หลายประเทศไต่หน้าผาพ้นวิกฤติใน 2 ปี IMF ชี้ทางรอดเศรษฐกิจโลก

869

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ (IMF) จัดทำ รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook : WEO) ฉบับล่าสุดของเดือน ต.ค. ระบุว่า เศรษฐกิจโลกกำลังพยายามไต่หน้าผาขึ้นสู่ระดับที่ดิ่งลงสู่หุบเหวลึก จากช่วง “ปิดเมือง” เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา

แต่เนื่องจากยังคงมีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง จนหลายประเทศต้องกลับมาปิดเมือง หรือล็อกดาวน์พื้นที่บางส่วนอีกครั้งโดยเฉพาะในสหรัฐฯและยุโรป

สำหรับประเทศในภูมิภาคเอเชีย ไอเอ็มเอฟระบุว่า ประเทศจีนมีการฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่โดยภาพรวมเศรษฐกิจโลกจะกลับมาสู่ระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้เร็วที่สุดเมื่อใด ข้อมูลที่ทำการสำรวจไว้ กลับพบว่า ภาวะเศรษฐกิจโลกโดยรวม ยังมีแนวโน้มที่จะล้มเหลวได้ ด้วยปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวชี้วัดต่างๆ

แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจโลกและความเสี่ยง

แนวโน้มระยะใกล้ การเติบโตของเศรษฐกิจ ทั่วโลกในปีนี้ล่าสุด คาดว่าจะอยู่ที่-4.4% ซึ่งเป็นการหดตัวที่รุนแรงน้อยกว่าการคาดการณ์ WEO ในเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ที่-4.9% สะท้อนให้เห็นถึงตัวเลขของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในไตรมาสที่ 2 ดีกว่าคาดการณ์ไว้ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศเศรษฐกิจขั้นสูงที่กิจกรรมต่างๆ เริ่มดีขึ้นเร็วกว่าที่คาดไว้

ปีหน้าจึงคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะเติบโตที่ระดับ 5.2% จาก WEO ในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมาเล็กน้อยคือที่ ระดับ 5.4% ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงภาวะตกต่ำในระดับปานกลาง และแนวโน้มระยะกลาง หลังจากการฟื้นตัวในปี 2564 อย่างไรก็ตาม ไอเอ็มเอฟคาดว่า การเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลกจะค่อยๆชะลอตัวลงเหลือประมาณ 3.5% ในช่วงปี 2563-68 ที่ระบุไว้ก่อนการแพร่ระบาด

Advertisement

การคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจอยู่บนพื้นฐานจากการสมมติฐานที่ว่าด้วยมาตรการระยะห่างทางสังคมในปีหน้า จะยังคงมีอยู่ แต่จะค่อยๆหายไปเมื่อวัคซีนต้านไวรัสโควิดได้มีการส่งมอบมากขึ้น รวมทั้งการรักษาต่างๆดีขึ้นภายในสิ้นปี 2565

ขณะที่การคาดการณ์ในระยะกลางยังถือว่า เศรษฐกิจจะต้องเผชิญกับความเสียหายจากความดิ่งลึก ของภาวะถดถอย และความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ซึ่งส่งผลต่อเนื่องต่อผลผลิตที่อาจเกิดขึ้น ผลกระทบเหล่านี้ รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการปรับตัว และผลกระทบด้านการผลิตด้วย

ความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนในการคาดการณ์พื้นฐานมีมากจนผิดปกติ เพราะการคาดการณ์ขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านสุขภาพ และเศรษฐกิจที่ยากต่อการคาดเดา โดยชั้นแรกเกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดรอบใหม่ การตอบสนองด้านสาธารณสุขที่จำเป็น และการหยุดชะงักของกิจกรรมภายในประเทศที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งดีมานด์ที่ลดลง การท่องเที่ยวที่อ่อนแอลงอย่างหนัก และการส่งเงินกลับประเทศที่ลดลง รวมไปถึงความเชื่อมั่นของตลาดการเงิน และผลกระทบต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนทั่วโลก

ความคืบหน้าของวัคซีน และการรักษา ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงในสถานที่ทำงาน เพื่อลดการแพร่เชื้ออาจทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับสู่ระดับก่อนการระบาดได้เร็วขึ้นกว่าที่คาดไว้ในปัจจุบัน โดยไม่กระตุ้นให้เกิดการติดเชื้อซ้ำ และการขยายมาตรการตอบโต้ทางการคลังออกไปในปี 2564 ยังสามารถเพิ่มการเติบโตได้สูงกว่าการคาดการณ์ด้วย

