ในที่สุดการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว โดยไม่ต้องกักตัว 14 วัน ภายใต้โครงการ “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” ก็ได้เริ่มต้นขึ้น เมื่อวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา
ณ วันที่ 3 ก.ค.2564 มีข้อมูลยอดจองห้องพักของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 7,943 คน ที่ชำระเงินเข้ามาล่วงหน้าแล้วในช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย.2564 รวม 90,861 คืน เมื่อแยกแยะข้อมูลเฉพาะในเดือน ก.ค.มีการจองห้องพัก 84,611 คืน แสดงให้เห็นว่าโอกาสในการจองห้องพักเพิ่มในเดือน ส.ค.และ ก.ย.ยังมีเข้ามาอีกต่อเนื่อง
แม้จำนวนดังกล่าวจะไม่มากนัก ยังเทียบไม่ได้กับในอดีต แต่ถือเป็นการฟื้นคืนชีพอีกครั้งของภูเก็ต และเป็นความหวังของทุกธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับท่องเที่ยว หลังจากไม่มีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเข้านานมากกว่า 1 ปี
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะเปิดเมืองได้แล้ว ภูเก็ตต้องผจญกับอีกหลายเรื่องราว “ทีมเศรษฐกิจ” จึงได้สัมภาษณ์ “ตัวจริง เสียงจริง” ของคนภูเก็ต เพื่อให้เขาทั้ง 4 คน มาช่วยสะท้อนกับความท้าทายที่ยังมีจากนี้ไป
ภูมิกิตติ์ รักแต่งาม
นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต
การผลักดันให้เกิด “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” ใช้เวลา 6 เดือนเต็มๆ นับจากต้นเดือน ม.ค.2564 มาถึงตอนนี้ ภูเก็ตสามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศได้อีกครั้ง ฉะนั้น “เปิดแล้ว ต้องไม่ถูกปิด” สิ่งสำคัญที่สุดคือ “การรักษาระดับภูมิคุ้มกันหมู่ในพื้นที่ไว้ให้ได้” ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะเป็นการเปิดประเทศแบบไม่ต้องกักตัว จากนี้ไปจะมีคนเข้า-ออก ภูเก็ต ที่มาจากต่างประเทศและในประเทศ จึงมีการเปลี่ยนวิธีการปฏิบัติในการเดินทางเข้าของคนที่มาจากต่างประเทศและในประเทศ
“กังวลว่าหลายคนไม่เข้าใจเราว่าทำไมภูเก็ตเรื่องมากเหลือเกิน ก็ต้องขอ เพราะภูเก็ตจะมาถึงจุดนี้ได้ เป็นความพยายามของหลายส่วน จึงต้องร่วมกันรักษาภูมิคุ้มกันหมู่ไว้ให้ได้ ขณะนี้ทีมภาคเอกชนในภูเก็ตเริ่มคุยกันถึงการจัดหาวัคซีนเข็มที่ 3 มากระตุ้น โดยส่วนหนึ่งพร้อมจะจ่ายเงินเอง เพราะเข้าใจดีว่าทั้งประเทศเองก็ยังลำบากเรื่องวัคซีน ก็ต้องแฟร์กับพี่น้องในพื้นที่อื่นที่ต้องได้รับวัคซีนก่อน”
สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่จะเข้ามาในไตรมาส 3 ก็ค่อยๆ ดูผลตอบรับออกมาอย่างไรได้บ้าง ต้องดูตัวเลขการจองที่พักที่เกิดขึ้นในเดือน ก.ค.นี้ก่อน ตอนนี้ตัวเลขที่เห็นน่าชื่นใจ ถ้าเดือน ก.ค.ไปได้ดี ก็หวังว่าเดือน ส.ค.และ ก.ย.จะไปต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ภาษาอังกฤษเรียกว่า “It takes two to tango.” การเต้นรำเป็นเรื่องของสองคน ไม่ใช่เรื่องของเราคนเดียว การทำธุรกิจท่องเที่ยวไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวเราเอง ต้องไปด้วยกันทั้งสองฝ่าย บริบทของภูเก็ตต้องเชื่อมโยงกับจังหวัดอื่น ต้องเชื่อมโยงกับโลก ตอนนี้ทั้งโลกจับตามองภูเก็ต สื่อในต่างประเทศลงข่าวภูเก็ตเยอะมาก เราจึงต้องพิสูจน์ให้เห็นว่า ภูเก็ตเดินหน้าได้
ส่วนไตรมาส 4 ตอนนี้มียอดการจองที่พักล่วงหน้าเข้ามาดีมาก ส่วนภูเก็ตจะฟื้นเมื่อไหร่ ตอบยาก ต้องผ่าน 90 วันแรกนี้ไปได้ด้วยดีก่อน และดูนอกประเทศเขามีอาการอะไรหรือเปล่า ทำให้ยังประเมินยาก
![](https://static.thairath.co.th/media/Dtbezn3nNUxytg04agGAhhx4WYqT6GuvZ6qGONjzwUNRhQ.jpg)
“เวลามีนักท่องเที่ยวเข้ามา โรงแรมมีคนเข้ามาพัก ก็มีเงินเดือนให้พนักงาน จากนั้นพนักงานก็ไปซื้อของกินของใช้ ก็กระจายรายได้ หลายโรงแรมที่ทำก็ให้บริการรถของบริษัทที่ได้ SHA+ อย่าง สหกรณ์รถลีมูซีน ก็ได้ลูกค้ารับ-ส่ง ก็เกิดการกระจายรายได้ แต่ต้องยอมรับว่า ไม่ได้มากพอเหมือนเมื่อก่อน มันเป็นการเริ่มต้น”
ผมขอย้ำว่า ภูเก็ตเปิดแล้ว ต้องไม่ถูกปิด เป็นสิ่งที่บอกกับทุกคนว่าอย่าประมาท คนที่เข้ามาทำงานในภูเก็ตต้องช่วยกันอย่าเห็นประโยชน์อันสั้น ขอให้มองระยะไกล ต้องไม่นำไปสู่ความเสี่ยง มันง่ายที่จะให้ราชการสั่งปิด แต่เราเห็นแล้วว่า มันยากที่จะให้เปิดขึ้นมาอีกรอบหนึ่ง
“เราดีใจที่ทำให้สามารถเกิดขึ้นได้จริงๆ และยังอยากให้ทุกอย่างดีกว่านี้”
ก้องศักดิ์ คู่พงศกร
นายกสมาคมโรงแรมภาคใต้
รองกรรมการผู้จัดการ โรงแรมเดอะวิจิตร รีสอร์ท ภูเก็ต
“ดีใจครับที่เริ่มเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าภูเก็ตได้แล้ว ทำให้เห็นแสงสว่าง เห็นความหวัง และได้เห็นว่าเมื่อมีอะไรที่เราเสนอจริงจัง และหาวิธีสื่อสารกับทุกภาคส่วนให้เขาเห็นดีด้วยก็เป็นจริงได้”
![](https://static.thairath.co.th/media/Dtbezn3nNUxytg04agGAhhx4WYqT6GuvELJ06VujVcve4Z.jpg)
เพราะตอนเริ่มต้น ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ เรามีปัญหาตลอดทางตั้งแต่ขอวัคซีน โชคดีว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตคุมเกมได้ ภาคเอกชนตกผลึกเรื่องเดียวกัน ผู้บริหารสาธารณสุขมีเป้าหมายเดียวกัน ทำให้ภูเก็ตรอด พุ่งเป้าหมายเปิดภูเก็ต วันที่ 1 ก.ค. คิดหากลยุทธ์ในการเสนอรัฐบาล และทำงานแบบมียุทธศาสตร์เพื่อให้คนทั้งประเทศเห็นด้วยกับการให้เปิดภูเก็ต
