รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลป่วน รฟม.วิ่งหาที่สร้างอู่จอด-ศูนย์ซ่อม จุดเดิม 33 ไร่ติดสถานีลำสาลี มีคอนโดฯ ใหม่ทุนฮ่องกง สร้างทับแนวก่อสร้างโปรเจ็กต์รัฐ เผยนักการเมืองดังเจ้าของแลนด์ลอร์ดชิงขายที่รับทำเลชุมทางรถไฟฟ้า รัฐต้องรื้อแบบอาจเจรจา “เจ้าสัวเจริญ” ใช้แลนด์แบงก์ย่านเกษตร-นวมินทร์
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบจราจรทางบก (คจร.) เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 รับทราบความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลช่วงแคราย-ลำสาลี 22.1 กม. ตามที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษา ล่าสุดอยู่ระหว่างพิจารณารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยมีการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นผู้คัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน PPP
ไม่มีที่สร้างเดโป้
“ตอนนี้กำลังหาพื้นที่สร้างศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าและอาคารจอดแล้วจร หรือเดโป้ เดิมกำหนดที่ว่างเป็นสถานีลำสาลี 33 ไร่ ปรากฏว่าเจ้าของที่ดิน ซึ่งเป็นนักการเมืองในรัฐบาลปัจจุบันขายต่อให้บริษัทอสังหาฯทำคอนโดฯเดอะ ลิฟวิ่ง รามคำแหง ทำให้แผนสร้างเดโป้มีปัญหา แต่ไม่มีใครผิด เพราะยังไม่มี พ.ร.ฎ.เวนคืน”
ล่าสุด สนข.และ รฟม.ยังไม่ได้หารือจะสร้างเดโป้บนที่ใหม่หรือที่เดิม หากเลือกที่เดิม รัฐต้องจ่ายค่าเวนคืนเพิ่ม เฉพาะเดโป้ 1,990 ล้านบาท หากเลือกที่ใหม่ โดยเจรจาเจ้าของที่ดินตามแนวเส้นทางเกษตร-นวมินทร์ที่ว่างอยู่หลายแปลงก็สามารถทำได้ เช่น ที่ข้างโรงเรียนสตรีวิทยา ที่ดินของ นายเจริญ สิริวัฒนภักดี หรือไม่ก็ต้องปรับแนวใหม่สร้างต่อไปทางแยกนวมินทร์ แถวช็อกโกแลตวิลล์
“เดิมที่ปรึกษากำหนดให้สร้างเดโป้ 44.3 ไร่ ตรงจุดตัดทางด่วนรามอินทรา-อาจณรงค์ (มุ่งหน้าไปนวมินทร์อยู่ขวามือ) เวนคืน 4,000 ล้านบาท แต่เจ้าของโครงการ CDC มีแผนเตรียมที่ดิน 27 ไร่ให้ กทม.สร้างเดโป้สายสีเทาแล้ว จึงย้ายไปสถานีลำสาลีแทน”
ใช้เงินเวนคืน 7 พันล้าน
แหล่งข่าวกล่าวว่า สายสีน้ำตาลเป็นรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (monorail) เริ่มจากแยกแคราย ไปตามถนนงามวงศ์วาน ผ่านจุดตัดทางด่วน แยกพงษ์เพชร แยกบางเขน แยกเกษตร ไปตามถนนเกษตร-นวมินทร์ ผ่านจุดตัดถนนลาดปลาเค้า แยกเสนา จุดตัดถนนสุคนธสวัสดิ์ ทางด่วนรามอินทรา-อาจณรงค์ ถนนนวมินทร์ เลี้ยวขวาไปตามแนวถนนนวมินทร์ ผ่านแยกโพธิ์แก้ว แยกศรีบูรพา แยกแฮปปี้แลนด์ แยกบางกะปิ ข้ามคลองแสนแสบ สิ้นสุดที่จุดตัดถนนพ่วงศิริและถนนรามคำแหง ระยะทาง 22.10 กม. มี 20 สถานี
