3 บิ๊กทุนชิง “อู่ตะเภา” … “หมอเสริฐ” ผนึก “บีทีเอส” ชน “ซีพี” … “ไทยแอร์เอเชีย” จับมือ 4 พันธมิตรสู้

1437
อู่ตะเภา

3 บิ๊กกลุ่มคอนซอเตียม ยื่นประมูลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่าการลงทุน  2.9 แสนล้านบาท ‘ซีพี’ ผนึก “อิตาเลียนไทย-ช. การช่าง-บี.กริม และฟราพอร์ท เยอรมัน” ขณะที่ “กลุ่มบีทีเอส” จับมือ “การบินกรุงเทพ, ซิโน-ไทย” ด้าน “แกรนด์ แอสเสท” ดึง “ไทยแอร์เอเชีย, คริสเตียนี รวมถึงแอร์พอร์ตอินเดีย” ร่วมวง

      ในการยื่นซองประกวดโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ในวันนี้ (21 มี.ค. 2562) พบว่า มี 3 กลุ่มคอนซอเตียม ได้เข้ามายื่นซองประกวดราคา ได้แก่

กลุ่มที่ 1 กลุ่มกิจการค้าร่วม บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด  (บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด) และพันธมิตร ได้แก่ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน), บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนท์ จำกัด (มหาชน), บริษัท บี.กริม จอยน์ เว็นเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด และ Fraport AG Frankfurt Airport Services Worldwide จากเยอรมนี

กลุ่มที่ 2 กลุ่มกิจการร่วมค้า BBS ประกอบไปด้วย บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS), บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) และ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น

กลุ่มที่ 3 กลุ่มแกรนด์ คอนซอเตรียม ประกอบไปด้วย บมจ.แกรนด์ แอสเสท โอเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ (GRAND) อยู่ในกลุ่ม บมจ.พร็อพเพอร์ซี่ เพอร์เฟค (PF) สัดส่วน 80%, บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด (บ.ย่อยของ บมจ.เอเชียเอวิเอชั่น (AAV)) ถือ 10% และบมจ.คริสเตียนีและนีลเส็น (ไทย) (CNT) ถือ 10% โดยมี GMR Airport Limited จากอินเดีย มาบริหารสนามบิน และ China Harbour Engineering Company Limited

โครงการนี้มีเอกชนเข้ามาซื้อซองประกวดราคา 42 บริษัท เป็นต่างชาติ 18 บริษัท และไทย 24 บริษัท โดยโครงการนี้เป็นการลงทุนแบบ PPP กำหนดระยะเวลาให้เอกชนดำเนินการและใช้ประโยชน์พื้นที่โครงการ 50 ปี มูลค่าการลงทุนรวมราว 2.9 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ โครงการนี้เป็นการลงทุนของภาครัฐในส่วนของงานโยธา รันเวย์ที่ 2 และหอบังคับการบินหลังที่ 2 อยู่ที่ราว 2 หมื่นล้านบาท ขณะที่ เอกชนลงทุนส่วนสำคัญ คือ อาคารผู้โดยสารแห่งที่ 3 ศูนย์การขนส่งภาคพื้นดิน (Ground Transportation Centre : GTC)

เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการจราจรสำหรับการให้บริการขนส่งสาธารณะไปสู่สนามบิน ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์ (Cargo Complex) พื้นที่เขตประกอบการค้าเสรีและเขตธุรกิจเกี่ยวเนื่องในสนามบินอู่ตะเภา (Cargo Village or Free Trade Zone : FTZ) ศูนย์ธุรกิจการค้า (Commercial Gateway) เป็นต้น มูลค่าการลงทุนราว 2.7 แสนล้านบาท กำหนดระยะเวลาให้เอกชนดำเนินการและใช้ประโยชน์พื้นที่โครงการ 50 ปี

