กนอ.เผยอีอีซีแรงไม่หยุด เล็งผุดนิคมใหม่18แห่ง

1030

เตรียมไปเขียวตั้งนิคมฯใหม่ในอีอีซี 18 แห่ง มีพื้นที่กว่า 3.5 หมื่นไร่ หาก ส.ค. นี้ ประกาศผังเมือง อีอีซี เดินหน้าทันที เผยนิคมฯในอีอีซี 34 แห่ง ยอดลงทุนสะสมรวม 1.9 ล้านล้านบาท

นางสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) เปิดเผยว่า จากนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ทำให้มีผู้สนใจเข้ามาตั้งนิคมฯแห่งใหม่เป็นจำนวนมาก โดยในขณะนี้มีนิคมฯที่อยู่ระหว่างการขอตั้งนิคมฯแห่งใหม่กับ กนอ. รวมทั้งสิ้น 18 นิคมฯ มีพื้นที่รวม 35,788 โดยเป็นนิคมฯที่อยู่ในจ.ฉะเชิงเทรา 8 โครงการ จ.ชลบุรี 6 โครงการ และจ.ระยอง 4 โครงการ ซึ่งทั้ง 18 นิคมฯ ที่จะตั้งขึ้นใหม่นี้จะเสนอคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กอพ.) ยกขึ้นเป็นเขตส่งเสริมเพื่ออุตสาหกรรม เพื่อดึงดูดการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายให้เข้ามาตั้งในพื้นที่เหล่านี้

“ขณะนี้ผู้ประกอบการต่างรอความชัดเจนของผังเมืองอีอีซี ที่จะออกมาในช่วงเดือนส.ค.นี้ หากผังเมืองมีความชัดเจนก็คาดว่า กนอ. จะสามารถลงนามความร่วมมือตั้งนิคมฯให้ได้ทั้งหมดภายในปีนี้ ซึ่งที่ดินนิคมฯที่เพิ่มขึ้นกว่า 3.5 หมื่นไร่ รวมกับพื้นที่เดิมที่หาพื้นที่ได้เพิ่มประมาณ 1 หมื่นไร่ ก็จะทำให้ กนอ. มีที่ดินใหม่รองรับการลงทุนใน อีอีซี ได้ประมาณ 4 หมื่นไร่ ขาดอีกเพียงเกือบ 1 หมื่นไร่ ก็จะครบ 5 หมื่นไร่ ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ภายในปี 2564”

อีอีซียอดลงทุน1.9ล้านล้าน

สำหรับนิคมฯ ในพื้นที่ อีอีซี ในขณะนี้มีทั้งหมด 34 แห่ง มีพื้นที่รวม 134,805 ไร่ มีมูลค่าการลงทุนสะสมสิ้นปี 2561 มีจำนวน 1.9 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้แบ่งเป็นนิคมฯที่ยกระดับขึ้นมาเป็นเขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรม 21 แห่ง อยู่ใน จ.ระยอง 8 แห่ง จ.ชลบุรี 12 แห่ง และจ.ฉะเชิงเทรา 1 แห่ง คิดเป็นพื้นที่ 91,310 ไร่ ซึ่งได้รับการพัฒนาพื้นที่พร้อมขาย/เช่ารองรับการลงทุนใหม่ 10,840 ไร่ เงินลงทุน 1.31 ล้านล้านบาท

Advertisement

โดยการลงทุนในเขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรม 21 แห่ง แบ่งการลงทุนออกเป็นระยะแรก 2 แห่ง พื้นที่ 3,608 ไร่ เป็นพื้นที่พร้อมขาย/เช่า 1,875 ไร่ เงินลงทุนทั้งสิ้น 2.1 แสนล้านบาท การลงทุนระยะที่สอง 19 แห่ง พื้นที่ 84,634 ไร่ เป็นพื้นที่พร้อมขาย/เช่า 6,760 ไร่ เงินลงทุนทั้งสิ้น 1.048 ล้านล้านบาท ส่วนนิคมฯที่ไม่ได้เป็นเขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรม มีอยู่ 13 แห่ง มีพื้นที่ 43,495 ไร่

8เดือนยอดขายโต76%

สำหรับผลการดำเนินงานในรอบ 8 เดือนของปีงบประมาณ (ต.ค.2561-พ.ค.2562) มียอดขายพื้นที่ 1,765 ไร่ เพิ่มขึ้น 76.85% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมี 998 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่อีอีซี 1,641 ไร่ นอกอีอีซี 124 ไร่ โดยสาเหตุที่มียอดขายเพิ่มขึ้นมากมาจากนโยบายเร่งขับเคลื่อนโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในพื้นที่ อีอีซี เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง การขยายท่าเรือมาบตาพุด และแหลมฉบัง การลงทุนขนายสนามบินอู่ตะเภา เป็นต้น รวมทั้งยังได้มุ่งส่งเสริมการลงทุนโดยให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย และสถานการณ์สงครามการค้าที่รุนแรงเป็นตัวกระตุ้นให้นักลงทุนจากจีนเข้ามาในไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งหลักจากที่ตั้งรัฐบาลชุดใหม่ก็จะทำให้ต่างชาติมีความมั่นใจในการลงทุนมากขึ้น จึงทำให้คาดว่าในครึ่งปีหลังยอดขายในพื้นที่นิคมฯจะเพิ่มขึ้น