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงของการเติบโตที่แย่กว่าที่คาดการณ์ไว้ ยังคงมีอยู่มาก หากไวรัสกลับมาอีกครั้งจากความคืบหน้าในการรักษา และวัคซีนที่ผลิตได้ช้ากว่าที่คาดไว้ หรือการเข้าถึงการรักษาหรือเข้าถึงวัคซีนของประเทศต่างๆ ยังไม่เท่าเทียมกัน กิจกรรมทางเศรษฐกิจอาจต่ำกว่าที่คาดไว้ ด้วยการขยายระยะทางทางสังคมใหม่ และการปิดกั้นที่เข้มงวดขึ้น

เมื่อพิจารณาถึงความรุนแรงของภาวะเศรษฐกิจถดถอย และการถอนการสนับสนุนฉุกเฉินที่เป็นไปได้นั้น ในบางประเทศอาจล้มละลาย ทำให้ต้องสูญเสียงาน และรายได้ ความเชื่อมั่นทางการเงินที่ลดลง หรืออาจทำให้เกิดการหยุดการปล่อยสินเชื่อใหม่อย่างกะทันหัน (ความล้มเหลวในการหมุนเวียนหนี้ที่มีอยู่) ไปยังประเทศที่มีความเสี่ยง

การเร่งความเร็วที่หลากหลายเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในเอเชีย

ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกำลังฟื้นตัวจากภาวะถดถอยครั้งเลวร้ายที่สุด จากการคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจภูมิภาคล่าสุด แสดงให้เห็นว่า การฟื้นตัวเริ่มต้นขึ้นในไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 แต่กลไกการขับเคลื่อนการเติบโตของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน จึงนำไปสู่การฟื้นตัวในแบบหลากหลาย และความช้า-เร็ว

ในบางประเทศสะท้อนให้เห็นถึงการถดถอยทางเศรษฐกิจที่เลวร้ายกว่าที่คาดไว้ในไตรมาสที่ 2 ขณะที่การคาดการณ์ของไอเอ็มเอฟสำหรับภูมิภาคนี้ในปีนี้ได้ปรับลดลงเหลือ -2.2% เพราะแม้เศรษฐกิจประเทศจีน จะเป็นประเทศเดียวที่มองเห็นเด่นชัดในการล้มแล้วลุกขึ้นได้อย่างรวดเร็ว กระทั่งจีดีพี เป็นบวกติดต่อกัน 3 ไตรมาส (Q1 -6.8%, Q2 +3.2%, Q3 + 4.9%) แต่เศรษฐกิจของประเทศอินเดียกลับหดตัวรุนแรงกว่าที่คาดไว้ในไตรมาสที่ 2 โดยติดลบไปถึง 24% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน และคาดว่าจะฟื้นตัวอย่างช้าๆในไตรมาสต่อไป

สำหรับประเทศจีน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดก่อน และเป็นจุดกำเนิดของการแพร่ระบาดครั้งนี้มีการฟื้นตัวที่แข็งแกร่ง หลังจากการปลดล็อกดาวน์ในไตรมาสแรก และได้ปรับตัวเลขเติบโตในปีนี้ไว้ที่ 1.9% ส่วนประเทศเศรษฐกิจขั้นสูง (ออสเตรเลีย, เกาหลี, ญี่ปุ่น และนิวซีแลนด์) ที่ยังคงอยู่ในภาวะถดถอย คาดว่า จะทำได้ค่อนข้างดีกว่าที่คาดไว้ในปีนี้ จากการปลดล็อกดาวน์ในช่วงก่อนหน้านี้

ขณะที่ในปีหน้า ไอเอ็มเอฟมองว่าเป็นข่าวดีสำหรับเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้จะมีขยายตัวเพิ่มขึ้น 6.9% เมื่อเทียบกับปีนี้ แต่ผลผลิตโดยรวมยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าที่คาดไว้ก่อนการแพร่ระบาด รอยแผลเป็นจะฝังลึกลงไปกับการว่าจ้างแรงงานที่ลดลง และความเชื่อมั่นที่อ่อนแอ ส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนลดลงตามไป ขณะที่ผลผลิตอาจจะต่ำกว่าก่อนการแพร่ระบาดราว 5%

บทเรียนและความท้าทาย

ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเข้าสู่ภาวะวิกฤติก่อน และเศรษฐกิจหลายประเทศเริ่มฟื้นตัวก่อนเช่นกัน โลกสามารถเรียนรู้บทเรียนอะไรจากประสบการณ์นี้

