รีไฟแนนซ์ ใครได้ ใครเสีย?

1054

รีไฟแนนซ์ (Refinance) คือ เมื่อสถาบันการเงินหนึ่งมีการให้กู้ยืมเงินแก่ลูกหนี้เพื่อซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัยไปแล้วสักระยะหนึ่ง ลูกหนี้จะมาขอไถ่ถอนชำระคืนเงินกู้กับสถาบันการเงินโดยมีเหตุการอ้างต่างๆ สุดท้ายก็มีธนาคารอื่นมาจ่ายเช็คชำระหนี้แทน นั่นก็คือเปลี่ยนการเป็นลูกหนี้ของสถาบันหนึ่งไปเป็นกู้กับอีกสถาบันหนึ่ง โดยมีหลักประกันเดิม ซึ่งเรียกกันว่า “รีไฟแนนซ์” นั่นเอง เรามาลองดูว่าการรีไฟแนนซ์นั้น มีใครได้ ใครเสีย อย่างไร

ลูกหนี้

การที่จะได้รับการพิจารณาจากสถาบันการเงินผู้รับรีไฟแนนซ์ได้นั้น แน่นอนผู้กู้ต้องมีการผ่อนชำระคืนเงินกู้ที่ดี ไม่มีการผิดนัดชำระหนี้ในประวัติการชำระหนี้แต่อย่างใด ซึ่งในปัจจุบันสามารถตรวจสอบการชำระหนี้ได้จากข้อมูลเครดิตบูโร (NCB) ซึ่งมีประวัติการชำระหนี้ย้อนหลังถึง 3 ปี
สาเหตุที่ลูกหนี้ต้องการรีไฟแนนซ์ ควรต้องดูจากปัจจัยดังนี้

ได้รับดอกเบี้ยอัตราลดลง ข้อเสนอของสถาบันการเงินผู้รับรีไฟแนนซ์ต้องให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยที่ถูกกว่า จากสถาบันเดิมที่ให้เพียงใด โดยผู้กู้ต้องดูว่าอัตราหลังที่พ้นโปรโมชั่น Promotion เป็นเท่าใด เพราะบางสถาบันมีอัตราอ้างอิงต่างกัน เช่น MRR (Minimum Retail Rate) หรือเป็นอัตรา MLR (Minimum Loan Rate) ซึ่งอย่างแรกจะมีอัตราอ้างอิงสูงกว่า ทำให้เสียดอกเบี้ยแพงขึ้นก็เป็นได้

จำนวนเงินค่าผ่อนงวดลดลง เนื่องจากที่ผ่านมามีการชำระหนี้ ทำให้มียอดหนี้ลดลงรวมถึงอัตราดอกเบี้ยลดลงด้วย การคำนวณอัตราผ่อนจะคำนวณจากวงเงินกู้ อัตราดอกเบี้ย และระยะเวลากู้ ทำให้อัตราผ่อนชำระใหม่ลดลง จึงทำให้ภาระในการผ่อนลดลงไปด้วย

Advertisement

เพิ่มวงเงินกู้ได้อีก ในกรณีหลักประกันมีราคาประเมินเพิ่มขึ้น สามารถขอเพิ่มวงเงินกู้ได้เพิ่มอีก

มีค่าใช้จ่ายและเงื่อนไขอะไรที่เพิ่มบ้างในการไปขอกู้ใหม่ เช่น ค่าธรรมเนียมแรกเข้า ค่าสำรวจหลักประกันใหม่ ค่าจำนองใหม่ และค่าปรับจากการชำระหนี้คืนก่อนที่กฎหมายกำหนด เหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาขอกู้ใหม่ทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังควรต้องพิจารณาข้อสัญญาในการกู้ด้วยว่าหากชำระก่อนกำหนด หรือมากกว่ากำหนด จะเสียค่าปรับอะไรหรือไม่ เพราะสถาบันใหม่ย่อมต้องปกป้องผลประโยชน์ของตนเองไว้มากที่สุดเช่นกัน

ธนาคารที่ถูกรีไฟแนนซ์

สถาบันการเงินที่ถูกรีไฟแนนซ์ย่อมเสียผลประโยชน์ในด้านธุรกิจที่จะไม่ได้รับดอกเบี้ยอย่างที่ควรจะเป็น ดังนั้นในสัญญาเงินกู้ที่ผู้กู้ลงนามจะระบุข้อห้ามการชำระก่อนกำหนด โดยถ้าชำระก่อนกำหนดจะถูกค่าปรับมาก ตั้งแต่ 3-5% ทีเดียว แต่ถ้าเกินกว่าข้อกำหนด ซึ่ง ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ว่า ธนาคารจะคิดค่าปรับได้กรณีไม่ถึง 3 ปี แต่ถ้าเกินก็จะคิดค่าปรับไม่ได้ อีกกรณีหนึ่งกรณีมีอัตราดอกเบี้ยคงที่ (Fixed Rate) การชำระก่อนครบกำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่ก็จะต้องถูกปรับอีกเช่นกัน ซึ่งถือเป็นข้อต่างตอบแทน ซึ่งผู้กู้ก็ต้องอ่านให้รอบคอบก่อนลงนาม ดังนั้นในการขอไถ่ถอนชำระหนี้ ธนาคารจึงต้องชักชวนลูกหนี้ โดยอาจยกเรื่องอัตราดอกเบี้ย อัตราผ่อนที่เสนอลดลง รวมถึงเงินกู้เพิ่มด้วย เพื่อยับยั้งการรีไฟแนนซ์ ซึ่งลูกหนี้ก็จะมีโอกาสต่อรองข้อเสนอได้

ธนาคารที่รีไฟแนนซ์

สถาบันการเงินที่เป็นผู้รีไฟแนนซ์ จะได้ลูกค้าซึ่งเช็คสอบแล้วว่าเป็นลูกค้าเงินกู้ที่ผ่อนชำระดี รวมถึงเสนอบริการอื่นๆ เช่น ประกันชีวิต บัตรเครดิต ฯลฯ แต่จะมีข้อต่อรองของผู้กู้ ในเรื่องวงเงินกู้ที่เพิ่มขึ้น อัตราดอกเบี้ยที่ลดลง ทั้งอัตราดอกเบี้ยโปรโมชั่น และอัตราดอกเบี้ยหลังจากหมดโปรโมชั่น

โดยสรุป รีไฟแนนซ์เป็นสิ่งที่สถาบันการเงินที่ให้กู้เดิมไม่ต้องการมากที่สุด แต่ผู้ที่ได้ประโยชน์คือตัวผู้กู้เป็นลำดับแรกและธนาคารที่รีไฟแนนซ์จะได้รับประโยชน์ลำดับถัดไป

ที่มา : Baania.com

เขียนโดย: มีชัย คงแสงไชย
ผู้เชี่ยวชาญด้านสินเชื่อที่อยู่อาศัยของไทย
อดีตผู้จัดการสายสินเชื่อบุคคล ธนาคารไทยพาณิชย์
ปัจจุบันเป็นกรรมการและเหรัญญิก สมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศั

Advertisement
Haus23
Haus23
Haus23