ดึงญี่ปุ่นลงทุนเหมาเข่ง ปั้นเขตศก.พิเศษ-รถไฟ-ทวา

649

“บิ๊กตู่” เยือนญี่ปุ่น 8-10 ก.พ.นี้ ดึงลงทุนในไทยดันเศรษฐกิจโต จัดเต็มเมกะโปรเจ็กต์ รถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง เคาะเส้นทางแนวระเบียงตะวันออก-ตะวันตกด้านล่าง ทะลุถึงทวาย ใช้เป็นแลนด์บริดจ์เชื่อม “เมียนมาร์-กัมพูชา-เวียดนาม” ปั้นเขตเศรษฐกิจพิเศษให้เป็นจริง เสนอเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเกทับจีน

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากที่ได้หารือกับนายฮิโระโตะ อิซุมิ ที่ปรึกษาพิเศษด้านเศรษฐกิจ ของนายชินโซ อะเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เบื้องต้นก่อนจะมีการหารือร่วมกัน อย่างเป็นทางการระหว่างฝ่ายไทยกับญี่ปุ่น วันที่ 8-10 ก.พ.นี้ ช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีกำหนดการเดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่น นอกจากจะกระชับความพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศแล้ว ทางการญี่ปุ่นยังแสดงเจตนารมณ์สนใจจะพัฒนาโครงการโครงสร้างพื้นฐาน ด้านคมนาคมร่วมกับรัฐบาลไทย เช่นเดียวกับที่รัฐบาลจีนได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) รูปแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (จีทูจี) และพร้อมสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยพิเศษ ผ่านองค์กรเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า)

เปิดแพ็กเกจข้อเสนอญี่ปุ่น โดยโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่ญี่ปุ่นสนใจลงทุน ประกอบด้วย 1.รถไฟทางมาตรฐาน 1.435 เมตร ความเร็ว 160-180 กม./ชม. เส้นทางแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตกด้านล่าง (Lower East-West Corridor) 3 เส้นทาง ได้แก่ กรุงเทพฯ-กาญจนบุรี, กรุงเทพฯ-ระยอง และกรุงเทพฯ-อรัญประเทศ ซึ่งโครงการนี้เป็นแลนด์บริดจ์ หรือสะพานเศรษฐกิจเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าทะเลอันดามันกับอ่าวไทย จากท่าเรือทวาย-ท่าเรือ แหลมฉบัง และเชื่อมการค้ากับประเทศ เพื่อนบ้านในอาเซียนจากเมียนมาร์-ไทยกัมพูชา-เวียดนาม หากได้ข้อสรุปจะ ลงนามบันทึกแสดงเจตจำนง (MOI) นำไป สู่ข้อตกลงร่วมกันที่จะพัฒนาการขนส่ง ระบบรางต่อไป

2.ให้เงินกู้ไจก้าก่อสร้างท่าอากาศยาน เช่น สนามบินสุวรรณภูมิ ที่ บมจ.ท่าอากาศยาน ไทย (ทอท.) มีแผนพัฒนาโครงการ 129,000 ล้านบาท และสนามบินอู่ตะเภา

3.ลงทุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ 5 พื้นที่นำร่อง ได้แก่ เขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด จ.ตาก การค้าชายแดนไทย-เมียนมาร์, อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ค้าชายแดนไทยกัมพูชา, มุกดาหาร ค้าชายแดนไทย-ลาว, คลองใหญ่ จ.ตราด ค้าชายแดนไทย-กัมพูชา และด่านสะเดาและปาดังเบซาร์ จ.สงขลา การค้าชายแดนไทย-มาเลเซีย

Advertisement

และ 4.ให้เร่งรัดการจัดหาระบบรถไฟฟ้าในสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) ที่มีผู้ผลิตญี่ปุ่นเสนอประมูลนานแล้ว ล่าสุดอยู่ระหว่างต่อรองราคา รวมถึงสายสีน้ำเงินต่อขยาย (บางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค) ที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กำลังคัดเลือกเอกชนมาเดินรถ อีกทั้งขอความร่วมมือญี่ปุ่นให้ผู้ผลิตรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางซื่อ-บางใหญ่) ส่งมอบรถทัน ตามกำหนดเดือน ก.ย.นี้

เปิดเส้นทางเชื่อม 2 ฝั่งทะเล

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า ญี่ปุ่นสนใจรถไฟเส้นทางเชื่อมทวาย-กรุงเทพฯ-อรัญประเทศ-ประเทศเพื่อนบ้าน เพราะมองว่ามีศักยภาพที่สุด โดยยุทธศาสตร์การลงทุนของญี่ปุ่น เน้นการพัฒนาประเทศต่อประเทศ ซึ่งเส้นทางนี้จะเชื่อมเมียนมาร์ ผ่านไทย ไปกัมพูชา ทะลุถึงเวียดนาม ที่ท่าเรือดานัง