อย่างไรก็ตาม หลังการยื่นประกวดราคาในวันที่ 21 มี.ค. นี้ ก็จะใช้เวลาอีกราว 1 สัปดาห์ ในการตรวจสอบคุณสมบัติ และคาดว่า โครงการนี้จะได้ผู้ชนะประมูลประมาณสิ้นเดือน เม.ย. นี้ หรือ ต้นเดือน พ.ค. นี้ สำหรับการยื่นเอกสารประกวดราคา ทางคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก จะมีเกณฑ์การประเมินเอกสารซองที่ 1 จะเป็นคุณสมบัติทั่วไป ที่จะเปิดต่อหน้าเอกชน จากนั้นจะนำเสนอคณะกรรมการคัดเลือก ใครผ่านจะถูกเรียกมาเพื่อเปิดซองที่ 2 ซึ่งเป็นข้อเสนอด้านเทคนิคและแผนธุรกิจ

การประเมินข้อเสนอด้านเทคนิคจะมี 4  ข้อ ได้แก่ ข้อเสนอการทบทวนแบบแผนแม่บทสนามบิน, ข้อเสนอแนวคิดการออกแบบอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3, ข้อเสนอแผนการดำเนินโครงการ และข้อเสนอแผนการดำเนินงานและบำรุงรักษา ส่วนการประเมินแผนธุรกิจจะมี 4 ข้อ คือ ความสามารถในการจัดหาเงินทุนเพื่อใช้ในการดำเนินโครงการ, กลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจเชิงพาณิชย์, ข้อเสนอเกี่ยวกับประสบการณ์และศักยภาพของผู้ยื่นข้อเสนอ, ความสามารถของบุุคคลากรที่จะบริหารงานในโครงการและแผนการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี

ขณะที่ ซองที่ 3 เป็นข้อเสนอราคาที่จะพิจารณาว่า ใครให้ผลตอบแทนให้รัฐได้ดีที่สุด (คาดหวังว่า เอกชนจะเสนอค่าตอบแทนให้ภาครัฐ 5.9 หมื่นล้านบาท) และเอกชนจะต้องไม่มีการเสนอเงื่อนไข หรือ ข้อความใด ๆ ที่มีลักษณะตีความในทางกฎหมายพ่วงมาด้วย ไม่เช่นนั้นจะไม่ได้รับการพิจารณา แม้จะเสนอค่าตอบแทนสูงสุดมาก็ตาม

จากนั้นจะเรียกมาเจรจา ถ้าเจรจาสำเร็จก็จะเปิดซอง 4 ที่เป็นข้อเสนออื่น ๆ ต่อไป ที่ก็เป็นดุลยพินิจของคณะกรรมการว่าจะเปิดหรือไม่เปิดก็ได้ แต่ถ้าเจรจาไม่สำเร็จ จะมีการเรียกคนเสนออันดับ 2 มาเจรจา หรือไม่เรียกก็ได้ และถ้าไม่เรียกก็ขึ้นอยู่กับว่า คณะกรรมการคัดเลือกจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
 

Advertisement

สำหรับบรรยากาศในการยื่นซองประกวดโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ในวันนี้ (21 มี.ค. 2562) ที่เริ่มตั้งแต่เวลา 09.00 -15.00 น. ณ ห้องรับรองชั้น 2 กองบัญชาการกองทัพเรือ วังนันทอุทยาน เริ่มคึกคักในช่วงเที่ยงเป็นต้นไป เมื่อ นายนพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนในองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และนายนายอติรุฒม์ โต ทวีแสนสุข รองประธานสำนักพัฒนาโครงการพิเศษ เป็นผู้รับมอบอำนาจมายื่นซองในนาม กลุ่มบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด 

กลุ่มแกรนด์ คอนซอเตียม โดยมี นายชายนิด อรรถญาณสกุล กรรมการบริษัท แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยตัวแทนจาก บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด เดินทางมายื่นซอง และ กลุ่มกิจการร่วมค้า BBS