ประการแรก การตอบสนองด้านสาธารณสุขในระยะเริ่มต้น เมื่ออัตราการติดเชื้อยังอยู่ในระดับต่ำเป็นปัจจัยสำคัญ ประการที่สอง การผ่อนคลายมาตรการกักกันตัว หลังจากสามารถยับยั้งการแพร่ระบาดได้ ด้วยนโยบายการรับมือที่เหมาะสม เช่นการตรวจเชื้อและการติดตามผู้มีความเสี่ยงส่งผลให้เศรษฐกิจดีขึ้น สองปัจจัยของประเทศเอเชียแปซิฟิกนี้ ทำได้ดีกว่าเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ประการที่สาม การสนับสนุนทางการคลังยังมีส่วนสำคัญในการลดต้นทุนทางเศรษฐกิจ และสนับสนุนการฟื้นตัว ซึ่งถือว่าเป็นการกระตุ้นเชิงนโยบายที่สำคัญ

แนวโน้มการฟื้นตัวของการค้าทั่วโลกจะยังดูไม่สดใส เนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจโลกมีความอ่อนแอ การปิดพรมแดนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ความตึงเครียดจากสงครามการค้าเทคโนโลยี เป็นต้น แม้จะได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของประเทศจีนก็ตาม การค้าขายในตลาดโลกก็ยังไม่สดใส

การกระจายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเอเชีย นอกจากการพึ่งพาการส่งออกมากเกินไป เป็นสิ่งอยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานต่ออุปสงค์ภายในประเทศซึ่งจะต้องใช้เวลา และเป็นความท้าทายที่ยากเป็นพิเศษสำหรับประเทศเศรษฐกิจที่เล็กที่สุด (เช่นหมู่เกาะแปซิฟิก) และโดยทั่วไปแล้วพึ่งพาธุรกิจการท่องเที่ยว

ความไม่เท่าเทียมกันที่เพิ่มขึ้นนี้ ตรงกันข้ามกับการฟื้นตัวอย่างยั่งยืน ความไม่เท่าเทียมกันด้านรายได้ และความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นก่อนที่จะเกิดการระบาด มีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นอีก เว้นแต่จะมีการดำเนินนโยบายที่เด็ดขาด ดัชนีชี้วัดตลาดแรงงานของเอเชียเสื่อมลงมากกว่าในช่วงวิกฤติการเงินโลก โดยเฉพาะผู้หญิงและคนงานวัยหนุ่มสาว ยิ่งไปกว่านั้นนโยบายแจกเงินใหม่เพิ่มเติมในเอเชียยังมีข้อจำกัด และพวกนอกระบบมีขนาดใหญ่ทำให้ยากต่อการเข้าถึง

ขณะที่ภาระหนี้ที่สูงทำให้ภูมิภาคเอเชียมีความเสี่ยงต่อความปั่นป่วนทางการเงิน ในขณะที่การไหลออกของเงินทุนไม่เคยปรากฏมาก่อนในช่วงเริ่มต้นของการระบาดมีเสถียรภาพ ต้องขอบคุณการดำเนินนโยบายการเงินในประเทศเศรษฐกิจขั้นสูง การไหลออกของเงินทุนคงมีปริมาณมากเมื่อเทียบกับระดับก่อนการแพร่ระบาด ภาวะการเงินโลกที่เข้มงวดขึ้นอาจทำให้ความเสี่ยงด้านเครดิต และเสถียรภาพทางการเงินแย่ลงจะซ้ำเติมงบดุลของภาครัฐ และเอกชนให้อ่อนแอลงและอาจผลักดันให้ประเทศที่มีความเปราะบางเข้าสู่วิกฤติหนี้

การดูแลสุขภาพมาก่อนพร้อมการกระตุ้นเศรษฐกิจเต็มที่

งานแรกของรัฐบาลแต่ละประเทศคือการรักษานโยบายสุขภาพให้เข้มแข็งไว้จนกว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะทุเลาลง การตรวจเชื้อไวรัสอย่างทันท่วงที การติดตามที่มีประสิทธิภาพ การเพิ่มขีดความสามารถของโรงพยาบาล และการปรับปรุงระบบการดูแลสุขภาพ ยังคงเป็นสิ่งสำคัญ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศที่มีรายได้ต่ำในภูมิภาค ประเทศต่างๆ ควรวางแผนตั้งแต่ตอนนี้เพื่อรักษาความปลอดภัยและกระจายอุปกรณ์วัคซีนอย่างรวดเร็วทันทีเมื่อพร้อมใช้งานโดยได้รับการสนับสนุนแบบพหุภาคีตามความจำเป็น

