ครม.ไฟเขียวเอ็มโอยู 2 ฉบับ มอบให้อีอีซี ไปลงนามกับรัฐบาลจีน ร่วมพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก โดยใช้รูปแบบการพัฒนาเขตเศรษฐกิจอากาศยานนครเจิ้งโจว เป็นตัวอย่าง เชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่งทางอากาศ และ การพัฒนาพื้นที่รอบสนามบิน
นโยบายการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี 1 ใน โครงการที่สำคัญ เป็นเรื่องของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โดยศึกษารูปแบบการพัฒนาเขตเศรษฐกิจอากาศยานนครเจิ้งโจวของจีน เป็นต้นแบบการเชื่อมต่อการขนส่งทางอากาศเข้ากับการขนส่งรูปแบบอื่น และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาพื้นที่โดยรอบสนามบินอู่ตะเภาให้เกิดการใช้ประโยชน์สูงสุด
ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้มีการไปศึกษาดูงานในเชิงลึกของ ZAEZ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่กํากับดูแลและประสานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจอากาศยานนครเจิ้งโจว มีสถานะเทียบเท่าเมือง เป็นหน่วยงานภายใต้รัฐบาลมณฑลเหอหนาน มีพื้นที่รับผิดชอบในการกํากับดูแล 415 ตารางกิโลเมตร มีท่าอากาศยานนานาชาติเจิ้งโจวซินเจิ้ง หรือ CGO เป็นศูนย์กลางการพัฒนา
ทั้งนี้ ทาง ZAEZ ยินดีที่จะให้การสนับสนุนในการแลกเปลี่ยนความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์การพัฒนาในรูปแบบมหานครการบิน (Aerotropolis) และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันในด้านต่างๆ ได้แก่ ส่งเสริมการเชื่อมโยง โครงข่ายการขนส่งทางอากาศระหว่างเขตอีอีซี และ ZAEZ กลยุทธ์การพัฒนาบุคลากรรองรับ กรอบความร่วมมือศึกษาการจัดตั้งสถาบันมหานครการบิน การจัดการด้านผังเมืองและการใช้ประโยชน์ในที่ดิน การท่องเที่ยวและการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม
และการส่งเสริมวิจัยและพัฒนาสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาความร่วมมือในด้านอื่นๆ ระหว่างกัน โดยจะจัดทำเป็นกรอบความร่วมมือและบันทึกความเข้าใจ (MOU) ขึ้นมา
ล่าสุดทางคณะรัฐมนตรี ได้เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจ (MOU) ด้านความร่วมมือระหว่างสกพอ.กับรัฐบาลมณฑลเหอหนานและคณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษอากาศยานเจิ้งโจว ดังกล่าวแล้ว
แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ระหว่างวันที่ 8-11 เมษายนนี้
ซึ่งมีการจัดงาน the 13th China Henan International Investment & Trade Fair ณ เมืองเจิ้งโจว มณฑลเหอหนาน จะมีการลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจ ระหว่าง สกพอ. กับรัฐบาลมณฑลเหอหนานและ ZAEZ จำนวน 2 ฉบับ ซึ่งทำให้เกิดความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมและเกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศไทยในการพัฒนามหานครการบิน
ที่มา : thansettakji.com