อีอีซีดันยอดขายนิคมพุ่ง

946
อีอีซีดันยอดขายนิคมพุ่ง

อีอีซีดันยอดขายนิคมพุ่ง

กนอ.เผย อีอีซี ดึงลงทุนนิคมฯ ยอดขาย 6 เดือนปีงบ 2562 ทะลุ 1.3 พันไร่ โต 5.25% มีเม็ดเงินลงทุน 8.5 พันล้านบาท พร้อมพัฒนานิคมฯใหม่ในอีอีซีเพิ่ม 3 แห่ง รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย หวังตั้งรัฐบาลใหม่ช่วยหนุนการลงทุนเพิ่มขึ้น

น.ส.สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า จากนโยบายการพัฒนาเขตพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ของรัฐบาล ที่มุ่งหวังให้เป็นพื้นที่ในการรองรับการลงทุนโดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 โดยเฉพาะการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวในปัจจุบันมีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นโครงการพัฒนาท่าเรือฯมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) โครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน

ทั้งนี้ การลงทุนภาพรวมการลงทุนสะสมในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 55 แห่ง และ 1 ท่าเรืออุตสาหกรรม ใน 16 จังหวัด ขยายตัวได้ดี โดยทั้ง 55 แห่งมียอดรวม 165,608 ไร่ พื้นที่สำหรับขายหรือเช่า 109,884 ไร่ โดยปัจจุบันมีพื้นที่ขายหรือเช่าแล้ว 90,222 ไร่ และมีพื้นที่คงเหลือ 19,662 ไร่ มูลค่าการลงทุนในภาพรวม 3.82 ล้านล้านบาท จ้างงานรวม 479,583 คน

อีอีซี ดันยอด6เดือนโต5.25%

Advertisement

สำหรับรอบ 6 เดือน (ต.ค.2561-มี.ค.2562) ที่ผ่านมา มียอดขาย/เช่าพื้นที่นิคมฯ อยู่ที่ 1,339 ไร่ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (ต.ค.60-มี.ค.61) จำนวน 525 ไร่ หรือคิดเป็น 5.25% มูลค่าลงทุนรวม 8,593 ล้านบาท โดยในจำนวนดังกล่าว เป็นพื้นที่นิคมฯใน อีอีซี ถึง 1,328 ไร่ นิคมฯนอกพื้นที่อีอีซ๊ จำนวน 11 ไร่ และก่อให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่อีก 1,585 คน

“สงครามการค้ามีความรุนแรงมากขึ้นเป็นแรงกระตุ้นให้นักลงทุนจีนตัดสินใจที่จะออกไปลงทุนต่างประเทศเร็วขึ้น ซึ่งไทยถือเป็นประเทศเป้าหมาย และเชื่อว่าปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลดีให้ยอดขายและเช่าที่ดินทั้งปีของ กนอ.เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้อยู่ที่ 3,500 ไร่”

คาดตั้งรัฐบาลใหม่หนุนลงทุน

สำหรับทิศทางการลงทุนที่นักลงทุนจะเข้ามาซื้อและเช่าพื้นที่ในช่วงครึ่งปีหลัง 2562 กนอ.คาดว่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเนื่องจากรัฐบาลมีมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนที่เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมที่เชื่อมโยงเส้นทางการค้าการลงทุนเต็มรูปแบบมากขึ้น รวมทั้งการจัดตั้งรัฐบาลที่จะได้ข้อสรุปและการประกาศนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาลในระยะต่อไปจะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นการลงทุน

ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในนิคมฯไทยในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาใน 5 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมคลังสินค้า อุตสาหกรรมยาง พลาสติกและหนังเทียม อุตสาหกรรมยานยนต์ และการขนส่ง อุตสาหกรรมเครื่องยนต์ เครื่องจักร และอะไหล่ และ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องมือวิทยาศาสตร์ และกลุ่มประเทศที่เข้ามา 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน สิงคโปร์ และเนเธอร์แลนด์

ตั้งนิคมฯใหม่ อีอีซี 3 แห่ง

นอกจากนี้ ยังมีนิคมฯอยู่ระหว่างพัฒนา 6 แห่ง อยู่ในอีอีซี 3 แห่ง และนอกอีอีซี 3 แห่ง ได้แก่ 1.นิคมฯ ซีพีจีซี จ.ระยอง 2. นิคมฯคอสมิก จ.ระยอง 3.นิคมฯโรจนะแหลมฉบัง จ.ชลบุรี 4.นิคมฯบ่อทอง 33 จ.ปราจีนบุรี 5.นิคมฯเวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ ไทยแลนด์ จ.อ่างทอง 6.นิคมฯ แพรกษา จ.สมุทรปราการ

