กางที่ดิน 4 พันไร่ตอกหมุดนิคมอุตฯ เขต ศก.

663

หลังพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ในการถอนสภาพที่ดินที่เป็นที่ป่าเสื่อมโทรม ที่เป็นสาธารณสมบัติให้ตกเป็นที่ราชพัสดุเพื่อให้กรมธนารักษ์ใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ล่าสุดมีความคืบหน้าที่สร้างความชัดเจนให้การลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษระยะแรกมากขึ้น

วีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ.ได้รับมอบหมายให้จัดหาพื้นที่เพื่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมให้เอกชนเช่าเพื่อลงทุน ซึ่งล่าสุดได้หารือกับกรมธนารักษ์เกี่ยวกับพื้นที่เหมาะสมที่ กนอ. จะเข้าไปเช่าจากกรมธนารักษ์เพื่อตั้งนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงเรื่องของอัตราค่าเช่า

ทั้งนี้ มีการเลือกพื้นที่แล้วในเขตเศรษฐกิจพิเศษระยะแรก 5 แห่ง ได้แก่ จ.ตาก สระแก้ว สงขลา มุกดาหาร และตราด ส่วน จ.หนองคาย ที่จะรวมเป็นพื้นที่พัฒนาในระยะแรกแล้วนั้นจะให้เอกชนเป็นผู้พัฒนา ส่วนอัตราค่าเช่าจะมีความชัดเจนภายใน 1 เดือนหลังจากนี้

“เรื่องค่าเช่า โดยหลักแล้วตามสิทธิของรัฐวิสาหกิจจะมีส่วนลดประมาณ 30% กนอ.จะได้ราคาเช่าอยู่ที่ประมาณ 70% ของราคาที่กรมธนารักษ์ให้เช่า แต่ทั้งนี้ยังขึ้นอยู่กับมติของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ว่าจะให้เช่าได้ถูกกว่านี้หรือไม่ ส่วนค่าเช่าที่ กนอ.จะเก็บจากลูกค้าจะไม่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่รอบ เบื้องต้นจะอยู่ที่แสนต้นๆ ถึงแสนกลางๆ ต่อไร่” ผู้ว่าการ กนอ. อธิบาย

สำหรับแนวทางพัฒนานิคมฯ แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะแรก ได้แก่ จ.ตาก สระแก้ว และสงขลา และระยะที่ 2 จ.มุกดาหาร และตราด โดยตามโรดแมปการพัฒนา ระยะแรกจะเริ่มจากศึกษาความเหมาะสม (Feasibility Study) ศึกษา

Advertisement

ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) ออกแบบรายละเอียดงานก่อสร้างในปี 2559 ก่อสร้างนิคมฯ ในปี 2560 เปิดให้เอกชนเช่าพื้นที่ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป ส่วนระยะที่ 2 เริ่มศึกษาความเหมาะสมปี 2561 เป็นต้นไป เริ่มเปิดให้เช่าได้ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ พื้นที่เพื่อตั้งนิคมฯ ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.ตาก อยู่ใน ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด พื้นที่ 774.74 ไร่ ซึ่งห่างจากทางหลวง AH1, EWEC ประมาณ 7 กิโลเมตร ห่างจากสะพานมิตรภาพไทย- เมียนมา แห่งที่ 1 ประมาณ 8 กิโลเมตร มีแหล่งน้ำติดกับแม่น้ำเมย ระบบไฟฟ้าเข้าถึงพื้นที่ มีอุตสาหกรรมเป้าหมาย คือ การให้บริการโลจิสติกส์ ได้แก่ คลังสินค้า ศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าและยานพาหนะ อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น อุตสาหกรรม ชิ้นส่วนยานยนต์ อัญมณี

“ในส่วนของ จ.ตาก เราได้ คุยกับกลุ่มพลาสติกและกลุ่มพีที ทีจีซี ที่สนใจจะยกคลัสเตอร์พลาสติกไปอยู่แม่สอด ซึ่งจะดึงนักลงทุนทั้งคลัสเตอร์ไปอยู่ด้วย โดยพีที ทีจีซี จะเป็นผู้บริหารวัตถุดิบ” วีรพงศ์ ให้ข้อมูล

ขณะที่พื้นที่นิคมฯ ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.สระแก้ว อยู่ที่

ต.บ้านไร่ อ.อรัญประเทศ พื้นที่ 654.79 ไร่ จุดเด่นคือติดกับถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3397 ห่างจากพรมแดนไทย-กัมพูชา 5 กิโลเมตร มีระบบไฟฟ้าพร้อม มีอุตสาหกรรมเป้าหมาย คือ บริการโลจิสติกส์และศูนย์กระจายสินค้า แปรรูปสินค้าเกษตรและอาหาร สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม พลังงานทดแทน

