะนี้มี 2 แนวให้เลือกคือ 1.สร้างผ่านพื้นที่ของกองทัพอากาศ (ทอ.) หรือ 2. สร้างผ่านพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) คือ ตัดตรงจากบริเวณบิ๊กซีสะพานใหม่มายังถนนวิภาวดีรังสิต โดยหากสรุปว่าจะเดินหน้าโครงการก็จะต้องไปหารือรายละเอียดกับ ทอ. และ กทม. เพื่อขอใช้พื้นที่ในการสร้างเสาตอม่อต่อไป

ขยายดอนเมืองเฟส 3

เรืออากาศโทสัมพันธ์เปิดเผยต่อว่า ทอท. ยังอยู่ระหว่างผลักดันโครงการพัฒนาสนามบินดอนเมืองเฟสที่ 3 มูลค่า 3.8-4 หมื่นล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาความแออัดบริเวณอาคารผู้โดยสาร (Terminal)

โดยล่าสุด ทอท. อยู่ระหว่างทำแบบร่างของโครงการพัฒนาสนามบินดอนเมืองเฟสที่ 3 ให้สอดคล้องกับการเปิดรถไฟฟ้าสายสีเขียวและรถไฟฟ้าสายสีแดง ขณะเดียวกันก็กำลังนำเสนอโครงการให้กระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามขั้นตอน เมื่อ ครม. เห็นชอบแล้ว ก็จะออกแบบรายละเอียดให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี และเปิดประมูลก่อสร้างต่อไป

เมื่อโครงการพัฒนาเฟสที่ 3 แล้วเสร็จในปี 2566 จะส่งผลให้ความสามารถในรองรับผู้โดยสารเพิ่มจาก 30 ล้านคนต่อปีในปัจจุบัน เป็น 40 ล้านคนต่อปี แต่ถ้านำเทคโนโลยีและระบบบริหารใหม่ๆ มาใช้จะช่วยเพื่อความสามารถในการรองรับได้อีก 10 ล้านคนต่อปี เป็น 50-55 ล้านคนต่อปี

อย่างไรก็ตาม เมื่อเฟส 3 แล้วเสร็จจะส่งผลให้ปัญหาความแออัดจากคอขวดย้ายไปอยู่ในเขตการบิน (Airside) แทน เพราะความสามารถของทางวิ่ง (Runway) ยังคงรองรับได้ 52 เที่ยวบินต่อชั่วโมงเช่นเดิม ดังนั้น สนามบินดอนเมืองจึงจะหารือสายการบินต่างๆ ให้จัดหาเครื่องบินที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมาให้บริการ เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว

ที่มา : https://www.thebangkokinsight.com/207762/

Advertisement
Haus23
Haus23
Haus23