โดยเส้นทาง “กรุงเทพฯ-อรัญประเทศ” รองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษอรัญประเทศ และจะเชื่อมกัมพูชาและเวียดนามในอนาคต ปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กำลังปรับปรุงเส้นทางจาก คลอง 19-สะพานคลองลึก จะแล้วเสร็จปี 2559 และรัฐบาลไทยให้ความช่วยเหลือกัมพูชาเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟบริเวณชายแดน ส่วนเส้นทาง “กรุงเทพฯ-แหลมฉบัง” (ระยอง) เป็นโครงการเชื่อมท่าเรือต่อท่าเรือจากทวายกับแหลมฉบัง หากพัฒนาได้จะเพิ่มปริมาณและขนส่งสินค้าได้เร็วขึ้น ทั้งยังรองรับฐานอุตสาหกรรมของไทยใน จ.ระยองและจันทบุรี มีบริษัทญี่ปุ่นตั้งอยู่จำนวนมาก ซึ่งช่วงนี้ ร.ฟ.ท. ได้ศึกษาโครงการเสร็จแล้ว มีเฉพาะระบบรถไฟความเร็วสูง

สำหรับเส้นทาง “กรุงเทพฯ-กาญจนบุรี” จะรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษที่บ้านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี และเขตเศรษฐกิจทวาย ที่รัฐบาลไทย เมียนมาร์ และญี่ปุ่น จะร่วมกันพัฒนา ปัจจุบัน ร.ฟ.ท.กำลังจะจ้างศึกษาความเหมาะสมโครงการจากบ้านพุน้ำร้อน-กรุงเทพฯ

“จุดมุ่งหมายของญี่ปุ่นเพื่อคานอำนาจจีนที่เมียนมาร์ และช่วยหนุนท่าเรือทวายให้แจ้งเกิด รวมถึงดึงบริษัทเอกชนญี่ปุ่นมาลงทุนเขตเศรษฐกิจชายแดน เพื่อรองรับกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี ใช้เป็นฐานส่งออกไปยังภูมิภาคได้ ถ้าหากทุนญี่ปุ่นรายใหญ่เข้าไปลงทุน จะดึงดูดนักธุรกิจไทยและต่างชาติเข้าไปลงทุนจำนวนมากด้วย”

ขณะที่รถไฟเส้นทาง “แม่สอด-ตากพิษณุโลก-เพชรบูรณ์-ขอนแก่น-มุกดาหาร” ญี่ปุ่นรับไว้พิจารณาเช่นกัน เนื่องจากเป็น เส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตกด้านบน เชื่อมเขตเศรษฐกิจพิเศษที่แม่สอดและมุกดาหาร เชื่อมการค้า 4 ประเทศ จากเมียนมาร์-ไทย-ลาว-เวียดนาม แต่ด้วยสภาพพื้นที่พาดผ่านภูเขาเพชรบูรณ์ การก่อสร้างจะซับซ้อนกว่าเส้นทางด้านล่างที่มีเส้นทางรถไฟเดิมอยู่แล้ว

จัดเงินกู้ดอกเบี้ยถูกเกทับจีน “นอกจากนี้จะให้กู้เงินดอกเบี้ยต่ำ ผ่านไจก้า ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นพยายามผลักดันเช่นกัน ที่ผ่านมามีหลายโครงการที่ใช้เงินกู้จากไจก้า เช่น รถไฟฟ้าใต้ดินสายแรก รถไฟฟ้าสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) ถนน สะพาน อัตราดอกเบี้ยค่อนข้างถูก ก่อนหน้านี้อยู่ที่ 0.75% ต่อปี ล่าสุดปรับเป็น 1.4-1.5% ต่อปี และให้กู้ระยะยาว 30-40 ปี” ต่ำกว่าจีนที่เสนอให้กุ้ระยะยาว 30-40 ปี แต่อัตราดอกเบี้ย 3%

ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์เปิดเผยว่า ได้หารือทวิภาคีกับนายกฯญี่ปุ่นแล้ว 2 ครั้ง เมื่อ 16 ต.ค. 2557 ในการประชุมผู้นำ ASEM ครั้งที่ 10 ที่นครมิลาน และ 13 พ.ย. 2557 ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 25 ที่กรุงเนย์ปิดอว์ โดยนายกฯญี่ปุ่นต้องการส่งเสริมความร่วมมือกับไทยในทุกมิติ โดยเฉพาะความร่วมมือระบบราง ได้เสนอความเห็นเกี่ยวกับเส้นทาง รถไฟที่มีความเป็นไปได้ คือ เส้นทางตะวันออก-ตะวันตก ได้แก่ กรุงเทพฯกาญจนบุรี กรุงเทพฯ-อรัญประเทศ และกรุงเทพฯ-ระยอง