มีจุดเชื่อมรถไฟฟ้า 7 สาย ได้แก่ สีม่วง ชมพู แดง เขียว เทา ส้ม และเหลือง ซึ่งสถานีลำสาลีจะเป็นชุมทางรถไฟฟ้า 3 สาย ทั้งสีส้มมีนบุรี-ศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ สีเหลืองลาดพร้าว-สำโรง และสีน้ำตาลเกษตร แคราย
ทั้งโครงการต้องเวนคืน 7,228.72 ล้านบาท ค่าเวนคืนที่ดิน 79 ไร่ 6,115.29 ล้านบาท นอกนั้นเป็นอาคาร 268 หลัง วงเงิน 1,113.42 ล้านบาท เช่น 1.แนวเส้นทางรถไฟฟ้า 1,559.43 ล้านบาท มีที่ดิน 14 ไร่ วงเงิน 1,436.77 ล้านบาท อาคาร 54 หลัง วงเงิน 122.65 ล้านบาท 2.ศูนย์ซ่อมบำรุงและอาคารจอดแล้วจร 2,406.55 ล้านบาท เป็นที่ดิน 33 ไร่เศษ วงเงิน 1,990.82 ล้านบาท อาคาร 80 หลัง วงเงิน 415.72 ล้านบาท และ 3.ทางขึ้น-ลงสถานี 3,262.73 ล้านบาท มีที่ดิน 28 ไร่เศษ วงเงิน 2,687.69 ล้านบาท อาคาร 134 หลัง วงเงิน 575.04 ล้านบาท
เปิด PPP 4.8 หมื่นล้าน
แหล่งข่าวจาก รฟม.เปิดเผยว่า รับทราบถึงปัญหาพื้นที่เดโป้สายสีน้ำตาลแล้ว รฟม.คงต้องรีวิวขนาดและตำแหน่งจากที่เดิมก่อน แม้พื้นที่บางส่วนเอกชนจะใช้สร้างคอนโดฯไปแล้ว ต้องดูว่ายังมีพื้นที่เหลือพอสร้างเดโป้หรือไม่
ถ้าไม่ได้ต้องหาที่ใหม่ และยังมีปัญหาประชาชนร้องปรับจุดขึ้นลงแต่ละสถานีด้วย คงพิจารณาในคราวเดียวหลังผ่าน EIA แล้ว ส่วนแนวผ่านหน้า ม.เกษตรศาสตร์ ได้ข้อยุติแล้ว โดยใช้บริเวณรั้วมหาวิทยาลัยแทน
“สายสีน้ำตาลลงทุน 48,386 ล้านบาท มีค่าเวนคืน 7,257 ล้านบาท งานโยธา 20,564 ล้านบาท ระบบ 19,013 ล้านบาท ปีนี้ต้องจ้างที่ปรึกษาศึกษา PPP น่าจะเป็น net cost 30 ปี เหมือนสีชมพู เหลือง คาดขออนุมัติคณะรัฐมนตรีประมูลปี 2565”
ลำสาลีชุมทางรถไฟฟ้า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริเวณเดโป้และสถานีลำสาลี สายสีน้ำตาล ส่วนใหญ่เป็นตึกแถวเก่า ขนาบข้างคอนโดมิเนียม “เดอะลิฟวิ่ง รามคำแหง” ที่อยู่ติดถนน ด้านหน้าเป็นสำนักงานโครงการ ซึ่งเป็นที่ดินแปลงลึกยาวติดคลองแสนแสบ มีเนื้อที่ 8 ไร่ เป็นคอนโดฯสูง 42 ชั้น 1,938 ยูนิต เปิดขายปีที่แล้ว ราคายูนิตละ 1.59 ล้านบาท มูลค่าโครงการ 4,900 ล้านบาท พัฒนาโดย บจ.ริชแลนด์ (ประเทศไทย) ซึ่งกำลังล้อมรั้วก่อสร้าง
ถัดไปเป็นที่ว่างผืนใหญ่กำลังถมดิน ฝั่งตรงข้ามมีคอนโดฯ LPN รามคำแหง, แบงค็อก ฮอไรซอน รามคำแหง ส่วนแยกลำสาลีจุดสถานีสายสีเหลือง จะมีคอนโดฯหลายแบรนด์ เช่น ไอดีโอ, ไนท์บริดจ์ คอลลาจ ของออริจิ้นฯ
จับตาสายสีเขียว-สีส้ม