มีการแบ่งพื้นที่ใช้ประโยชน์เป็นเขตอุตสาหกรรม 477.94 ไร่ ศูนย์โลจิสติกส์และกระจายสินค้า 293.64 ไร่ เขตพาณิชยกรรม 23.51 ไร่ พื้นที่สาธารณูปโภคและพื้นที่ สีเขียว 103.43 ไร่ และ 73.42 ไร่ ตามลำดับ

พื้นที่นิคมฯ ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.สงขลา อยู่ใน ต.สำนักขาม อ.สะเดา มีพื้นที่ 1,097 ไร่ มีจุดเด่นคือห่างจากชายแดนสะเดา 2 กิโลเมตร ห่างจากสำนักงานศุลกากรสะเดา 500 เมตร ติดกับพื้นที่ตั้งด่านสะเดาแห่งใหม่ มีอุตสาหกรรมเป้าหมาย คือ บริการโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมยาง อาหารฮาลาล แปรรูปสินค้าเกษตร

สำหรับพื้นที่นิคมฯ ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.มุกดาหาร อยู่ใน ต.คำอาฮวน อ.เมือง ในพื้นที่ 1,085.64 ไร่ มีจุดเด่นคือห่างจากสะพาน

มิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 ประมาณ 21 กิโลเมตร มีระบบน้ำและไฟฟ้าเข้าถึง ส่วนอุตสาหกรรมเป้าหมาย คือ บริการโลจิสติกส์ แปรรูปอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ยางพาราและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง แบ่งพื้นที่ ใช้ประโยชน์เป็นเขตอุตสาหกรรม 509.94 ไร่ ศูนย์โลจิสติกส์ 227.87 ไร่ เขตพาณิชยกรรม 24.14 ไร่ พื้นที่สาธารณูปโภคและพื้นที่สีเขียว 267.88 ไร่ และ 55.81 ไร่ ตาม ลำดับ

พื้นที่นิคมฯ ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.ตราด อยู่ใน ต.ไม้รูด อ.คลองใหญ่ พื้นที่ 824.69 ไร่ มี จุดเด่นคือห่างจากจุดผ่านแดนถาวรบ้านหาดเล็ก 30 กิโลเมตร ห่างจากท่าเรืออเนกประสงค์คลองใหญ่ประมาณ 12 กิโลเมตร มีระบบไฟฟ้า แต่ยังไม่มีแหล่งน้ำ ส่วนอุตสาหกรรมเป้าหมาย คือ บริการโลจิสติกส์และบริการการท่องเที่ยว

ทั้งนี้ เมื่อรวมพื้นที่ทั้ง 5 แห่งแล้ว จะมีพื้นที่ทั้งสิ้น 4,437.47 ไร่ แต่ขณะนี้จะยังต้องรอนโยบายจาก กนพ.อีกครั้ง ว่าจะให้ กนอ.พัฒนาทั้ง 5 พื้นที่หรือไม่ หรือจะมีส่วนไหนที่ให้เอกชนพัฒนาเหมือนกับที่ จ.หนองคาย หรือไม่ ซึ่งหากให้ กนอ.พัฒนา งบประมาณการลงทุนจะอยู่ที่ 6,656.205 ล้านบาท หรือคิดเป็นต้นทุนการพัฒนา 1.5 ล้านบาท/ไร่ ซึ่งแนวคิดเบื้องต้นนั้น กนอ.จะพัฒนาเอง แต่มีความเป็นไปได้ที่จะดึงเอกชนเข้ามาร่วมพัฒนา

“ตอนนี้มี 3 พื้นที่ที่ต้องเร่งขับเคลื่อน เนื่องจากเป็นส่วนที่เป็นระเบียงเศรษฐกิจตะวันตกและตะวันออก คือ จ.ตาก สระแก้ว และสงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีมูลค่าการค้าสูง ทางเราพยายามที่จะหาฟาสต์แทร็ก กระบวนการต่างๆ ให้เร็วขึ้นจากแผนปกติที่จะเริ่มก่อสร้างนิคมฯ ปี 2560 และเปิดดำเนินการนิคมฯ ในปี 2561 เป็นต้นไป และตามขั้นตอนปกติกว่าจะตั้งนิคมฯ ได้ใช้เวลาประมาณ 20 เดือน ดังนั้นหากส่วนไหนมีความจำเป็นก็อาจจะขอให้มีการใช้มาตรา 44 เช่น ขั้นตอนการอนุมัติงบประมาณเพื่อการลงทุนของ กนอ. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่ปกติใช้เวลานาน กระบวนการศึกษาที่ใช้เวลามาก” ผู้ว่าการ กนอ. ระบุ

การหาพื้นที่เพื่อตั้งนิคมฯ ถือเป็นความคืบหน้าสำคัญอีกขั้นในการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน ต่อไปเหลือแต่จับตาดูความเคลื่อนไหวของภาคเอกชนว่าจะตอบรับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้เขตเศรษฐกิจพิเศษเกิดขึ้นในเร็ววันเพียงใด

ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

Advertisement
Haus23
Haus23
Haus23