สำหรับนิคมฯที่อยู่ใน อีอีซี ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมโรจนะแหลมฉบัง จ.ชลบุรี บนเนื้อที่ 843 ไร่ แบ่งเป็นเขตอุตสาหกรรม 72.94% พื้นที่ระบบสาธารณูปโภค 16% และพื้นที่สีเขียว 11.06% รองรับอุตสาหกรรมเบาที่ทันสมัย ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วน ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์สมัยใหม่ ดิจิทัล แปรรูปเกษตร และการแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์แบบครบวงจร

ทั้งนี้ จะใช้เงินลงทุน 2,700 ล้านบาท ใช้ระยะเวลาพัฒนาพื้นที่ 2 ปี ตั้งเป้าหมายขายพื้นที่หมดภายใน 3 ปี คาดจะก่อให้เกิดรายได้กว่า 3,400 ล้านบาท

“ซีพีจีซี-คอสมิค”ปักหลักระยอง

ส่วนนิคมอุตสาหกรรม ซีพีจีซี มีเนื้อที่ 3,068 ไร่ จ.ระยอง ใช้งบลงทุนกว่า 5,600 พันล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการได้ภายในปี 2564 โดยนิคมฯแห่งนี้ได้ถูกประกาศเป็นเขตส่งเสริมพิเศษเพื่อกิจการอุตสาหกรรม เพื่อรองรับ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ จัดสรรพื้นที่ 661 ไร่

โดยคาดว่าจะเกิดการลงทุน 16,543 ล้านบาท อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ จัดสรรพื้นที่ 330 ไร่ คาดว่าจะก่อให้เกิดการลงทุน 8,271 ล้านบาท อุตสาหกรรมดิจิทัล จัดสรรพื้นที่ 330 ไร่ คาดว่าจะก่อให้เกิดการลงทุนราว 8,271 ล้านบาท และอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร จัดสรรพื้นที่ 330 ไร่ คาดว่าจะก่อให้เกิดการลงทุน 6,617 ล้านบาท

นิคมอุตสาหกรรมคอสมิค ตั้งอยู่ที่ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง มีพื้นที่ 1,524 ไร่ มุ่งเน้นรองรับใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วน ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์

ผุดนิคมฯเชื่อมพื้นที่ อีอีซี

ส่วนนิคมฯที่อยู่นอกอีอีซี ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมบ่อทอง 33 จ.ปราจีนบุรี มีพื้นที่ 1,746 ไร่ แบ่งเป็น พื้นที่ที่ก่อให้เกิดรายได้ 1,214 ไร่ พื้นที่ระบบสาธารณูปโภค 341 ไร่ พื้นที่สีเขียวและแนวกันชน 191 ไร่ สามารถเชื่อมโยงพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้วและอีอีซี

โดยคาดว่าใช้เงินลงทุน 1,710 ล้านบาท ซึ่งจะถูกพัฒนาให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมเพื่อรองรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วน อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมแปรรูปเกษตร อุตสาหกรรรมผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ และอุตสาหกรรมการเบา เช่น เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์

สำหรับนิคมอุตสาหกรรมแพรกษา จ.สมุทรปราการ พื้นที่ 649 ไร่ ใช้เงินลงทุนพัฒนา 3,700 ล้านบาท เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเกษตรกรรม อุตสาหกรรมเบา ผลิตภัณฑ์โลหะ ชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ พลาสติกและกระดาษ รวมทั้งอุตสาหกรรมบริการและสาธารณูปโภค ซึ่งดำเนินการก่อสร้าง 2 ปี จะเปิดดำเนินการปี 2564 ซึ่งจะก่อให้เกิดการขยายตัวทางอุตสาหกรรมในสมุทรปราการ และเชื่อมโยงโลจิสติกส์กับอีอีซี

นิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ฟู้ด วัลเลย์ ไทยแลนด์ จ.อ่างทอง เนื้อที่ 1,398 ไร่ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ และธุรกิจด้านบรรจุภัณฑ์ ใช้เงินลงทุน 4,200 ล้านบาท ใช้เวลาพัฒนา 2 ปี และขายพื้นที่หมดภายใน 5 ปี จะก่อให้เกิดมูลค่าเงินลงทุนไม่น้อยกว่า 40,000 ล้านบาท และจ้างงานไม่น้อยกว่า 6,300 คน

ที่มา : Bangkokbiznews.com

Advertisement
Haus23
Haus23
Haus23