สิ้นสุดการรอคอย รถไฟฟ้าโมโนเรล 2 สายแรกของประเทศไทยสายสีชมพูแคราย-มีนบุรี และสายสีเหลืองลาดพร้าว-สำโรง ถึงประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังใช้เวลาร่วมเดือนขนข้ามทะเลมาจากโรงงานผลิตที่ประเทศจีน
เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2560 “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี คุมเศรษฐกิจรัฐบาล คสช. เป็นประธานในพิธีเซ็นสัญญาสัมปทานแสนล้านของรถไฟฟ้า 2 สาย 2 สี ระหว่างกลุ่มบีเอสอาร์ (บีทีเอส-ซิโนไทย-ราชกรุ๊ป) กับ “รฟม.-การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย”
ในวันที่ 1 ต.ค. 2563 “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี เดินทางไปท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อเป็นประธานตัดริบบิ้นรับมอบรถขบวนแรกของทั้ง 2 สายด้วยตัวเอง พร้อมขอบคุณเอกชนที่ร่วมลงทุนกับรัฐบาล จนผลักดันโครงการสำเร็จ
ตามแผนของ “รฟม.-กลุ่มบีทีเอส” ทั้ง 2 สาย จะทดสอบเดือน เม.ย. 2564 จากนั้นเดือน ก.ค.ทดลองวิ่งเสมือนจริงให้ประชาชนร่วมใช้บริการบางช่วงเวลา ถัดมาเดือน ต.ค.เปิดบริการเชิงพาณิชย์เก็บค่าโดยสาร 16-42 บาท และเปิดตลอดสายเดือน ก.ค.-ต.ค. 2565 โดยขบวนรถจะทยอยส่งมอบจนครบทั้ง 288 ตู้ 72 ขบวน ในต้นปี 2565 แยกเป็นสายสีเหลือง 30 ขบวน และสายสีชมพู 42 ขบวน
สำหรับสายสีชมพูและสีเหลือง ออกแบบเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว หรือโมโนเรล แบบคร่อมราง วิ่งยกระดับเหนือแนวเกาะกลางถนน และเป็นระบบขนส่งมวลชนระบบรอง ป้อนผู้โดยสารเข้ารถไฟฟ้าสายหลัก
โดย “สายสีชมพู” วิ่งแนวตะวันตก-ตะวันออกของกรุงเทพฯ จากถนนติวานนท์ แจ้งวัฒนะ รามอินทรา สิ้นสุดมีนบุรี มี 30 สถานี เชื่อมต่อสายสีม่วงที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี สีแดงที่สถานีหลักสี่ สีเขียวที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ และสีส้มที่สถานีมีนบุรี
ขณะที่ “สายสีเหลือง” วิ่งแนวเหนือ-ใต้ ทางฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ จากถนนลาดพร้าว เข้าศรีนครินทร์และเทพารักษ์ มี 23 สถานี เชื่อมต่อสายสีน้ำเงินที่สถานีรัชดา สีส้มที่สถานีแยกลำสาลี แอร์พอร์ตลิงก์ที่สถานีพัฒนาการ และสีเขียวที่สถานีสำโรง
สำหรับขบวนรถไฟฟ้ากลุ่มบีทีเอส เลือกบริษัท บอมบาร์ดิเอร์ ทรานสปอร์เทชั่น ซิกแนล (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ดำเนินการทั้งระบบอาณัติสัญญาณ ขบวนรถ ระบบขายตั๋วและจัดเก็บค่าโดยสาร มูลค่ารวม 4-5 หมื่นล้านบาท
ใช้รถรุ่น “Bombardier Innovia Monorail 300” ผลิตจากโรงงานประเทศจีน ซึ่ง “บอมบาร์ดิเอร์” ได้ร่วมทุน “CRRC” ผู้ผลิตรถไฟฟ้าฉางชุนและฉงชิ่งจากประเทศจีน เป็นรูปแบบ 4 ตู้ ตัวรถกว้าง 3.162 เมตร เท่ากับรถไฟฟ้าบีทีเอส มีน้ำหนักตัวรถ 14,500-15,000 กก./ตู้ วิ่งความเร็ว 35 กม./ชม. สูงสุด 80 กม./ชม. ใช้แรงดันไฟฟ้าแบบกระแสตรง 750 โวลต์ ควบคุมด้วยระบบอาณัติสัญญาณ CITYFLO 650 แบบอัตโนมัติ ไร้คนขับ
ภายในห้องโดยสารขบวนรถมีอุปกรณ์ความปลอดภัยอย่างครบครัน อาทิ CCTV เครื่องตรวจจับควัน ปุ่มติดต่อสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ควบคุมรถ ถังดับเพลิง และที่เปิดประตูฉุกเฉิน รองรับผู้โดยสารได้ 568 คน/ตู้ ในระยะแรกจะให้บริการด้วยรถไฟฟ้า 4 ตู้/ขบวน รองรับผู้โดยสารได้ 17,000 คน/ชม./ทิศทาง และในระยะถัดไปเพิ่มได้สูงสุด 7 ตู้/ขบวน รองรับผู้โดยสาร 28,000 คน/ชม./ทิศทาง
นับเป็นรถไฟฟ้าไร้คนขับสายที่ 2 และ 3 ต่อจาก “สายสีทอง” สถานีกรุงธนบุรี-คลองสาน จะเปิดหวูดบริการกลางเดือน ธ.ค. 2563 นี้
ที่มา : www.prachachat.net