ส่วนความคืบหน้าโครงการท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงร่างสัญญาในเรื่องผลประโยชน์ที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตหากมีสินค้ามาเข้าท่าเรือเพิ่มขึ้นรัฐจะได้รับผลประโยชน์อย่างไร โดยในวันที่ 11 ก.ค. นี้ จะประชุมร่างสัญญา พร้อมกันนี้ ในช่วงปลายเดือนก.ค.นี้ จะรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่เป็นครั้งสุดท้ายหากมีข้อเสนอจากประชาชนในพื้นที่เพิ่มก็จะนำมาปรับปรุงสัญญา เมื่อได้ข้อสรุปทั้งหมดจะส่งไปให้อัยการสูงสุดพิจารณา จากนั้นก็จะส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติร่วมลงทุนต่อไป ส่วนการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) ได้จัดทำเสร็จแล้ว

สำหรับการพิจารณาโครงการลงทุนของบริษัท เอ็กซอนโมบิล คอร์ปอเรชั่นที่จะต้องถมทะเลประมาณ 1 พันไร่ ในพื้นที่ อีอีซี ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาจัดจ้างที่ปรึกษาเข้ามาศึกษาความเป็นไปได้ของการลงทุน และผลกระทบในด้านต่างๆ ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือนจะได้ข้อสรุป

โรจนะลงทุนเพิ่ม 3 แห่ง

นางสมจิณณ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ กนอ.และบริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด(มหาชน) ได้ร่วมลงนามสัญญาร่วมดำเนินงานจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมโรจนะชลบุรี 2 (เขาคันทรง) ต.เขาคันทรง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี บนพื้นที่กว่า 900 ไร่ มูลค่าการลงทุน รวม 2.1 พันล้านบาท รองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ อีอีซี โดยเน้นการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วน ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์สมัยใหม่ การแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์แบบครบวงจร แปรรูปเกษตร และอุตสาหกรรมเบา เป็นต้น

ทั้งนี้ คาดจะสามารถดึงดูดการลงทุนเข้าไทยได้มากกว่า 6 พันล้านบาท จากทั้งไทยและต่างชาติ เช่น จีน ญี่ปุ่น และยุโรป เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านทำเลที่ตั้ง และความพร้อมด้านโลจิสติกส์ทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ ไม่ว่าจะเป็นโครงข่ายทางด่วนมอเตอร์เวย์ ทางด่วนบางนา-ชลบุรี ท่าเรือแหลมฉบัง สนามบินแห่งชาติสุวรรณภูมิสามารถกระจายสินค้าเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้าน คาดว่าจะเพิ่มการจ้างงานในพื้นที่ได้มากกว่า 1 หมื่นอัตรา

โดยนิคมฯโรจนะชลบุรี 2 เป็นนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงานที่เป็นพื้นที่การลงทุนใหม่ในภาคตะวันออกที่ได้ยื่นขอเป็นเขตส่งเสริมตามโครงการอีอีซีแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) และเมื่อรายงานอีไอเอได้รับความเห็นชอบแล้ว คาดจะใช้ระยะเวลาพัฒนาพื้นที่ทั้งหมด ประมาณ 1 ปี พร้อมเปิดรับนักลงทุนที่สนใจเข้าใช้พื้นที่ประกอบกิจการได้ในเชิงพาณิชย์ในปี 2564

นายชัยพล พรพิบูลย์ ผู้จัดการฝ่ายสงเสริมและพัฒนาธุรกิจ บมจ.สวนอุตสาหกรรมโรจนะ กล่าวว่า โรจนะ ยังมีแผนที่จะตั้งนิคมฯในอีอีซี เพิ่มอีก 2 แห่ง ในพื้นที่แหลมฉบัง มีพื้นที่ 1 พันไร่ คาดว่าจะเปิดตัวได้ในต้นปี 2563 และที่หนองใหญ่ จ.ชลบุรี มีพื้นที่ 2-3 พันไร่ คาดว่าจะเปิดตัวได้ในปี 2564 โดยในช่วง 3-4 ปีมานี้มีลูกค้าจากจีนเข้ามามากมีสัดส่วน 80-90% ซึ่งจะเป็นอุตสาหกรรมไฮเทค เช่น ชิ้นส่วนอากาศยาน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ประมาณ 10% ที่เหลือเป็นอุตสาหกรรมทั่วไป เช่น อาหาร วัสดุก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ และกลุ่มเอสเอ็มอี

ที่มา : www.bangkokbiznews.com/news/detail/840380

Advertisement
Haus23
Haus23
Haus23