ขณะเดียวกันไทยพร้อมให้ความร่วมมือญี่ปุ่นในทุกระดับ ทั้งโครงการทวาย เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน การส่งเสริมมูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างกัน ในกรอบความตกลงเพื่อความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น ทั้งหมดนี้จะหารือกับนายกฯญี่ปุ่น ในระหว่างการเยือนญี่ปุ่น 8-10 ก.พ.นี้ โดยฝ่ายไทยคาดหวังว่าจะมีการลงนามความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมในอนาคตอันใกล้

ดีเดย์ มี.ค.เซ็น ITD พัฒนาทวาย

ด้าน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมระดับสูงระหว่างไทย-เมียนมาร์ เพื่อการพัฒนาพื้นที่ครอบคลุมใน เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย และพื้นที่ โครงการที่เกี่ยวข้อง ครั้งที่ 2 (JHC) วันที่ 30 ม.ค.ที่ผ่านมาว่า มีเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นเข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย ซึ่งครั้งนี้คืบหน้าเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยการลงทุนโครงการระยะเริ่มต้นจะใช้เวลาพัฒนา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2558 มูลค่า 1,700 ล้านเหรียญสหรัฐ บนพื้นที่ 27 ตร.กม. มีสัญญาสัมปทาน 50 ปี และขยายได้ 25 ปี

ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับผู้ที่ประมูลได้ คือ กลุ่มอิตาเลียนไทย คาดว่า จะลงนามกันได้ มี.ค.นี้ หลังจากนี้จะมีญี่ปุ่นเข้ามาร่วมด้วย โดยกำลังหารือกันเพื่อชวนเข้าร่วมหุ้นในนิติบุคคลเฉพาะกิจ (SPV) จากที่ญี่ปุ่นแสดงเจตจำนงเข้า มาสนับสนุนโครงการและช่วยเหลือทางด้านเทคนิคและการเงินแล้ว การประชุมครั้งต่อไปจะเห็นความร่วมมือจริงจัง มากขึ้น

ทั้งนี้ โครงการถนนเชื่อมทวายกับบ้าน พุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี 138 กม. วงเงิน 3,900 ล้านบาท ที่สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) หรือ สพพ. ให้กู้ระยะยาว 20-30 ปี แบบซอฟต์โลน โดยเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กำลังเจรจากับญี่ปุ่นร่วมปล่อยกู้คนละครึ่ง จะทราบผลใน 1 เดือนนี้

นอกจากก่อสร้างถนน ยังมีโครงสร้าง พื้นฐานอื่น ๆ รวม 7 โครงการ ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมขนาดเล็ก, สถานีรับจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG), ระบบโทรคมนาคม, โรงไฟฟ้าขนาดเล็ก, ท่าเรือขนาดเล็ก และอ่างเก็บน้ำ ล่าสุดกำลังเจรจาสัญญากับกลุ่มอิตาเลียนไทย มีสวนอุตสาหกรรมโรจนะ, บมจ.ผลิตไฟฟ้า หรือเอ็กโก้ และบริษัทแอล เอ็น จี พลัส อินเตอร์เนชั่นแนล จะร่วมกันพัฒนา ระยะแรก คาดว่าปี 2559 จะเริ่มขายพื้นที่นิคมได้

สำหรับโครงการทวายทั้งหมดบนพื้นที่ 196 ตร.กม. ขณะนี้จัดทำแผนแม่บทจะใช้เวลาพัฒนาระยะยาว 10-20 ปี รายละเอียดจะชัดเจนสิ้นปีนี้ ส่วนการย้ายชุมชนในพื้นที่เมียนมาร์จะดำเนินการ จากเดิมให้อิตาเลียนไทยดำเนินการ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคม และเลขาธิการสภาพัฒน์กล่าวว่า การเจรจาข้อสัญญากับกลุ่มอิตาเลียนไทยคืบหน้าแล้ว 90% จะจบเดือน ก.พ. และลงนามได้เดือน มี.ค. ส่วนหนึ่งเป็นการเจรจาหาข้อสรุปว่าจ่ายชดเชยเงินลงทุนให้อิตาเลียนไทย อาจจะหักกลบลบหนี้โดยให้พื้นที่เพิ่ม หรือให้สัดส่วนถือหุ้นเพิ่ม

ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ

Advertisement
Haus23
Haus23
Haus23