การพัฒนาย่านสถานีกลางบางซื่อ 218 ไร่ ได้รับความร่วมมือจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency หรือไจก้า) มาช่วยศึกษา โดยการเนรมิตสถานีบางซื่อ 218 ไร่ ให้เป็นศูนย์กลางการเดินทาง และธุรกิจในครั้งนี้ ไจก้าจะชูเป็นโมเดลต้นแบบพัฒนาพื้นที่รอบสถานีระบบขนส่งมวลชน และเมืองอัจฉริยะแห่งแรก (Smart City) ในไทย และภูมิภาคอาเซียน
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า หลังลงนามในบันทึกความร่วมมือ (MOC) ด้านระบบรางระหว่างกระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวงที่ดินโครงสร้างพื้นฐานการขนส่ง และการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น (MLIT) ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2558 ญี่ปุ่นให้การสนับสนุนไทยอย่างต่อเนื่อง
“ญี่ปุ่นแนะนำได้ประโยชน์จากรถไฟความเร็วสูง ต้องมีการพัฒนาเมือง ซึ่งจะต้องศึกษาเพิ่ม เตรียมไว้ 7 เมืองจาก 7 สถานี ได้แก่ กรุงเทพฯ (บางซื่อ) ดอนเมือง อยุธยา ลพบุรี นครสวรรค์ พิจิตร และพิษณุโลก สร้างมูลค่าเพิ่มให้โครงการและเศรษฐกิจ โดยไจก้าจะช่วยศึกษา ส่วนการลงทุนเป็นหน้าที่ของการรถไฟฯจะเปิดให้เอกชนเข้าร่วม”
โดยไจก้าเริ่มศึกษาพัฒนาพื้นที่สถานีกลางบางซื่อเป็นลำดับแรก โดยใช้ผลการศึกษาเดิมของ ปตท.และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ที่ศึกษาไว้มาเป็นพื้นฐาน จะดูภาพรวมทั้งแผนการใช้พื้นที่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และพื้นที่สาธารณะ โดยกำหนดให้ “บางซื่อเป็นประตูสู่กรุงเทพฯเมืองสวรรค์” เนื่องจากทำเลที่ตั้งเป็นศูนย์กลางระบบคมนาคมในกรุงเทพฯ จึงมีศักยภาพในการส่งเสริมการพัฒนาเป็นเมือง
“สถานีกลางบางซื่อญี่ปุ่นสนับสนุนเกิดการพัฒนาแบบบูรณาการ เพราะเป็นศูนย์กลางด้านการเดินทางด้านระบบมีทั้งรถไฟฟ้าในเมือง รถไฟฟ้าชานเมือง รถไฟความเร็วสูง และรถไฟขนส่งสินค้า ที่คาดว่าจะใหญ่ที่สุดในอาเซียน เป็นศูนย์กลางธุรกิจ และช็อปปิ้งมอลล์ มีศูนย์การค้า โรงแรม สำนักงาน ศูนย์ประชุม รวมถึงเป็นย่านสมาร์ทซิตี้ หรือเมืองอัจฉริยะ (Smart City)” นายอาคมกล่าวว่าวัตถุประสงค์การศึกษาของญี่ปุ่นให้สถานีบางซื่อเป็นต้นแบบการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน (TOD) และพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) แห่งแรกในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน การศึกษานี้ไม่กระทบต่อแผนประมูลพื้นที่แปลงเอ 35 ไร่ ที่ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างดำเนินการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน(Public Private Partnership หรือ PPP) ส่วนแผนพัฒนาของไจก้าใช้เวลา 15 ปี เริ่มปี 2560-2575 แบ่งเป็นระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว
นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. ฝ่ายบริหารทรัพย์สิน กล่าวว่า ร.ฟ.ท.ศึกษาพื้นที่สถานีบางซื่อ มีเนื้อที่ 218 ไร่ ลงทุนกว่า 1 แสนล้านบาท แบ่งเป็น 4 โซนหลักได้แก่
- โซน A (Smart Business Complex) ขนาดพื้นที่ 35 ไร่ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของสถานีกลางบางซื่อ โดยจะพัฒนาเป็นศูนย์กลางการคมนาคมระดับสากล และศูนย์กลางธุรกิจแบบครบวงจร ประกอบไปด้วยอาคารสำนักงาน บริการโลจิสติกส์ พื้นที่ค้าปลีก ศูนย์อาหาร และโรงแรม เพื่อรองรับความต้องการของนักธุรกิจและนักท่องเที่ยวอย่างครบครัน
- โซน B (ASEAN Commercial and Business Hub) ขนาดพื้นที่ 78 ไร่ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของสถานีกลางบางซื่อ ในระยะห่างจากตลาดนัดจตุจักรเพียง 700 เมตร โดยโซนนี้จะถูกพัฒนาให้เป็นแหล่งการค้าระดับอาเซียน และเป็นศูนย์รวมแหล่งช้อปปิ้งขนาดใหญ่ซึ่งต่อยอดมาจากตลาดนัดจตุจักร นอกจากพื้นที่เชิงพาณิชย์แล้ว โซนนี้ยังประกอบไปด้วยอาคารสำนักงาน โรงแรม คอนโดมิเนียม เซอร์วิสอพาร์ทเมนต์ ตลอดจนอาคารจัดประชุมและแสดงสินค้า เพื่อก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจที่สมบูรณ์แบบอย่างแท้จริง
- โซน C (Smart Healthy and Vibrant Town) ขนาดพื้นที่ 105 ไร่ ตั้งอยู่บนพื้นที่บริษัท ขนส่ง จำกัด (สถานีขนส่งหมอชิต 2 ในปัจจุบัน) โดยโซนนี้จะได้รับการพัฒนาให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งทำงาน พื้นที่ค้าปลีกและพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ ภายใต้แนวคิดที่สนับสนุนสุขภาพและการใช้ชีวิตของประชากรเมือง
- โซน D (World Renowned Garden Interchange Plaza) ขนาดพื้นที่ 87.5 ไร่ ตั้งอยู่ติดตลาดนัดจตุจักร โดยโซนนี้จะได้รับการพัฒนาให้เป็นจุดเปลี่ยนถ่ายและศูนย์กลางขนาดใหญ่สำหรับเชื่อมต่อการเดินทาง พร้อมเปิดเป็นพื้นที่ค้าปลีกอีกแห่งหนึ่งด้วย
โดยไจก้าแนะนำให้เริ่มโซน A 35 ไร่เป็นลำดับแรก เงินลงทุน 11,573 ล้านบาท อยู่ห่างสถานี 50-100 เมตร พัฒนาเป็นศูนย์กลางธุรกิจครบวงจร มีอาคารสำนักงานและธุรกิจบริการ เช่น โรงแรม 3-4 ดาว ศูนย์การค้า มีการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership หรือ PPP) เป็นระยะเวลา 30 ปี ล่าสุดคณะกรรมการการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership หรือ PPP) มีมติรับทราบแล้ว คาดว่าจะเริ่มประมูลต้นปี 2561