“ประจิน” รายงาน “ครม.บิ๊กตู่” ละเอียดยิบแผนลงทุนรถไฟไทย-จีนและไทย-ญีปุ่น ยันเดินหน้าตามแผนงาน ดีเดย์ต.ค.ตอกเข็มเส้นทางกรุงเทพฯ-แก่งคอย-มาบตาพุด ส่วนญี่ปุ่นเตรียมสำรวจพื้นที่รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ก.ค.นี้
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมาได้รายงานความก้าวหน้าความร่วมมือพัฒนาโครงการรถไฟไทย-จีนและไทย-ญี่ปุ่นให้ที่ประชุมรับทราบ โดยกระทรวงคมนาคมยืนยันว่าโครงการยังเดินหน้าไปตามกรอบเวลา
โดยรถไฟไทย-จีน เส้นทางหนองคาย-โคราช-แก่งคอย-ท่าเรือมาบตาพุดและแก่งคอย-กรุงเทพฯ ระยะทาง 873 กิโลเมตร ขนาดทางมาตรฐาน 1.435 เมตร ความเร็ว 180 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในช่วงกรุงเทพฯ-แก่งคอย-มาบตาพุด ภายในเดือนสิงหาคมนี้ผลการศึกษาและออกแบบแล้วเสร็จ ประเมินราคาเดือนกันยายนและเริ่มก่อสร้างเดือนตุลาคม ใช้เวลาก่อสร้าง 30 เดือน ส่วนช่วงแก่งคอย-นครราชสีมา-หนองคาย ผลการศึกษาจะเสร็จภายในเดือนธันวาคมนี้หรือต้นปี 2559 จากนั้นเดือนมกราคมจะประเมินราคา เริ่มก่อสร้างเดือนกุมภาพันธ์ ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 36 เดือน
สำหรับรถไฟไทย-ญี่ปุ่น จะร่วมกันภายใต้รูปแบบการลงทุนรัฐบาลต่อรัฐบาลหรือจีทูจี โครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง 672 กิโลเมตร วิ่งด้วยความเร็ว 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้ระบบเทคโนโลยีซินคันเซน ภายในเดือนมิถุนายนนี้จะหารือกรอบเวลาทำงาน เริ่มศึกษาและสำรวจออกแบบเดือนกรกฎาคมนี้และเริ่มก่อสร้างกลางปี 2559 โดยไทยและญี่ปุ่นร่วมกันดำเนินการงานก่อสร้าง ด้านการให้บริการจะเน้นขนส่งผู้โดยสารเป็นหลักและขนส่งสินค้าเป็นรอง
ส่วนเส้นทางกาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-อรัญประเทศและกรุงเทพฯ-แหลมฉบัง ระยะทาง 574 กิโลเมตร จะหารือเดือนมิถุนายนนี้เช่นกัน เริ่มศึกษาและสำรวจออกแบบเดือนกรกฎาคมนี้ ส่วนการเริ่มก่อสร้างรอผลการศึกษา จะเป็นทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน 1.435 เมตรหรือขนาดทางกว้าง 1 เมตร ซึ่งเส้นทางนี้จะเน้นขนส่งสินค้าเป็นหลักและขนส่งผู้โดยสารเป็นรอง
“ผลที่ไทยคาดว่าจะได้รับ มี 3 ด้าน คือ 1.ด้านสังคม ประชาชนเดินทางด้วยความสะดวก รวดเร็วและปลอดภัย คุณภาพชีวิตประชาชนดีขึ้น 2.ด้านเศรษฐกิจ เกิดการกระจายความเจริญไปยังจังหวัดต่างๆในภูมิภาค เกิดการพัฒนาพื้นที่และเพิ่มขีดความามารถในการแข่งขันของประเทศและ3.ด้านการขนส่ง จะรองรับการขนส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้นและลดต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศ” พล.อ.อ.ประจินกล่าวย้ำ
ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์