เมื่อโควิด-19 กลายเป็นวิกฤติของประเทศทั่วโลก แต่อีกมุมอาจเป็นโอกาสของการลงทุนธุรกิจพลังงานหมุนเวียน หลังจากช่วงระบาด กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะงักส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม ขณะนี้เป็นโอกาสสร้างการจ้างงานในกิจการสีเขียวเพิ่มขึ้น ทดแทนการเลิกจ้างในช่วงการระบาด
เมื่อการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในบางประเทศเริ่มลดความรุนแรงลง เราจะเห็นว่ามีการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown เพื่อให้ภาคประชาชนกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกครั้ง
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกอย่างที่ไม่เคยปรากฏในหน้าประวัติศาสตร์มาก่อน แต่เมื่อพิจารณาแง่มุมด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การชะลอตัวของเศรษฐกิจส่งผลให้การปล่อยคาร์บอนลดลงถึงร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับปี 2562 คิดเป็นสัดส่วนการลดลงที่มากที่สุดนับตั้งแต่การสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่สอง
แนวทางที่ภาครัฐใช้จ่ายงบประมาณในการกระตุ้นเศรษฐกิจจะเป็นเครื่องบ่งชี้ที่สำคัญในการจัดการปัญหาโลกร้อน ทั้งนี้การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ได้ส่งสัญญาณเตือนให้เราหันมาให้ความสำคัญกับประเด็นการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ
ซึ่งในระยะสั้นรัฐบาลของแต่ละประเทศต้องเร่งพัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและส่งเสริมการจ้างงานเพื่อให้เศรษฐกิจกลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็วในขณะเดียวกันจำเป็นจะต้องหาแนวทางระยะยาวในการสร้างความยั่งยืนผ่านการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม
ในช่วงเวลาแห่งความท้าทายนี้ ทั้งภาครัฐและเอกชนจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกันในการกำหนดนโยบายและกรอบการดำเนินงานที่สอดคล้องไปกับความต้องการของประชาชน อีกทั้งยังต้องสร้างการจ้างงานในกิจการสีเขียวเพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนกับการเลิกจ้างในช่วงการระบาด เช่น การลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนหรือการลงทุนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Green Investment)
นับเป็นเรื่องดีที่สังคมโลกเริ่มตระหนักถึงผลกระทบจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยในช่วงสิบปีมานี้เราจะเห็นว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้นลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวสอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ อีกทั้งยังเป็นเรื่องง่ายสำหรับภาครัฐในการกำหนดนโยบายระยะยาวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในภาวะเศรษฐกิจขาขึ้น ทั้งนี้งบประมาณที่อัดฉีดเข้าไปเพื่อพัฒนาและลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทั่วทั้งโลกนั้นเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 15 หลังจากวิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์เป็นต้นมา
ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ลงทุนในเครื่องมือวัดอัจฉริยะ (Smart Meters) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สามารถใช้วัดพลังงานที่เราใช้ไป ทำให้สามารถควบคุมและบริหารจัดการการผลิตไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพและยังได้ผลิตบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่จะทำหน้าที่คิดค้นนวัตกรรมแบตเตอรี่สำหรับพลังงานหมุนเวียนและการดักจับการปล่อยคาร์บอน
ขณะที่ประเทศจีนและประเทศอื่น ๆ ได้ลงทุนในเทคโนโลยีพลังงานสะอาดอย่างต่อเนื่อง อาทิ พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในด้านการจัดการพลังงานถึงร้อยละ 70 และ 90 ตามลำดับในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งช่วยให้เกิดกระบวนการใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาธุรกิจ (Digitalization) และเพิ่มมูลค่าของกิจการ และเมื่อมีการใช้พลังงานน้อยลง การปล่อยคาร์บอนก็จะลดน้อยลงเช่นกัน
ภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ “ข้อตกลงยุโรปสีเขียว” European Green Deal เพื่อรับมือสภาวะโลกร้อนของสหภาพยุโรป มีจุดมุ่งหมายในการขับเคลื่อนให้สมาชิกของสหภาพยุโรปก้าวสู่สังคมไร้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ภายในปี ค.ศ.2050 โดยข้อตกลงนี้ได้ผ่านการหารือร่วมกันทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของสหภาพยุโรปโดยมีเม็ดเงินการลงทุนสูงถึง 1.1 ล้านล้านดอลลาร์ (ประมาณ 33 ล้านล้านบาท) ในกรอบเวลาหนึ่งทศวรรษจากนี้ เพื่อยกระดับโครงสร้างภาคการผลิตและเทคโนโลยีสะอาด อีกทั้งยังช่วยสนับสนุนการจ้างงานจำนวนมหาศาล
อีกทั้งยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 4.5 พันล้านตัน นอกจากนี้ทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ (IRENA) คำนวณออกมาว่าการลงทุนในพลังงานสะอาดทุกๆ 1 ดอลลาร์จะให้ผลตอบแทนถึง 8 ดอลลาร์
โลกของเรากำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญอีกครั้ง การลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและพัฒนาแรงงานเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังการระบาดของ COVID-19 ถือเป็นเรื่องที่สำคัญและเร่งด่วน ซึ่งการลงทุนในพลังงานสีเขียวนับว่าเป็นหนึ่งในแนวทางที่น่าสนใจในการฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจและจะเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนชีวิตผู้คนอีกครั้ง แม้ว่าจะเป็นการลงทุนที่ค่อนข้างสูงและต้องใช้เวลาสักระยะกว่าจะเห็นผลอย่างแท้จริง แต่ผลตอบแทนในระยะยาวจะคุ้มค่ากับมูลค่าการลงทุนอย่างแน่นอนครับ
ที่มา : www.bangkokbiznews.com