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลา 18.30 น. ทางกองทัพเรือและคณะกรรมการอีอีซี ได้ชี้แจงว่า มี 3 กลุ่มใหญ่ ยื่นซื้อซองประกวดราคา โดยมีกลุ่มบริษัทเข้ายื่นข้อเสนอจำนวน 3 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส (BBS Joint Venture), กลุ่ม Grand Consortium และกลุ่มกิจการค้าร่วม บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร โดยแต่ละกลุ่มมีสมาชิก ได้แก่


1.กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส (BBS Joint Venture) ประกอบด้วย บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)



2.กลุ่ม Grand Consortium ประกอบด้วย บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน), บริษัท คริสเตียนีและนีลเส็น (ไทย) จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด


3.กลุ่มกิจการค้าร่วม บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ประกอบด้วย บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด, บริษัท Orient Success International Limited, บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ช.การช่าง จํากัด (มหาชน) และบริษัท บี.กริม จอยน์ เว็นเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด



การรับซองข้อเสนอโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก วงเงินทั้งโครงการกว่า 200,000 ล้านบาท มีขึ้นที่ห้องรับรอง ชั้น 2 กองบัญชาการกองทัพเรือ (วังนันทอุทยาน) ตั้งแต่เวลา 09.00–15.00 น. โดยมีเอกชนที่รวมตัวกันในชื่อ “กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส (BBS Joint Venture)” เข้ามายื่นซองเป็นอันดับแรก ตามด้วย “กลุ่ม Grand Consortium” และ “กลุ่มกิจการค้าร่วม บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร” เข้ามายื่นซองเป็นกลุ่มสุดท้าย ข้อเสนอที่เอกชนแต่ละกลุ่มนำมายื่นนั้น

มีทั้งหมด 4 ซอง ประกอบไปด้วย ซองที่ 1 คุณสมบัติทั่วไป, ซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิค, ซองที่ 3 ข้อเสนอด้านราคา และซองที่ 4 ข้อเสนออื่น ๆ และคาดว่า ผลการประเมินข้อเสนอทุกซองของเอกชนจะเสร็จสิ้นภายในเดือน เม.ย. นี้

โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นสนามบินนานาชาติ และรองรับการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมการบินของประเทศ และเพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่ภายในพื้นที่ EEC ให้เป็นเมืองการบินภาคตะวันออก (Eastern Airport City) ของประเทศไทย รวมทั้งพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) ในระดับภูมิภาค

วันที่ 4 ต.ค. 2561 คณะกรรมการนโยบายมีมติเห็นชอบในหลักการโครงการฯ และการประชุมคณะรัฐมนตรี ในการประชุมเมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2561 มีมติอนุมัติในหลักการและอนุมัติวงเงินตามที่คณะกรรมการนโยบายเสนอ ทั้งนี้ กองทัพเรือในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการ จึงได้ดำเนินการเปิดขายเอกสารการคัดเลือกเอกชน โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เมื่อวันที่ 16–29 พ.ย. 2561 ที่ผ่านมา

ซึ่งมีเอกชนจากประเทศไทยและต่างประเทศให้ความสนใจเข้าซื้อเอกสารการคัดเลือกเอกชนของโครงการฯ จำนวนทั้งสิ้น 42 ราย หลังจากนั้น กองทัพเรือได้จัดให้มีการประชุมชี้แจงเอกสารการคัดเลือกเอกชน 2 ครั้ง เพื่อชี้แจงและตอบข้อซักถามจากเอกชน และได้กำหนดให้มีการรับซองข้อเสนอในวันที่ 21 มี.ค. 2562 ผลสรุป คือ มีกลุ่มบริษัทเข้ายื่นข้อเสนอ จำนวน 3 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส (BBS Joint Venture), กลุ่ม Grand Consortium และกลุ่มกิจการค้าร่วม บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร

ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ / Thansettakji.com

Advertisement
Haus23
Haus23
Haus23