นอกจากสายสีน้ำตาลที่มีปัญหาแล้ว ขณะนี้ยังมีสายสีเขียวของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่เจรจากับ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) จบแล้ว รอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติขยายสัญญา 30 ปี ถึง 4 ธ.ค. 2602 ทั้งสายหลักและส่วนต่อขยาย
ค่าโดยสารจะเก็บค่าแรกเข้าครั้งเดียว เริ่มต้น 15 บาท สูงสุด 65 บาท โดย BTSC รับภาระเงินลงทุน หนี้ส่วนต่อขยาย ค่าเดินรถรวม 148,716 ล้านบาท แต่ติดที่กระทรวงคมนาคมให้ กทม.ชี้แจงข้อมูลเพิ่ม เช่น ค่าโดยสาร คดีจ้างเดินรถที่อยู่ใน ป.ป.ช. ขณะที่ BTSC ทำหนังสือทวงหนี้ค่าเดินรถกว่า 3 หมื่นล้าน ที่ค้างมานานกว่า 3 ปี โดยให้ กทม.ชำระหนี้ใน 60 วัน หรือวันที่ 1 เม.ย. 2564
ขณะที่ กทม.ออกประกาศเก็บค่าโดยสารใหม่ 15-104 บาทชั่วคราว ในระหว่างรออนุมัติสัมปทาน ขณะที่ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ยื่นศาลปกครองให้ กทม.ชะลอเก็บค่าโดยสารออกไปก่อน เพื่อลดภาระช่วงโควิด
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ล่าสุดได้เปิดใช้ฟรีสำหรับส่วนต่อขยายแบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-คูคต จนกว่าสัมปทานจะได้รับอนุมัติ ถึงจะเก็บ 15-65 บาท พร้อมเจรจาลดเพดานลงมาอีก ตามนโยบายพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ให้ทบทวนโครงสร้างราคา ซึ่งขึ้นอยู่กับเอกชนคู่สัญญา
“หนี้ที่ BTS ยื่นโนติสให้จ่าย 60 วัน เรายังไม่มีจึงยังไม่จ่าย เมื่อวันที่ 10 ก.พ.ขอสภา กทม.ดึงเงินสะสม 50,000 ล้านบาท มาจ่ายหนี้บางส่วน แต่สภาไม่อนุมัติ เพราะมีภารกิจด้านอื่น ๆ ที่ต้องใช้เงิน แต่ให้แนวทางให้สัมปทานเอกชนแทน ถ้าถึงเวลาแล้ว ครม.ไม่อนุมัติก็ต้องขอรัฐสนับสนุนเหมือนสายอื่น ๆ”
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า สายสีส้ม บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ถึงประมูลไปแล้วก็ยังมีปัญหา เพราะต้องเปิดประมูลใหม่ หลัง รฟม.เปิด PPP net cost วงเงิน 128,218 ล้านบาท ก่อสร้าง จัดหาระบบรถ รับสัมปทานเดินรถตลอดสาย 30 ปี มียื่นซอง 2 ราย ได้แก่ กลุ่ม BSR (บีทีเอส-ซิโน-ไทยฯ) และ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) แต่ รฟม.ยกเลิกประมูลหลังโครงการล่าช้ามาร่วม 3 เดือน หลังบีทีเอสยื่นฟ้องศาลกรณี รฟม.เปลี่ยนเกณฑ์พิจารณาผู้ชนะใหม่หลังปิดขายซองไปแล้ว จากเดิมพิจารณาคุณสมบัติ เทคนิค การเงินและข้อเสนออื่น ๆ เป็นเปิดซองเทคนิคพร้อมการเงินและพิจารณาคะแนนเทคนิคร่วมกับการเงินสัดส่วน 30 : 70