“พอเปิดแล้วก็ดีใจ ผมไปต้อนรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศกรุ๊ปแรกๆ ที่เข้ามา ได้เห็นคนที่มารอรับนักท่องเที่ยว คนที่แฟนมารอรับ ผมก็ไปบอกเขาว่า คุณรู้มั้ยว่าห้ามสัมผัสกับคนที่เข้ามา คุณห้ามนอนห้องเดียวกัน ต้องรอให้ผลตรวจของเขาออกก่อน แม้กระทั่งคุณขับรถมารับเขากลับบ้านก็ไม่ได้ คุณทำได้แค่เจอหน้า อยู่ห่างๆ แต่สุดท้ายห้ามยาก มาถึงกระโดดกอดกัน ก็ให้กอดกันซักแป๊บนึงแล้วให้แยก และไปบอกเขาว่าถ้าแฟนคุณตรวจแล้วติดเชื้อ คุณต้องถูกแยกตัวไปอยู่โรงแรมที่เป็นสถานกักตัวทางเลือก (ALQ) 14 วันดูอาการนะ เขาบอกจังหวะนี้เกิดอะไรขึ้นก็ยอมแล้ว”
![](https://static.thairath.co.th/media/PZnhTOtr5D3rd9oc9egyOfkEsd4uT53FhzxMaSwQr1AfX6X.jpg)
อย่างไรก็ตาม ถ้าให้ประเมินจากนี้ไปยากมาก เนื่องจากการระบาดในประเทศไทยยังเยอะ และไม่มีท่าทีดีขึ้น ยังมีกลุ่มคนที่มองประเทศไทยไม่ออกว่า ภูเก็ตปลอดภัยอย่างไร และถ้าแย่ไปกว่านี้รัฐบาลประเทศต่างๆ ขึ้นธงแดงประเทศไทย และออกคำเตือนห้ามมา หรือมาแล้วกลับไปกักตัว 14 วันก็ไม่มีใครมาแล้วปัจจัยคือ ประเทศไทยก็ต้องคุมให้ดีด้วย เพราะผลงานของประเทศไทย คือผลตามมาในเรื่องของการปลดล็อกอะไรต่างๆ
ขณะที่ภูเก็ตก็มีจุดท้าทายต่อไปที่ต้องควบคุมการระบาดใน 3 เดือนจากนี้ให้ได้ แต่ยังกังวลว่า เราวางมาตรการไว้เข้มข้น แต่กำลังคนและงบประมาณไม่เพียงพอ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ปล่อยไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นระบบการตรวจสอบที่สนามบิน หรือด่านท่าฉัตรไชย ควรต้องมีการจัดงบประมาณให้ถาวร มาพร้อมกำลังคน เพราะต้องคุมการเดินทางเข้า-ออกของผู้คนและคุมภูมิคุ้มกันหมู่ให้ได้
สำหรับสถานการณ์โรงแรมตอนนี้คึกคักในแง่ของกำลังใจ แต่ในแง่ธุรกิจยังไม่ได้ดีเพิ่มมากขึ้น การจองโดยรวมยังไม่เยอะ แต่ทำราคาได้ดีขึ้น แม้ไม่เท่าในอดีต เช่น โรงแรมแห่งหนึ่ง ระดับ 4 ดาว+ หน้าหาดป่าตอง ช่วงทำโปรโมชันคนไทยขาย 900-1,000 บาทต่อคืน ตอนนี้ขายได้ 3,000-4,000 บาท ต่อคืน จากปกติ 5,000-6,000 บาทต่อคืน
![](https://static.thairath.co.th/media/PZnhTOtr5D3rd9oc9egyOfkEsd4uT53Fht4JxKWnQJo7p9E.jpg)
“อย่างโรงแรมผม ตอนนี้มีการจองเข้ามา 15% ของจำนวนห้อง จากช่วงแย่สุดบางวันไม่มีแขกเลย บางที 1 วันมี 2 ห้อง และไม่มีเลยต่อเนื่อง 5 วัน และมามีอีก 2 ห้อง 1 วัน อย่าลืมว่าภูเก็ต มีโรงแรมที่มีและไม่มีใบอนุญาต 150,000 ห้อง ในอดีตมีนักท่องเที่ยวเดือนละ 1 ล้านคน หรืออย่างน้อยวันละ 30,000 คน แต่ที่ผ่านมาช่วงแย่มากๆ มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในภูเก็ตวันละ 250 คน ตอนนี้จึงเป็นกำลังใจให้เห็นว่าเริ่มมีทางเดินไปสู่จุดที่จะอยู่ได้ ในอนาคต อาจจะไม่ใช่ปีนี้ อาจจะปี 2565 แต่การได้เริ่มเดินแล้ว หากไม่ได้เริ่มซักทีจะจมลงไปเรื่อยๆ”
ส่วนโรงแรมขนาดเล็กไม่เกิน 20 ห้อง ส่วนใหญ่ยังปิดตัว แต่ละโรงแรมถ้าต้นทุนการเปิดกลับมาไม่สูงก็เปิด แต่หากต้องไปจ้างพนักงานกลับมา จ่ายเงินเดือนแล้วยังไม่รู้จะเป็นอย่างไร เขาก็รอดูผลจาก “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” แล้วค่อยไปเปิดเดือน ส.ค.หรือไม่ก็เดือน ต.ค.ไปเลย
