ครม. ไฟเขียวเวนคืนรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน-สีเขียว เพิ่ม 149 แปลง ขยายทางเท้ารับคนพิการ
ครม.ไฟเขียว พ.ร.ฎ.เวนคืน 8 ฉบับรถไฟฟ้าต่อขยายสีน้ำเงินบางซื่อ-ท่าพระ และ หัวลำโพง-บางแค จำนวน 98 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 114 หลัง และสายสีเขียวแบริ่ง-สมุทรปราการและหมอชิต-คูคต จำนวน 51 แปลง ขยายทางเท้าให้เป็น 1.5 เมตร รองรับผู้พิการ กรอบเวลาดำเนินการ 400 วัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 12 ต.ค.2563 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน และร่างพ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินรวม 8 ฉบับ แบ่งเป็น ร่างพ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนและร่างพ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดิน ในบริเวณที่ที่จะดำเนินการเพื่อกิจการขนส่งมวลชน โครงการรถไฟฟ้า สายสีน้ำเงินช่วงหัวลำโพง – บางแค และช่วงบางซื่อ – ท่าพระ รวม 4 ฉบับ และในบริเวณที่ที่จะดำเนินการเพื่อกิจการขนส่งมวลชน โครงการรถไฟฟ้า สายสีเขียวช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต รวม 4 ฉบับ
อำนวยความสะดวกผู้พิการ
สาระสำคัญของ พ.ร.ฎ.สายสีน้ำเงิน เพื่อปรับปรุงทางเท้าบริเวณบันไดขึ้น – ลง สถานีรถไฟฟ้า ลิฟต์ ตอม่อ และทางลาดของคนพิการบริเวณสถานีต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้พิการและผู้ใช้ทางเท้าอื่นในการสัญจรไปมา
ประกอบกับ พ.ร.ฎ.เวนคืนเดิมที่จะก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงินทั้ง 2 ช่วง มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 6 ส.ค. 2558 มีกำหนดระยะเวลา 4 ปี ได้สิ้นผลใช้บังคับแล้ว จึงต้องมีการออกพ.ร.ฎ.เวนคืนอีกครั้ง โดยพื้นที่ที่จะเวนคืน ประกอบด้วย
1. ช่วงหัวลำโพง – บางแค ในท้องที่เขตปทุมวัน เขตบางรัก เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตสัมพันธวงศ์ เขตพระนคร เขตธนบุรี เขตบางกอกใหญ่ เขตภาษีเจริญ เขตจอมทอง และเขตบางแค กรุงเทพมหานคร (กทม.)
2. ช่วงบางซื่อ – ท่าพระ ในท้องที่เขตบางซื่อ เขตบางพลัด เขตบางกอกน้อย เขตบางกอกใหญ่ และเขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร (กทม.)
ซึ่งจากการสำรวจ พบว่ามีอสังหาริมทรัพย์ที่จะถูกเวนคืนเพิ่มเติม ประกอบด้วยที่ดิน ประมาณ 98 แปลง และสิ่งปลูกสร้างประมาณ 114 หลัง/รายการ โดยในการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ใช้ระยะเวลาประมาณ 400 วัน นับตั้งแต่วันที่แจ้งเข้าสำรวจอสังหาริมทรัพย์
ส่วน พ.ร.ฎ.อีก 4 ฉบับ เป็นกำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน และกำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะดำเนินการเพื่อกิจการขนส่งมวลชน โครงการรถไฟฟ้า สายสีเขียว ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต รวม 4 ฉบับ
สาระสำคัญเช่นเดียวกับสายสีน้ำเงินคือ เพื่อปรับปรุงทางเท้าบริเวณบันไดขึ้น – ลง สถานีรถไฟฟ้า ลิฟต์ ตอม่อ และทางลาดของคนพิการบริเวณสถานีต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้พิการและผู้ใช้ทางเท้าอื่นในการสัญจรไปมา
ประกอบกับพ.ร.ฎ.ในการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินฉบับเดิม สิ้นสุดการบังคับใช้ไปเมื่อปี 2561 จึงต้องมีการออกพ.ร.ฎ.ฉบับใหม่ โดยพื้นที่เวนคืนประกอบด้วย
1. ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ ในท้องที่เขตบางนา กรุงเทพมหานคร และอำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ มีอสังหาริมทรัพย์ที่จะถูกเวนคืน ประกอบด้วยที่ดิน ประมาณ 17 แปลง และสิ่งปลูกสร้างประมาณ 17 รายการ
2. ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต ในท้องที่เขตจตุจักร เขตบางเขน เขตหลักสี่ เขตสายไหม เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร และอำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี มีอสังหาริมทรัพย์ที่จะถูกเวนคืน ประกอบด้วยที่ดินประมาณ 34 แปลง และสิ่งปลูกสร้างประมาณ 8 หลัง 19 รายการ โดยจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ใช้ระยะเวลาประมาณ 400 วัน นับตั้งแต่วันที่แจ้งเข้าสำรวจอสังหาริมทรัพย์
สาเหตุที่ต้องทำ เพราะการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้รับการร้องเรียนว่า ใช้พื้นที่ทางเท้าก่อสร้างบันไดขึ้น – ลง ทางเท้า และทางลาดของคนพิการจนเกือบเต็มพื้นที่ เป็นการรอนสิทธิของผู้ใช้ทางเท้า บางจุดทางเท้าเหลือพื้นที่เพียง 50 – 80 ซม. ซึ่งตามกฎหมายแล้วทางเท้าจะต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่า 1.5 เมตร จึงเห็นควรให้มีการปรับปรุงให้เหมาะสม
โดยสำนักงบประมาณแจ้งว่า จะจัดสรรงบประมาณให้ รฟม. ตามความจำเป็นและเหมาะสมตามแผนการใช้จ่ายเงินเมื่อร่างพระราชกฤษฎีกาใช้บังคับแล้ว
ที่มา : www.prachachat.net