แหล่งข่าวจาก รฟม.กล่าวว่า แจ้งยกเลิกประมูลและให้ BTS และ BEM มารับซองคืนแล้ว ส่วนการประมูลใหม่จะประกาศ TOR ในเดือน เม.ย.เป็นเกณฑ์ใหม่ พิจารณาซองเทคนิคและการเงินร่วมกันสัดส่วน 30 : 70 แต่ครั้งนี้จะกำหนดการให้คะแนนเทคนิคและการเงินไว้ชัดเจนมากขึ้น จะเปิดยื่นซองเดือน มิ.ย. และได้ผู้ชนะเดือน ส.ค.-ก.ย.นี้
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า รฟม.รายงานยกเลิกประมูลสายสีส้มแล้ว เตรียมจะเปิดประมูลใหม่กลางปีนี้ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562 เพราะหากรอศาลจะส่งผลกระทบต่อการก่อสร้างและเปิดให้บริการในปี 2568-2569 โดยช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรีสร้างคืบกว่า 76% พร้อมเปิดปลายปี 2567 เมื่อได้เอกชนแล้ว รฟม.จะปรับลดเวลาก่อสร้างสั้นลง แบ่งทยอยติดระบบอาณัติสัญญาณ จัดหาขบวนรถให้เร็วขึ้น เพื่อเปิดช่วงตะวันออกตามเป้า ไม่อยากให้ซ้ำรอยสายสีแดง
“เกณฑ์ประมูลอยู่ที่คณะกรรมการมาตรา 36 ร่าง TOR งานก่อสร้างช่วงตะวันตกผ่านสถานที่สำคัญ อาทิ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ลอดแม่น้ำเจ้าพระยา ต้องระมัดระวัง แต่เชื่อว่าเปิดประมูลใหม่ ไม่กระทบความเชื่อมั่นนักลงทุน”
จากความเคลื่อนไหวของสายสีเขียวและสีส้ม รายงานข่าวแจ้งว่า หลังอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลวันที่ 16-20 ก.พ.นี้ น่าจะมีความชัดเจนขึ้น สายสีเขียวอาจจะมีการพิจารณาที่ประชุม ครม. และเก็บค่าโดยสารไม่เกิน 65 บาท หรืออาจจะลดราคาได้อีกช่วงส่วนต่อขยาย สายสีส้มให้เปิดประมูลตามเกณฑ์ใหม่ที่ รฟม.ต้องการ จะมี BTS และ BEM ที่ยื่นประมูลรอบใหม่
รื้อประมูลสถานีบางซื่อ
อีกโครงการน่าจับตาคือการพัฒนาเชิงพาณิชย์สถานีกลางบางซื่อ จะเปิดเชิงพาณิชย์พร้อมสายสีแดงตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต ในเดือน พ.ย.นี้ หลังการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ยกเลิก PPP แปลง A 32 ไร่ วงเงินกว่า 1 หมื่นล้านบาท ที่ไม่มีเอกชนสนใจซื้อประมูล
นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ให้ ร.ฟ.ท.เร่งหารายได้พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์รอบสถานีกลางบางซื่อ ร่วม 2,000 ไร่ แบ่งเป็น 9 แปลงย่อย ให้นำแปลงที่พร้อมเปิดประมูลให้เอกชนร่วม PPP ในปีนี้ รวมถึงพื้นที่สถานีกลางบางซื่อ ทาง บมจ.ท่ากาศยานไทย (ทอท.) ทำการศึกษาให้เน้นหารายได้เชิงพาณิชย์ ได้แก่ ค่าเช่าร้านค้า ร้านอาหาร โฆษณา บริการที่จอดรถ ในต้นเดือน มิ.ย.นี้จะเปิดประมูล PPP พัฒนาเชิงพาณิชย์ และได้เอกชนมาบริหารพื้นที่ในเดือน ก.ย.นี้
ที่มา : https://www.prachachat.net/