กุหลาบ เจษฎาวัลย์
เจ้าของร้านระย้า (จังหวัดภูเก็ต)
ในฐานะคนภูเก็ต ต้องบอกว่าเราสนับสนุนโครงการอย่างเต็มที่ 100% พวกเราผู้ประกอบการให้ความร่วมมือในการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทุกคน พนักงานของร้านระย้า 53 คน ได้รับวัคซีนหมดแล้ว กำลังทยอยฉีดเข็ม 2 เพื่อให้ครบตามกำหนด
![](https://static.thairath.co.th/media/Dtbezn3nNUxytg04agGAhhx4WYqT6GuvlS1NVz2eKdqMqe.jpg)
แต่ถ้าถามว่ากังวลไหม ก็ต้องตอบว่ากังวลมาก เราไม่รู้ใครเป็นใคร และโรคระบาดในครั้งนี้ติดต่อง่ายมาก ก็ไม่ได้มั่นใจสักเท่าใดนัก แต่คิดว่าคนเราต้องมีความหวัง ป้าเป็นคนค้าขาย เป็นคนภูเก็ตโดยกำเนิด เมื่อทางการเขามองว่าจังหวัดเราพร้อมที่จะทดลองเปิดประเทศก่อน เราก็ต้องเดินหน้า และทำให้ดีที่สุด เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาภูเก็ตมั่นใจในความปลอดภัยของบ้านเรา อยากให้มีคนมาเที่ยวปีละ 14 ล้านคนเหมือนเดิม
“ความเห็นส่วนตัวป้า ขณะนี้ผู้ประกอบการทุกอาชีพเกือบทั้งหมด เหมือนอยู่บนเตียงไอซียู ทุกคนป่วยหนัก รัฐบาลน่าจะมีทีมงานมาช่วยแก้ปัญหาให้คนเหล่านี้ฟื้นตัวและลุกจากเตียงไอซียู ทุกคนไม่มีแรงที่จะต้อนรับนักท่องเที่ยว รถบัส รถตู้ รถยนต์ เรือ สำนักงาน ถูกยึดเกือบหมด พนักงานหนีกลับบ้านหมด ทั้งหมดต้องใช้เงินทั้งนั้น ถ้ารัฐบาลไม่รีบช่วย ทุกคนออกจากเตียงไม่ได้ ธุรกิจจะเกิดได้อย่างไร”
ป้าขอให้รัฐบาลช่วยทุกธุรกิจในภูเก็ตด้วย และการออกมาตรการควรมีความยั่งยืน มั่นคง ที่ผ่านมาวันนึงบอกอย่าง อีกวันบอกอย่าง มันสับสน อยากให้เห็นใจผู้ประกอบการ เราต้องต่อสู้ทุกอย่าง ทำทุกอย่างแล้ว ครั้งนี้ตั้งแต่เกิดมา ต้องยอมรับว่าเจ็บมาก หมดแรงที่จะหวัง แต่ก็ต้องหวัง
![](https://static.thairath.co.th/media/PZnhTOtr5D3rd9oc9egyOfkEsd4uT53FhfJ7jZLx18uXxNp.jpg)
ป้าอยู่มา 79 ปี เปิดร้านมาครบ 27 ปี ไม่เคยเจอสถานการณ์แบบนี้ ส่วนตัวก็ไม่ได้มั่นใจนัก ไม่แน่ใจว่ารัฐบาลจะช่วยเราได้จริงหรือ ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ทำให้ยอดขายกลับมาสัก 50% ก็ดีใจแล้ว แต่ทุกอย่างต้องมีจุดเริ่มต้น ต้องลอง
“ผ่านการเปิดภูเก็ตมาแล้ว 3-4 วัน ยอดขายก็ยังเงียบอยู่ ซึ่งเข้าใจว่าคงต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง อาจจะ 15-30 วัน เชื่อว่าน่าจะเห็นภาพชัดขึ้น สำหรับร้านระย้า ถือว่ากระทบน้อยกว่าผู้ค้าอื่น เรายังมีลูกค้าประจำ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนต่างจังหวัดและคนต่างชาติ เรามีลูกค้าสิงคโปร์เยอะ ก็เชื่อว่ามีโอกาสหากสิงคโปร์บินเข้ามาเที่ยว”
จิราภรณ์ สุราตะโก
ผู้ประกอบการร้านเสื้อผ้าและแม่ค้าออนไลน์ย่านเมืองภูเก็ต