นอกเหนือจากการตอบสนองด้านสุขภาพแล้ว ยังจำเป็นต้องใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเต็มที่เพื่อการเติบโตในอนาคต โดย ประการแรก ไม่ควรถอนการสนับสนุนทางการเงินก่อนกำหนด ก่อนที่การฟื้นตัวจะได้รับแรงฉุดกระชากขึ้นมา ประการที่สอง ประเทศต่างๆจำเป็นต้องเพิ่มความพยายามเป็น 2 เท่า ในการปกป้องประชาชนที่เปราะบางที่สุดจากผลพวงของวิกฤติ ผ่านการกำหนดเป้าหมายการสนับสนุนทางการเงินที่ดีขึ้น โดยเฉพาะกับเยาวชนและสตรีที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด

นี่เป็นสิ่งจำเป็น เพราะงบประมาณหายากหรือลดน้อยลงอย่างรวดเร็วในทุกที่และความไม่เท่าเทียมกันอย่างเฉียบพลัน ยังอาจนำไปสู่ความไม่สงบในสังคมได้หากผู้ที่อยู่ด้านล่างสูญเสียความหวังว่าเวลาที่ดีกว่า รออยู่ข้างหน้า

ประการที่สาม การเฝ้าระวังความเสี่ยงด้านสินเชื่อที่เกิดขึ้นใหม่ในองค์กร และครัวเรือนยังคงมีความสำคัญเนื่องจากอาจมีผลกระทบต่อสถาบันการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการเติบโตช้ากว่าที่คาดไว้ หนี้ที่อยู่ในระดับสูงเป็นช่องโหว่ที่สำคัญในภูมิภาค เนื่องจากสถานะทางการเงินที่อ่อนแอของธุรกิจจำนวนมากก่อนเกิดวิกฤติ และการแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะในเชิงรุกที่ไม่ยั่งยืนเป็นสิ่งสำคัญ

ประการที่สี่ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างนโยบายเศรษฐกิจควรมุ่งเน้นไปที่โลกของวันพรุ่งนี้ไม่ใช่เมื่อวานนี้ ซึ่งหมายถึงการอำนวยความสะดวกในการปรับโครงสร้างองค์กรและการจัดสรรทรัพยากรใหม่ รวมถึงภาคส่วนที่จะปูทางไปสู่การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในระดับกลาง

ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีจุดประสงค์ที่จะสร้างอนาคตที่ดีกว่าให้กับประชาชนของตน ด้วยนโยบายที่เหมาะสมและการสนับสนุนจากนานาชาติ เครื่องยนต์ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเอเชียสามารถทำงานร่วมกันได้อีกครั้งและขับเคลื่อนภูมิภาคไปสู่ข้างหน้า ไอเอ็มเอฟพร้อมที่จะสนับสนุนเศรษฐกิจทั่วเอเชียและแปซิฟิกด้วยการจัดหาเงินทุนคำแนะนำด้านนโยบายและการพัฒนาขีดความสามารถที่เหมาะกับความต้องการที่หลากหลายในภูมิภาค

สำหรับเศรษฐกิจประเทศไทย คาดการณ์ว่าจะหดตัวที่-7.1% ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมาที่-7.8% และในปีหน้าคาดการณ์การเติบโตจะกลับมาที่ 4.0% โดยมองว่าไทยมีอัตราการว่างงานที่ต่ำสุดในภูมิภาคที่ระดับ 1.0% ในปีนี้ และปีหน้า

การฟื้นตัวของประเทศไทยคาดว่าจะค่อยเป็นค่อยไป ตามความท้าทายที่ยังคงดำเนินต่อไป สำหรับภาคการท่องเที่ยวและเส้นทางที่ไม่แน่นอนของการแพร่ระบาด การสนับสนุนนโยบายการเงินการคลังและนโยบายทางการเงินที่หลากหลายของทางการเพื่อจัดการความเสี่ยงจากการระบาดของโรคระบาดและเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงิน

ทั้งหมดนี้ ไม่ใช่เรื่องที่รัฐบาลประเทศใดจะทำได้ หรือหาทางออกให้กับเศรษฐกิจของตนได้

ที่มา : www.thairath.co.th

Advertisement
Haus23
Haus23
Haus23