สถานีกลางบางซื่อ คืบหน้า ดันเป็นศูนย์กลางระบบรางของอาเซียน
นายกฯ ตรวจความคืบหน้า สถานีกลางบางซื่อ พอใจงานมีความก้าวหน้าอย่างมาก หวังให้ไทยเป็นศูนย์กลางคมนาคมทางรางที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในอาเซียน
วันนี้ (20 มี.ค.) เวลา 09.30 น. ที่บริเวณสถานีกลางบางซื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำคณะลงพื้นที่เยี่ยมชมความก้าวหน้าการก่อสร้าง โดยมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย
พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงฯ ให้การต้อนรับและพาเยี่ยมชมโครงการก่อสร้าง เมื่อเดินทางถึง พล.อ.ประยุทธ์ได้รับฟังบรรยายสรุปความก้าวหน้าในการก่อสร้างโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง และสถานีกลางบางซื่อ โดยนายอาคมเป็นผู้บรรยาย จากนั้นจึงพาชมพื้นที่สถานีกลางบางซื่อ ทั้ง 3 ชั้น
สำหรับสถานีกลางบางซื่อ ได้ออกแบบให้รองรับและเชื่อมต่อการคมนาคมได้อย่างหลากหลาย เป็นศูนย์กลางระบบรางอย่างสมบูรณ์แบบ และยังนำหลักการพัฒนาพื้นที่โดยรอบศูนย์กลางคมนาคม (TOD) มาใช้เป็นต้นแบบในการพัฒนาพื้นที่ โดยมีรูปแบบการก่อสร้างแบ่งเป็นอาคาร 3 ชั้น ประกอบด้วย ชั้นใต้ดิน เป็นพื้นที่สำหรับจอดรถประมาณ 1,700 คัน มีพื้นที่รวม 72,542 ตร.ม. โดยมีโถงเชื่อมต่อจากพื้นที่จอดรถ
ชั้นที่ 1 มีพื้นที่รวม 86,700 ตร.ม. เป็นพื้นที่จำหน่ายตั๋ว มีโถงพักคอยและรับผู้โดยสาร รวมถึงพื้นที่พาณิชยกรรม และร้านค้า สามารถเชื่อมต่อกับ MRT
ส่วนชั้นที่ 2 เป็นชานชาลาสำหรับรองรับรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) มี 4 ชานชาลา และรถไฟทางไกล มี 8 ชานชาลา มีพื้นที่รวม 42,000 ตร.ม. คาดว่าจะสามารถเปิดใช้บริการได้ในปี 2564
โดยที่ชั้น1 และชั้น 2 มีชั้นลอยซึ่งเป็นร้านค้าและห้องควบคุมมีพื้นที่รวม 12,020 ตร.ม.
ส่วนชั้นที่ 3 มีพื้นที่รวม 42,300 ตร.ม. เป็นชานชาลาสำหรับรองรับรถไฟขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร เชื่อมภูมิภาค มีทั้งหมด 10 ชานชาลา แบ่งเป็น รถไฟสายใต้ 4 ชานชาลา รถไฟสายเหนือ และสายอีสานรวม 6 ชานชาลา
นอกจากนี้ ยังสามารถรองรับรถไฟความเร็วสูงในอนาคตและรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยาน ได้อีก 2 ชานชาลา และมีทางเดินเชื่อมต่อกับสถานีบางซื่อของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินด้วย โดยปัจจุบันสถานีกลางบางซื่อมีความคืบหน้าในการก่อสร้างร้อยละ 70.86
สำหรับรถไฟที่จะนำมาให้บริการ เป็นของ Hitachi ความเร็วสูงสุดในการออกแบบ 160 กม./ชม. ส่วนความเร็วสูงสุดในการให้บริการ อยู่ที่ 120 กม./ชม. ใช้ขนาดทาง 1,000 มม. มีขบวนรถไฟ 2 แบบ คือ 6 ตู้/ขบวน รองรับผู้โดยสารได้ 1,710 คน และ 4 ตู้/ขบวน รองรับผู้โดยสารได้ 1,120 คน และใช้ระบบอาณัติสัญญาณรูปแบบ European Train Control System (ETCS) Level 1
นอกจากนี้ยังมีเรื่องการบริหารจัดการสถานีที่ ร.ฟ.ท.ได้เตรียมดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเดินรถ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างเสนอ ครม.พิจารณา งานซ่อมบำรุงตัวรถ อยู่ระหว่างคัดเลือกเอกชนร่วมดำเนินการ งานด้านซ่อมบำรุงอาคารและสิ่งอำนวยความสะดวก อยู่ระหว่างคัดเลือกเอกชน ส่วนการบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ ร.ฟ.ท.ได้ดำเนินการในสถานีกลางบางซื่อ ดอนเมือง และรังสิต ส่วนสถานีอื่นๆ อยู่ระหว่าง รอคัดเลือกเอกชนร่วมดำเนินการ
ทั้งนี้ โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต สามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารได้ถึง 300,000 คน/วัน รวมทั้งรองรับการเดินทางระบบรางทุกประเภท ทั้งรถไฟชานเมือง รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ และรถไฟความเร็วสูง และยังสามารถเชื่อมโยงการเดินทางกับระบบขนส่งทางรางอื่นๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็น รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน รถไฟฟ้าสายสีชมพู รถไฟฟ้าสายสีเขียว รถไฟใต้ดิน
ซึ่งเป็นการพลิกโฉมการเดินทางด้วยระบบรางของประเทศไทย และกลายเป็นศูนย์กลางการเดินทางด้วยระบบรางที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
หลังเสร็จสิ้นภารกิจ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การดำเนินงานมีความก้าวหน้าอย่างมาก ซึ่งไทยมุ่งหวังที่จะเป็นศูนย์กลางการคมนาคมของอาเซียนให้ได้ โดยเฉพาะศูนย์คมนาคมพหลโยธินแห่งนี้ มีการจัดทำพื้นที่เพื่อใช้ประโยชน์หลากหลายครบวงจร ไม่ได้ยกให้เอกชนดำเนินการทั้งหมด มีเพียงบางส่วน ที่แบ่งไปเท่านั้น
ส่วนความคืบหน้าการประมูลคัดเลือกเอกชน เข้ารับสัมปทานกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร หรือดิวตี้ฟรี ของ บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด มหาชน นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งต้องคำนึงถึงผู้ประกอบการ ผู้บริโภค และรายได้เข้าประเทศเป็นสำคัญ พร้อมรับรองว่าจะไม่มีการเอื้อประโยชน์ให้ใครทั้งสิ้น ทุกอย่างต้องดำเนินการไปตามขั้นตอนของกฎหมาย
ที่มา : mgronline.com