สภาพเศรษฐกิจที่ประสบในช่วงโควิด-19 ระบาดทั้ง 3 ระลอก ยอมรับว่าสาหัสจริงๆ ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2562 เรื่อยมาถึงปัจจุบัน ระลอกแรกร้านต้องปิดขายชั่วคราว ลูกค้าเป็นศูนย์ แต่ค่าเช่าร้านยังคงต้องจ่าย เวลาผ่านไปราว 2 เดือน ร้านได้เปิดขายอีกครั้ง แต่ก็แทบไม่มีลูกค้า เพราะโรงแรมต่างๆยังคงปิด ทำให้พนักงานไม่มีเงินมาจับจ่ายใช้สอย
![](https://static.thairath.co.th/media/Dtbezn3nNUxytg04agGAhhx4WYqT6GuvrMBWFjgRgfRCKN.jpg)
โดยเฉพาะเสื้อผ้าแฟชั่นที่ในอดีตก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขายดีเป็นอย่างมาก จนเกิดการแพร่ระบาดระลอก 3 ร้านแทบไม่มีลูกค้าเดินเข้ามาซื้อของ หนี้สินทั้งในระบบและนอกระบบเริ่มเกิดขึ้นและไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามวันที่กำหนด
“วันนี้แม้จะเปิดการท่องเที่ยว จ.ภูเก็ตแล้วก็ตาม แต่คงอีกนานที่เศรษฐกิจการท่องเที่ยวจะกลับมา ไม่ต้องบอกว่าจะกลับมาเหมือนเดิมหรอก เอาเพียงแค่ 40-50% ขอให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนได้บ้างก็พอใจแล้ว”
แต่ดูจากสภาพที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาเมื่อวันที่ 1 ก.ค.ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวที่เข้าพักตามโรงแรมใหญ่ๆ คงไม่ได้ออกมาจับจ่ายใช้สอยตามตัวเมืองภูเก็ต เงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติเหล่านี้คงไม่ถึงมือพวกเราอย่างแน่นอน
![](https://static.thairath.co.th/media/PZnhTOtr5D3rd9oc9egyOfkEsd4uT53FhmTwPsQXyAz5kbr.jpg)
เมื่อหนี้สินเกิดขึ้นในช่วงการแพร่ระบาด การที่ผู้ประกอบการอย่างเรา ซึ่งเป็นร้านเล็กๆเข้าไปคุยกับฝ่ายสินเชื่อของธนาคาร หลักฐานต่างๆในการขอกู้นั้นไม่ผ่านแน่นอน เพราะเมื่อธนาคารขอดูหลักฐานทางการเงินย้อนหลัง 3-6 เดือน หรือ 1 ปี การเดินบัญชีคงไม่มีหรือไม่สวยแน่นอน การอนุมัติก็ไม่ผ่าน
“การกู้เงินนอกระบบจึงจำเป็นต้องเข้ามาแทนที่อย่างแน่นอน แม้ว่าดอกเบี้ยจะสูงก็ตาม แต่ด้วยปากท้องที่ต้องเลี้ยงครอบครัว จึงจำเป็นต้องกู้นอกระบบ”
ตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 หลายประเทศคิดกลยุทธ์ฟื้นการท่องเที่ยวออกมาหลากหลาย เช่น ทราเวล บับเบิล เป็นการแลกเปลี่ยนนักท่องเที่ยวระหว่างกันเฉพาะเมือง หรือเฉพาะประเทศที่ควบคุมการระบาดได้ แต่ต้องถูกเลื่อนออกไป
นอกจากนั้น ยังมีโมเดลการเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวอีกครั้งของเกาะบาหลี อินโดนีเซีย แต่ในที่สุดก็ต้องเลื่อนออกไป เพราะการระบาดของโควิด-19 ยังไม่ลดลง
ขณะที่ “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” แห่งประเทศไทย ได้เริ่มต้นขึ้นจริงๆ จึงเป็นโมเดลที่กำลังถูกจับตามองจากทั่วโลกว่าจะทำได้สำเร็จตลอดรอดฝั่งหรือไม่.
ที่มา : www.thairath.co.th